เอเอฟพี - วิกฤตการเงินยุโรปกระตุ้นให้รัฐบาลจีนต้องกระจายเส้นทางการลงทุน โดยที่มีรายงานระบุว่า กองทุนที่ได้รับการหนุนหลังจากปักกิ่งซุ่มลงทุนในตลาดหุ้นโตเกียวรวมแล้วหลายหมื่นล้านดอลลาร์ แม้ทั้งสองประเทศมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกันมาแต่อดีต
จีนและญี่ปุ่น สองมหาอำนาจแห่งเอเชีย ระแวงระวังกันมาแรมปี และมีเรื่องบาดหมางทางการทูตบ่อยครั้งจากประเด็นการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นปัญหา และข้อพิพาทแต่เก่าก่อนที่ส่วนใหญ่มาจากช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สงคราม
แต่ในภาวะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจปรับตัวในทางดีขึ้น ประกอบกับวิกฤตหนี้ยุโรป ทำให้ปักกิ่งเข้าซื้อหุ้นในบริษัทแดนปลาดิบมากขึ้น เนื่องจากตระหนักว่า เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยสำหรับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของตนที่มีปริมาณมากที่สุดในโลก
ผลสำรวจที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่นระบุว่า กองทุน OD05 ออมนิบัสที่เชื่อว่ามีสายสัมพันธ์กับปักกิ่ง คือผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทญี่ปุ่น 174 แห่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 45,000 ล้านดอลลาร์
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า กองทุนดังกล่าวถือครองหุ้นมากขึ้นเป็นกว่า 3 เท่าตัวนับจากปี 2008 ที่เลห์แมน บราเธอร์ส ยักษ์ใหญ่แห่งวอลล์สตรีทล้ม สร้างผลกระทบรุนแรงไปทั่วระบบการเงินโลก
แม้เจ้าของออมนิบัสที่รายงานระบุว่ามีฐานอยู่ในออสเตรเลีย ไม่เคยยอมรับอย่างเปิดเผย แต่บรรดาดีลเลอร์มองว่า กองทุนแห่งนี้ได้รับการหนุนหลังจากกองทุนบริหารความมั่งคั่งของรัฐของจีนคือ ไชน่า อินเวสต์เมนท์ คอร์เปอเรชัน (ซีไอซี) และได้รับมอบหมายให้ช่วยบริหารทุนสำรองเงินตราต่างประเทศบางส่วนของปักกิ่งจากทั้งหมดที่มีกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์
สึโยชิ ยูเอโนะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอ็นแอลไอ รีเสิร์ช อินสติติวท์ในโตเกียว มองว่าการที่ยุโรปเผชิญวิกฤตการเงินเช่นในปัจจุบัน ทำให้ปักกิ่งต้องกระจายเป้าหมายการลงทุน
ขณะเดียวกัน แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นทรุดตัวมาหลายปี แต่ในสายตานักลงทุน ญี่ปุ่นถือเป็นท่าเรือหลบพายุ ขณะที่ยุโรปยังต้องฝ่าฟันกับวิกฤตหนี้และอเมริกามีปัญหาการฟื้นตัว
ทั้งนี้ พอร์ตของออมนิบัสครอบคลุมหุ้น 1.9% ในโตโยต้า, 2.2% ในฮอนดา, 1.9% ในนิคอน และ 2.5% ในโคมัตสึ ผู้ผลิตเครื่องจักรกลในการก่อสร้าง
รายงานของนิกเกอิเผยแพร่ออกมาขณะที่โตเกียวและปักกิ่งกำลังกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หรือสองปีหลังจากที่จีนชิงตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกจากญี่ปุ่น
นอกจากนั้น ข้อมูลล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่นยังระบุว่า จีนเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นรายใหญ่ แซงหน้าสหรัฐฯ และอังกฤษ
อนึ่ง เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีน ประเทศคู่ค้าใหญ่สุดของญี่ปุ่น อนุญาตให้โตเกียวซื้อพันธบัตรรัฐบาลจีน ซึ่งนักเคลื่อนไหวชี้ว่า เป็นครั้งแรกที่ชาติมหาอำนาจเข้าซื้อหนี้โดยตรงจากปักกิ่ง
สองมหาอำนาจแห่งเอเชียยังเริ่มการแลกเปลี่ยนเงินหยวนและเยนโดยตรงไม่ต้องอาศัยดอลลาร์เป็นตัวกลางอีกต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวกธุรกิจข้ามพรมแดน ซึ่งรวมถึงการซื้อกิจการที่ในอดีตมักดำเนินการด้วยเงินดอลลาร์
ข้อตกลงนี้ซึ่งทำให้เยนเป็นสกุลเงินหลักสกุลเดียวนอกเหนือจากดอลลาร์ที่สามารถแลกเปลี่ยนกับหยวนได้โดยตรง เกิดขึ้นขณะที่ปักกิ่งพยายามผลักดันเงินหยวนเป็นสกุลเงินโลกแข่งกับดอลลาร์
ผู้จัดการกองทุนจีนคนหนึ่งกล่าวว่า ออมนิบัสซุ่มลงทุนในธุรกิจมากมายของญี่ปุ่น แต่จำกัดจำนวนการถือหุ้นเอาไว้ให้ต่ำกว่าระดับการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ยาสึโยชิ มาสึดะ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตโย มองว่าไม่มีอะไรผิดปกติ รวมทั้งไม่ได้เป็นข่าวร้ายสำหรับบริษัทญี่ปุ่น
ในทางกลับกัน เขาเสริมว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นควรอ้าแขนรับการลงทุนจากต่างชาติ และไม่จำเป็นต้องกังวลตราบเท่าที่บริษัทการลงทุนของรัฐบาลจีนไม่ได้เข้าลงทุนในบริษัทที่มีส่วนเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีการทหารหรือเทคโนโลยีลับ หรือถือหุ้นในบริษัทญี่ปุ่นเกินกว่า 50%