เอเอฟพี / ไชน่าเดลี - จีนเผยตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา กิจกรรมการผลิตประจำเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.9 จุด ขณะที่ยอดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เติบโตเพิ่มขึ้นด้วยเลขสองหลัก
การผลิตฯ เพิ่มนิด
กิจกรรมการผลิตในจีนประจำเดือนส.ค. ดีดตัวสะท้อนกลับดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากเติบโตช้าในไตรมาส 4 ขณะที่ราคาสินค้ายังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลจีนให้คำมั่นว่าจะพยายามสู้กับปัญหาเงินเฟ้อต่อไป
สมาพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อแห่งชาติของจีน(CFLP) เผย (1 ก.ย.) “ผลการสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) กระโดดขึ้นอยู่ที่ 50.9 จุดในเดือนส.ค. จาก 50.7 จุดในเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี”
นักวิเคราะห์อธิบายว่า ค่าดัชนี PMI มีเส้นแบ่งระหว่างภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวแข็งแกร่งและหดตัวที่ระดับ 50 โดยหากเคลื่อนไหวสูงกว่าระดับ 50 แสดงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ และหากหดตัวดัชนีจะลดไปต่ำกว่าระดับ 50
จัง ลี่ฉวิน นักวิเคราะห์ของรัฐบาลเผยในแถลงการณ์ของสมาพันธ์ฯ ว่า “การที่ PMI เพิ่มขึ้น 0.2 จุด ในเดือนส.ค.นั้น แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังค่อย ๆ มั่นคงขึ้นทีละน้อย”
อย่างไรก็ตาม จัง เตือนว่า ความต้องการสินค้าในจีนจากตลาดต่างประเทศยังคงมีความผันผวน และบรรดาบริษัทผู้ผลิตยังคงถูกกดดันหลายทางทั้งปัญหาราคาต้นทุนการผลิตที่กำลังพุ่งสูงขึ้น
ดัชนีราคาสินค้านำเข้า (The input price index) เพิ่มขึ้นเป็น 57.2 เมื่อเดือนที่ผ่านมา เพิ่มจาก 56.3 จุดในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาวัตถุดิบและพลังงานมีต้นทุนสูง ขึ้นทำให้ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นด้วย
นายกรัฐมนตรีจีน เวิน จยาเป่า กล่าวเมื่อวันพุธ (31 ส.ค.) ว่า การควบคุมเงินเฟ้อของจีนยังคงเป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง แม้ว่าเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศจะไร้เสถียรภาพมากขึ้นก็ตาม
ปักกิ่งต้องประสบภาวะปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงทุบสถติติ 6.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนมิ.ย. ท่ามกลางความกลัวว่าราคาอาหารและอสังหาริมทรัพย์จะพุ่งตามไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบในสังคมจีน ที่มีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน
รัฐบาลจีนได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นหลายครั้ง พร้อมสั่งการให้ธนาคารในจีนเพิ่มเงินสดสำรองในคลังหลายครั้ง เพื่อต้องการควบคุมเงินเฟ้อ
ดัชนีวัดการสั่งสินค้าส่งออกของจีนในเดือนส.ค. ลดลงอยู่ที่ 48.3 จุด จาก 50.4 จุด ในเดือนก.ค. ซึ่งชี้ว่า การขยายตัวด้านการขนส่งสินค้าทางเรือช้าลง
การลงทุนในต่างประเทศฯ เพิ่มหน่อย
นอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์จีน เผยวานนี้ (31 ส.ค.) ว่า ยอดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Outbound direct investment) ในเดือนส.ค. เติบโตเพิ่มขึ้นด้วยเลขสองหลัก ปีต่อปี หลังจากลดลงในเดือนมิ.ย.
กระทรวงฯเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น กอปรกับความไม่สงบในลิเบียส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตรงในต่างประเทศของจีน
หวัง เซิ่งเวิ่น รองผู้อำนวยการสำนักการลงทุนนอกประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “ในปีนี้ ตัวเลขODI ของจีนน่าจะอยู่ในระดับเลขสองหลักอย่างแน่นอน แม้ว่าในครึ่งปีแรกของปีนี้จะเติบโตเพียง 3.3 เปอรเซ็นต์ก็ตาม”
ODI ในเดือนก.ค. ตกลงมาอยู่ที่ 58 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า มีมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการตกลงครั้งแรกของปีนี้ สืบเนื่องจากการลงทุนทั้งในสหรัฐฯและยุโรปลดลงนั่นเอง
ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่า จีนไม่เคยมีการลงทุนทางตรงต่างประเทศในลิเบีย แต่มีโครงการทางด้านการก่อสร้าง ซึ่งโครงการเหล่านั้นก็ถูกระงับไปหลังจากเกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองกว่า 6 เดือน จีนสั่งอพยพแรงงานกลับประเทศกว่า 30,000 คน
อย่างไรก็ตาม หวัง ก็ยังคงมองในแง่ดีว่า ODI ทั้งปีของปีนี้จะดีขึ้นเรื่อย ๆ “ทั้งวิกฤติหนี้ในยุโรปและสหรัฐฯ ตลอดจนภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทจีนในต่างแดนผมเชื่อว่า ODI จีนปี 2554 จะเพิ่มขึ้นเลขสองหลักอย่างแน่นอน”
ในช่วง 7 เดือนแรก ODIของจีนในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 102.5 เปอร์เซ็นต์ และในฮ่องกง 23.9 เปอร์เซ็นต์ ปีต่อปี แต่สำหรับในอาเซียน รัสเซีย และสหรัฐฯกับยุโรปนั้นลดลง
ปี 2553 ODIจีนเพิ่มขึ้น 36.3 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี มูลค่า 59,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อสิ้นปี 2553 ODI ของจีนรวมแล้วก็อยู่ที่มูลค่า 258,800 ล้านเหรียญ ซึ่งก็เน้นไปที่การทำเหมืองแร่ การผลิต และภาคส่งออกรายย่อยทั้งในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา
“ขณะนี้ทุกชาติต่างต้อนรับการลงทุนจากจีน” เสิ่น ตันหยัง โฆษกกระทรวงพาณิชย์เผย