xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯต้องออกกฎหมาย‘ค่าเงินหยวน’

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ โมริซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pass the China Currency Bill
By Peter Morici
11/10/2011

การขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลของสหรัฐฯ กำลังทำลายตำแหน่งงานในสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กระนั้น จนกระทั่งถึงเวลานี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และประธานสภาผู้แทนราษฎร จอห์น โบห์เนอร์ ก็ยังคงแสดงท่าทีคัดค้านมาตรการประการหนึ่งซึ่งสามารถที่จะปรับเปลี่ยนสถานการณ์เช่นนี้ได้ มาตรการดังกล่าวก็คือ “ร่างกฎหมายค่าเงินหยวน”

ร่างกฎหมายค่าเงินหยวน (China Currency Bill) [1] คือร่างกฎหมายเพื่อการสร้างงานฉบับสำคัญที่สุดเท่าที่รัฐสภาสหรัฐฯจักสามารถผ่านออกมาได้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากวุฒิสมาชิกทั้งของพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตรวมแล้วเกือบ 80 คนทีเดียว จากทั้งสภา 100 คน แต่กระนั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และประธานสภาผู้แทนราษฎร จอห์น โบห์เนอร์ (John Boehner) กลับแสดงท่าทีคัดค้าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งคู่ต่างก็ไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงของปัญหาที่กำลังรุมเร้าโจมตีเศรษฐกิจอเมริกันอย่างไม่ยอมหยุดยอมหย่อน

การขาดดุลการค้าในปริมาณร่วมๆ 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังทำลายตำแหน่งงานของชาวอเมริกัน มากกว่าที่วิกฤตสินเชื่อที่อยู่อาศัย, การมีกฎระเบียบควบคุมภาคธุรกิจมากเกินไป, ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพอันสูงลิ่ว เหล่านี้รวมกันเสียอีก

ชาวอเมริกันนั้นไม่ได้หลงลืมวิธีการในการผลิตสินค้าหรือในการแข่งขันหรอก ไม่เหมือนอย่างที่ประธานาธิบดีโอบามาพยายามทำให้เราเชื่อเลย ชาวอเมริกันไม่ได้เป็นคนโง่เง่าขาดการศึกษา หรือเป็นคนไม่รู้แจ้งเห็นจริงเกี่ยวกับวิธีการในการแข่งขันกับคนอื่นๆ ในระดับโลก หากแต่เป็นพราะความบกพร่องล้มเหลวไม่ลงมือทำอะไรในประเด็นปัญหาซึ่งท่านประธานาธิบดีเองก็ระบุออกมาอย่างชัดเจนว่า คือ “ลัทธิพาณิชย์นิยมของฝ่ายจีน” (Chinese mercantilism) ตลอดจนไม่ลงมือทำอะไรในประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งอุดมการณ์ของท่านประธานาธิบดีบดบังไม่ให้ลงมือกระทำ เป็นต้นว่า การพัฒนาแหล่งพัฒนาอันอุดมสมบูรณ์ของสหรัฐฯ เช่นนี้แหละที่กำลังทำให้ชาวอเมริกันถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับโอกาสที่จะเข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรม

เรื่องมันง่ายๆ เลย เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังได้รับความเสียหาย เนื่องจากสิ่งที่ชาวอเมริกันทำออกมานั้น มีอุปสงค์ (demand) อยู่น้อยเกินไป ชาวอเมริกันกำลังอยู่ในภาวะจับจ่ายใช้สอยกันอีกครั้งหนึ่งแล้ว ทว่านับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2009 ยอดขาดดุลการค้ากลับเพิ่มขึ้นไป 55% โยในไตรมาสสองของปีนี้ ยอดขาดดุลการค้าสูงถึงเกือบๆ 600,000 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) การขาดดุลเหล่านี้แทบทั้งหมดเลย คงต้องขอขอบคุณการนำเข้าสินค้าเข้าซึ่งได้รับการอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรมจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นลิ่วๆ , การที่มีกำแพงขวางกั้นกีดกันไม่ให้สินค้าออกของสหรัฐฯเข้าสู่แดนมังกร, ตลอดจนการที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

เงินทุกๆ ดอลลาร์ที่จ่ายออกไปยังต่างประเทศ เพื่อซื้อหาสินค้าจีนหรือซื้อหาน้ำมัน แล้วไม่ได้หวนกลับคืนมาซื้อหาสินค้าออกของสหรัฐฯนั้น คืออำนาจซื้อที่สูญเสียไป ซึ่งอำนาจซื้อเหล่านี้สามารถที่จะมาเป็นตัวสร้างตำแหน่งงานให้แก่ชาวอเมริกันได้ หากลดยอดขาดดุลการค้าร่วมๆ 600,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ลงมาให้ได้สักครึ่งเดียว ก็จะสร้างงานขึ้นมาได้อย่างน้อยที่สุด 5 ล้านตำแหน่งแล้ว

เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์จีนมีราคาไม่แพงแบบเทียมๆ ในเวลาวางขายอยู่ตามห้างร้านในสหรัฐฯ ปักกิ่งกำลังทำให้เงินหยวนมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงประมาณ 40% วิธีทำก็ง่ายๆ เลย จีนกำลังพิมพ์เงินหยวนออกมา และเที่ยวซื้อหาเงินดอลลาร์ในตลาดเงินตราราวๆ 450,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เพื่อประคับประคองให้ค่าเงินตราและสินค้าออกของตนมีราคาถูก ในการดำเนินการดังกล่าว จีนยังใช้ดอลลาร์เหล่านั้นบางส่วนไปอุดหนุนการนำเข้าน้ำมัน และขับดันให้ราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น

ยิ่งกว่านั้น จีนยังดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกในรูปแบบต่างๆ กว่า 200 มาตรการเพื่อช่วยเหลือพวกอุตสาหกรรมภายในแดนมังกร และสกัดกั้นขัดขวางการนำเข้าผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง เป็นต้นว่า รถยนต์, ผลิตภัณฑ์พลังงานทางเลือก, ตลอดจนผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามที่แดนมังกรเลือกที่จะส่งเสริมของจีนเอง การปั่นค่าเงิน, การอุดหนุน, และการแอบตั้งกำแพงกีดกันไม่ให้ขายผลิตภัณฑ์ต่างประเทศตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการละเมิดทั้งเจตนารมณ์และลายลักษณ์อักษรในคำมั่นสัญญาของจีนในตอนที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ว่าจะส่งเสริมให้การค้าดำเนินไปอย่างเสรียิ่งขึ้น และเปิดทางให้สินค้าต่างประเทศสามารถเข้าไปยังตลาดแดนมังกรได้

ทั้งหมดที่ประธานาธิบดีโอบามาเคยกระทำมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือการร้องเรียนพร่ำบ่น ขณะที่ประธานโบห์เนอร์เลือกที่จะทำน้อยกว่านั้นอีก มิหนำซ้ำทั้งคู่ซึ่งต่างยังคงหยั่งรากฝังแน่นอยู่กับอดีต แต่ละคนจึงยังคงเกาะอยู่กับใบสั่งทางอุดมการณ์ ซึ่งแทบไม่ได้ช่วยแก้ไขคลี่คลายปัญหาเหล่านี้เลย

ประธานาธิบดีโอบามานั้นยังคงยึดมั่นศรัทธาอยู่กับ “ทุนนิยมแบบสหกรณ์อาหาร” (Food Co-Op Capitalism) นั่นคือ ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้มากขึ้น, หาทางแบ่งสรรกระจายรายได้กันเสียใหม่, ออกนโยบายควบคุมอุตสาหกรรม, และทำข้อตกลงการค้าเสรีที่ไม่ได้ช่วยลดการขาดดุลการค้าแถมยังทำลายตำแหน่งงาน ขณะเดียวกันประธานโบห์เนอร์ก็เกาะแน่นอยู่กับ “ทุนนิยมยุคกางเกงลุงเชย” (Knickers Era Capitalism) ซึ่งมุ่งหน้าแต่จะให้ตัดลดการเก็บภาษี, ตัดลดการใช้จ่ายงบประมาณ, และตัดลดการออกระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างชนิดไม่มีการจำแนกแยกแยะ ทั้งคู่ต่างก็ทำให้อเมริกาประสบความผิดพลาดล้มเหลวมาแล้ว คนแรกนั้นคือตั้งแต่ปี 2008 เมื่อตอนที่พรรคเดโมแครตยังคุมสภาล่างอยู่ และได้ทำให้ทั้งระบบราชการและการขาดดุลอยู่ในอาการบวมป่อง ขณะที่คนหลังคือในระหว่างช่วง 6 ปีแรกของยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช

ร่างกฎหมายค่าเงินหยวน จะเปิดทางให้บรรดากิจการและคนงานของสหรัฐฯที่ได้รับความเสียหายจากค่าเงินตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% ของจีน ได้รับการบรรเทาความเดือดร้อน ด้วยการที่สหรัฐฯจะจัดเก็บอากรชดเชยจากสินค้าจีน จนกว่าจีนจะยุติการเข้าไปแทรกแซงในตลาดเงินตรา การกระทำเช่นนี้ในที่สุดแล้วน่าจะทำให้จีนยินยอมประนีประนอมในประเด็นปัญหานี้ แต่ถ้าหากไม่ยอม มันก็ยังจะทำให้มีตำแหน่งงานบางส่วนหวนกลับมายังสหรัฐฯ มีรายงานว่าวุฒิสภากำหนดที่จะลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้ในวันอังคารที่ 11 นี้แล้ว [2]

พวกบริษัทอเมริกันอย่าง จีอี (GE) และ แคเตอร์พิลลา (Caterpillar) ซึ่งต่างก็ได้นำเอาตำแหน่งงานตลอดจนกิจการจำนวนมากภายในบริษัทของพวกเขาที่เคยว่าจ้างคนอเมริกันทำ ออกไปให้ทำกันในประเทศจีนแทน และเวลานี้ได้กลายเป็นลูกค้าของลัทธิกีดกันการค้า (protectionism) ของปักกิ่งไปเสียแล้ว ได้พยายามพูดจาจนกระทั่งทำให้ประธานาธิบดีโอบามาเชื่อว่า ร่างกฎหมายค่าเงินหยวนคือลัทธิกีดกันการค้า และจะจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้า

แท้ที่จริงแล้ว จีนนั่นแหละคือนักลัทธิกีดกันการค้า และอเมริกาก็อยู่ในสงครามการค้าอยู่แล้ว –โดยที่จีนกำลังระดมขว้างก้อนหินเข้าใส่ ขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาก็กำลังพ่นกระหน่ำสู้รบด้วยคำพูด จีนกำลังทำตัวเป็นอันธพาลระรานอเมริกา แต่ประธานาธิบดีโอบามาปฏิเสธไม่ยอมที่จะลุกขึ้นต่อสู้กับการระรานดังกล่าว ส่วนประธานโบห์เนอร์ก็เห็นว่าการถูกข่มเหงเช่นนั้นยังไม่เป็นไร

ตัวผมนั้นเติบโตขึ้นมาในถิ่นพำนักของผู้ใช้แรงงานที่อุดมด้วยความบึกบึนแข็งกร้าว แถมผมยังเป็นเด็กตัวเล็กที่สุดในโรงเรียน ผมได้เรียนรู้ว่าการทำตัวแหยๆ เมื่อถูกข่มเหงรังแกนั้นไม่ได้ผลอะไรหรอก บางครั้งสิ่งที่คุณควรทำก็มีเพียงแค่คว้าเอาไม้ดุ้นใหญ่ๆ ขึ้นมาแล้วก็ตีโต้กลับไป หลังจากฟาดหนักๆ ไปสักสองสามที แม้กระทั่งพวกอันธพาลใหญ่ก็ยังหวนกลับมามีเหตุมีผลมากขึ้น

โลกของเราเป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวายยุ่งเหยิง และเต็มไปด้วยคนที่น่ารังเกียจ ชาวอเมริกันจะต้องตอบโต้รับมือให้สมน้ำสมเนื้อกับที่พวกเขาประสบพบเห็น ไม่ใช่ทำอย่างที่พวกเพื่อนๆ ของโอบามาในชุดสูทห้างบรูกส์บราเธอร์ส (Brooks Brothers) ที่รีดเรียบปราณีต พร่ำบอกกับเรา

หมายเหตุผู้แปล

[1] ร่างกฎหมายฉบับนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Currency Exchange Rate Oversight Reform Act of 2011 แต่เนื่องจากเนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายมุ่งไปที่การ “ลงโทษ” การปั่นค่าเงินหยวนให้ต่ำเกินความเป็นจริงของจีน ดังนั้นจึงนิยมเรียกกันทั่วไปว่า China Currency Bill
[2] วุฒิสภาสหรัฐฯอนุมัติร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อวันอังคาร(11) ตามคาด ด้วยคะแนน 63 ต่อ 35 ทว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร จอห์น โบห์เนอร์ แถลงในเวลาต่อมา ประณามร่างกฎหมายนี้ว่ามีอันตรายร้ายแรงที่จะก่อให้เกิดสงครามการค้า พร้อมกับแสดงท่าทีชัดเจนว่าเขาจะไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้หากเขาขัดขวางได้สำเร็จ ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องตกไปโดยปริยาย

ปีเตอร์ โมริซี เป็นศาสตราจารย์แห่ง คณะธุรกิจสมิธ (Smith School of Business) มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ และเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US International Trade Commission)
กำลังโหลดความคิดเห็น