เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์/รอยเตอร์ - หลังจากสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายลงโทษค่าเงินหยวนของจีน บรรดานักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ก็ออกมาชี้ว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวฯ เป็นแรงดันทางการเมืองล้วน ๆ และจะไม่ช่วยลดปัญหาว่างงานในสหรัฐฯ หรือช่วยให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจใด ๆ ขึ้นมาได้เลย
สภาซีเนตอเมริกัน ลงมติวันอังคาร (11 ต.ค.) ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวฯ ด้วยคะแนน 63-35 โดยวุฒิสมาชิกทั้งฝ่ายเดโมแครตและฝ่ายรีพับลิกันที่ร่วมกันเสนอและลงคะแนนให้ บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่วอชิงตันจะจัดการกับปักกิ่งที่คุมค่าเงินหยวนของตัวเองให้อ่อนค่าเกินความเป็นจริง เพื่อเอื้อให้สินค้าจีนมีราคาถูกลงไหลทะลักเข้ามาในอเมริกา และทำให้คนมะกันตกงานระเนระนาด
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฯ นี้ก็ดูเหมือนว่ายังไม่เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ เนื่องเพราะว่ายังขาดการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของผู้นำพรรครีพับริกันแห่งสภาผู้แทนราษฎรฯ
จอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสังกัดรีพับลิกัน ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้งวานนี้ (12 ต.ค.) โดยระบุว่า “ผมคิดว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ฯ จะส่งผลทำให้ตลาดทั้งโลกผันแปร ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจโลก หากคองเกรสของสหรัฐฯ เห็นชอบกับกฎหมายนี้และลงมติให้มีผลบังคับใช้จริง ก็เท่ากับว่าได้สร้างความเสี่ยงในการจุดชนวนสงครามการค้า ซึ่งเรามิอาจคาดการณ์ถึงผลลัพธ์เสียหายที่จะตามมาได้เลย”
ประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐฯ ยังได้ยุติการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ด้วย พร้อมกับแสดงความกังวลว่า มันอาจจะละเมิดกฎฯ ขององค์การการค้าโลกได้
ฝ่ายนักวิเคราะห์ ปรากาซ สักปาล นักเศรษฐศาสตร์ประจำไอเอ็นจี เอเชียกรุ๊ป ก็เผยว่า กฎหมายลงโทษจีนฉบับนี้เป็นแรงดันทางการเมืองล้วน ๆ ซึ่งมีเป้าหมายพุ่งไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้าในสหรัฐฯด้วย
สักปาล เผยว่า “ผลกระทบจากสงครามการค้าจะเกิดขึ้นทันทีหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านอนุมัติให้มีผลบังคับใช้” พร้อมกับย้ำว่าอย่างไรเสียร่างกฎหมายนี้ก็ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยยันไว้ได้แก่ คณะกรรมาธิการจัดหารายได้เข้ารัฐ (Ways and Means Committee) และประธานสภาผู้แทนราษฎรสังกัดรีพับลิกันจอห์น โบห์เนอร์ เอง
ศาสตราจารย์เทา เวินเจ้า นักวิจัยอาวุโสของสำนักสังคมศาสตร์จีนด้านอเมริกันศึกษา ชี้ว่า ความซบเซาของเศรษฐกิจมะกันและการว่างงานที่สูงนั้นหมายความว่า มันเป็นทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐศาสตร์ปนกันอยู่ และนั่นก็เป็นเรื่องของสหรัฐฯ มิใช่ของ “จีน” สหรัฐฯมิควรจะปัดสวะมาให้จีนเช่นนี้
นักวิเคราะห์ด้านจีนศึกษาบางคนก็บอกว่า การที่สหรัฐฯทำเช่นนี้ เหมือนว่า สหรัฐฯป่วยเอง แต่มาบังคับให้จีนกินยา
เทา อ้างเหตุผล 3 ประการ ที่สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายฯ คือ สหรัฐฯ ต้องการหาแพะรับบาปมาเป็นต้นเหตุของปัญหาว่างงาน ปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน และการที่ผู้ผลิตในมะกันแห่กันเข้ามาลงทุนยังดินแดนมังกร
เทาชี้ว่า มะกันพยายามลงโทษค่าเงินจีนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว โดยวุฒิสมาชิกเดโมแครต ชุก สกูเมอร์ ก็ได้สนับสนุนร่างกฎหมายลักษณะคล้ายกัน ภายใต้รัฐบาลทั้งบูช และโอบามา
เซิ่น เจียนกวง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนประจำบริษัทหลักทรัพย์ Mizuho Securities เผยว่า กฎหมายนี้ก็เหมือนกับก่อนหน้านี้ ที่ประกาศไปเมื่อปี 2550 และเมื่อปีที่แล้วด้วย แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ผ่านอนุมัติในท้ายที่สุด และก็ไม่ส่งผลกระทบกับนโยบายการเงินของจีนเลย
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (12 ต.ค.) จีนก็แสดงท่าทีโกรธเกรี้ยวต่อการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมกับชี้ว่า มะกันทำผิดกฎองค์การการค้าโลก และก่อชนวนสงครามการค้า
โฆษกต่างประเทศจีน นายหม่า เจาซู่ เผยว่า “ครั้งนี้ถือว่าสหรัฐฯทำผิดกฎองค์การการค้าโลกอย่างร้ายแรง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะไม่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือการว่างงานให้กับสหรัฐฯเลย ซ้ำร้ายยังกร่อนกระชากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯด้วย”
โฆษกพาณิชย์จีน นายเสิ่น ต้าหยัง เผยว่า สัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ จะถูกทำลายเพราะกฎหมายฉบับนี้อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
นอกจากนั้น ธนาคารประชาชนจีนก็ออกมาเผยด้วยว่า สหรัฐฯอ้างว่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าเกินจำเป็นนั้น เป็นสิ่งที่ผิดถนัด เพราะขณะนี้จีนกำลังเร่งปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศโดยกำลังเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับค่าเงินหยวน นับแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้วเป็นต้นมา เงินหยวนก็แข็งค่าขึ้นต่อดอลลาร์สหรัฐฯถึง 7 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเกิดวิกฤติทางการเงินในปี 2551
แต่ฝ่ายสนับสนุนร่างกฎหมายในสภามะกันฯ บอกว่า จีนยังพยายามไม่เพียงพอ