xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันขานรับ นโยบาย “3 ไม่” ของหม่า อิงจิ่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ฉลองชัยหลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันสมัยสอง (ภาพรอยเตอร์)
รอยเตอร์ - หม่า อิงจิ่วผู้ถือกำเนิดบนเกาะฮ่องกง บิดามารดาเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ และขณะนี้ได้นั่งตำแหน่งผู้นำของเกาะไต้หวันในสมัยที่ 2 อีก 4 ปีนั้น เขากำลังดำเนินตามสูตรสานสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดมากขึ้น ขณะที่การเมืองนั้นยังคงสงวนสถานะเดิม

จีนคณะชาติพรรคก๊กมินตั๋ง ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 ม.ค.) ด้วยสัดส่วน 51.6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือดีพีพีของนางสาวไช่ อิงเหวินได้สัดส่วน 45.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพรรคพีเพิลเฟิสร์ต ได้ไป 2.8 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ชัยชนะของหม่าไม่ถือว่าขาดลอย (น้อยกว่าการเลือกตั้งก่อนหน้าปี 2551 ที่นำพรรคฝ่ายค้านถึง 17 จุด) เนื่องจากการบริหารงานของเขามีไม่สามารถแก้ปัญหาช่องว่างทางรายได้และค่าครองชีพที่แพงขึ้น ขณะที่หม่าเองเน้นการทำธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยผู้รับซื้อสินค้ารายใหญ่สุดของไต้หวันก็คือจีน

หม่า อิงจิ่วนักการเมืองวัย 61 ปี สาบานจะดำเนินนโยบาย “3 ไม่” อันได้แก่ ไม่ประกาศเอกราช ไม่รวมชาติกับจีน และไม่ใช้กำลังแก้ปัญหาระหว่างช่องแคบ

หลังจากชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2551 นโยบายของหม่าสามารถลดทอนความตึงเครียดระหว่างกรุงไทเปและปักกิ่งลงได้ ซึ่งก่อนหน้านั้น 8 ปี ในระหว่างการบริหารของเฉิน สุยเปี่ยนแห่งพรรคดีพีพี สัมพันธ์จีน-ไต้หวันย่ำแย่หนัก

หม่า ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากวิทยาลัยกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สามารถบรรลุหลักหมายสำคัญของนโยบายญาติดีกับจีนของเขาในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยแรก หลังจากลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ECFA) และการค้ากับจีน ซึ่งจะช่วยตัดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าได้มากถึง 800 ชนิด นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมการท่องเที่ยว ธุรกิจ กับแผ่นดินใหญ่ได้สำเร็จ

หม่าเน้นนโยบายความมั่นคงโดยการสงวนสถานะเดิมกับจีน และกระชับสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน แต่หม่าก็ต้องต่อสู้กับอุปสรรคสารพัด ไช่ อิงเหวินเคยโจมตีข้อตกลงทางเศรษฐกิขของหม่าว่า เศรษฐกิจภายในประเทศยังแก้ไม่ได้ ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ค่าแรงงานไม่เพิ่มขึ้น และปัญหาอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคาราคาซัง

ในสมัยที่ 2 หม่าพยายามแสดงให้เห็น “10 ปีทอง” ที่กำลังมาถึง เป็นปีแห่งสันติภาพ ความรุ่งเรืองสำหรับทุกคนในไต้หวัน เป้าหมายนี้จะสำเร็จได้เพราะนโยบายคงความสัมพันธ์ดีกับจีนของเขาเท่านั้น

บิดามารดาของหม่า นำเขามายังไต้หวันจากฮ่องกงเมื่อเขาอายุได้ขวบเดียว แต่หม่าก็พยายามแก้ต่างเมื่อฝั่งตรงข้ามนำประเด็นถิ่นกำเนิดมาโจมตีหม่า อิงจิ่วในการรณรงค์หาเสียงรอบแรก ฝ่ายค้านโจมตีว่า หม่าจะภักดีต่อบ้านเกิดหรือไต้หวันกันแน่

“ผมเติบโตและกินข้าวของชาวนาไต้หวัน ดื่มน้ำบนผืนดินไต้หวัน ผมจะใช้เวลาที่เหลือของชีวิตในไต้หวัน หลังจากหมดวาระการบริหารงานสมัย 2” หม่า กล่าวในการรณรงค์หาเสียงก่อนหน้านี้

“ขณะเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ผมได้พยายามสร้างโอกาสที่ดีขึ้นให้แก่ชาวไต้หวันและพยายามทำให้ไต้หวันได้รับการยอมรับในเวทีนานาประเทศ และนี่คือไต้หวันในฝันของผม” หม่าย้ำ

หม่าพยายามตีโต้คำกล่าวของฝ่ายค้านว่า นโยบายผ่อนคลายความตึงเครียดกับจีนของเขานั้นไม่ได้ช่วยให้จีนมีโอกาสในการครองไต้หวันได้ง่ายขึ้น ไต้หวันปกครองตนเองมานับแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองปี 2492 พรรคก๊กมินตั๋งถอยร่นมาตั้งรัฐบาลเองที่เกาะไต้หวัน

หม่า จบปริญญาโทด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และจบปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด หม่าเชี่ยวชาญประเด็นกฎหมายทางทะเลและกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

หม่าเริ่มงานทางการเมืองโดยเป็นล่ามแปลภาษาอังกฤษให้กับอดีตประธานาธิบดีเจี่ยง จิงกั๋ว บุตรชายของผู้นำคนสำคัญของก๊กมินตั๋ง “เจียง ไคเช็ก” นอกจากนั้นหม่ายังดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิก รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและนายกเทศมนตรีกรุงไทเป ก่อนจะมานั่งเก้าอี้ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งเมื่อปี 2548

หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงไทเป เขาต้องคดีติดสินบนแต่ก็สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์รอดมาได้

หม่าสมรสกับอดีตนักกฎหมายธนาคาร ทั้งสองมีบุตรสาวสองคน ในยามว่างหม่าชอบวิ่งจ็อกกิง ว่ายน้ำ และปั่นจักรยาน

ข้อวิจารณ์ของหม่าหนักสุดดูเหมือนจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับครอบครัว เมื่อภรรยาของหม่าบอกกับสถานีโทรทัศน์ในช่วงการหาเสียงประธานาธิบดีปี 2551 ว่า “ความแย่ของสามีไม่ว่าอะไรก็ตาม หม่ามีครบ”

นอกจากนั้น หลายคนยังได้เห็นภาพภรรยาของหม่าทางโทรทัศน์ตะคอกหม่าให้รับน้ำดื่มหลังจากกล่าวสุนทรพจน์เสร็จขณะนั่งเก้าอี้

หม่า รับน้ำจากภรรยามาดื่ม ต่อมาหม่าก็เผยว่า คงไม่เหมาะถ้าจะให้เขาทะเลาะกับภรรยา.
กำลังโหลดความคิดเห็น