xs
xsm
sm
md
lg

กระแสขาดแคลนแรงงานจีนแรงขึ้น ภาคใต้ต้องการคนงานนับ 10 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

แรงงานอพยพในจีนกำลังเดินผ่านป้ายโครงการก่อสร้างแห่งหนึ่ง (แฟ้มภาพเอเอฟพี)
จีน ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 1,300 กว่าล้านคน เป็นที่กล่าวขวัญด้านแรงงานราคาถูก ที่ช่วยสร้างชาติจนทะยานขึ้นมาเป็นยักษใหญ่เศรษฐกิจอันดับสองของโลกในทุกวันนี้ ด้วยการเป็นแรงงานราคาถูกในโรงงานผลิตสินค้าโรงงานราคาถูก ถล่มตลาดโลกมา 30 กว่าปี หลังจากที่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจเปิดประเทศเมื่อปลายทศวรรษที่ 1990

แรงงานราคาถูกเหล่านี้แทบทั้งหมดเป็นแรงงานอพยพ มีจำนวนราว 200 คน ที่มีบ้านเกิดในดินแดนตอนในที่ยากจนกว่า ใครจะนึกว่าไม่กี่ปีมานี้ กระแสแรงงานราคาถูกของจีนกำลังเปลี่ยนไป ดังเช่นชีวิตของแรงงานอพยพคนหนึ่ง ชื่อ นาย หลู่ จวิน วัย 25 ปี หลู่เริ่มชีวิตการเป็นแรงงานในโรงงานพิมพ์หีบห่อแห่งหนึ่งในมณฑลชายฝั่งตะวันออกแห่งอันฮุย เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นเขาคิดว่าจะต้องเป็นคนงานในโรงงานไปตลอดชีวิต แล้วจู่ๆเขาก็พบว่าชีวิตมีทางเลือกอื่นอีกมากมาย และมีอำนาจต่อรองในอาชีพอย่างไม่คาดคิดมาก่อน

“ทุกวันนี้ การหาแรงงานที่มีทักษะอย่างผม ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกแล้ว บริษัทที่ผมเคยทำงานด้วย โทรมาตามผมหลายครั้ง ให้กลับไปช่วยงาน แต่แม้นายจ้างจะเพิ่มเงินเดือนให้สูงแล้วก็ตาม ผมก็ยังไม่พอใจ ผมอยากจะไปทำงานกับภรรยาของผมที่เซี่ยงไฮ้มากกว่า” หลู่ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงชีวิตที่มีทางเลือกมากขึ้นของตน

อดีตนายจ้างของหลู่ที่โทรมาตามเขากลับไปทำงาน เสนอเงินเดือน 3,800 หยวน (หรือ เกือบ 20,000 บาท) คิดเป็นอัตราเพิ่ม 27 เปอร์เซนต์ แต่เขาบอกว่า ขณะนี้เขาตั้งเป้าเงินเดือนไว้ไม่ต่ำกว่า 4,000 หยวน หรือ ราว 20,000 บาท “ผมจะหางานไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้งานที่พอใจ” หลู่ กล่าว

ทั้งเจ้าของโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆและรัฐบาลท้องถิ่นในจีนเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน ที่ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว โดยเริ่มจากเขตโรงงานผลิตสินค้าส่งออกตามชายฝั่ง เข้าสู่ตอนในของประเทศแล้ว
แรงงานอพยพที่สถานีรถไฟนครเซี่ยงไฮ้ ขณะเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลตรุษจีน เดือนม.ค. 2554 (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยิ่งปรากฏชัดเจนหลังช่วงเทศกาลวันหยุดตรุษจีนที่ผ่านมา คนงานหลายคนกลับบ้านไปฉลองปีใหม่กับครอบครัวและไม่กลับมาทำงานอีก ด้านหน้าสถานีรถไฟในนครเซี่ยงไฮ้ ถึงกับติดป้ายไฟฟ้าใหญ่เบ้อเร่อ ที่มีอักษรตัววิ่ง ว่า “ขอต้อนรับแรงงานอพยพสู่เมืองหลังวันหยุด”

ในอันฮุย เจ้าหน้าที่ยังได้ช่วยบริษัทในท้องถิ่น รับสมัครคนงาน โดยส่งรถบัสคันใหญ่ไปรับคนมาชมงานมหกรรมรับสมัครงาน ในงานฯมีบริษัทรายหนึ่งที่นอกจากเสนอรายได้สูง ยังได้เป็นสปอนเซอร์งานหาจัดหาคู่รักของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าใกล้ๆกัน ซึ่งมีคนงานเป็นหญิงทั้งหมด ซึ่งเป็นวิธีดึงตัวคนงานหนุ่มๆไว้

กลุ่มนักเศรษฐกรชี้ถึงเหตุปัจจัยของกระแสขาดแคลนแรงงานว่ามาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ผสมโรงกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ที่เป็นผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียว

นาย จัง อี้ เจ้าหน้าที่ประจำสถาบันเศรษฐกิจแรงงานและประชากร สังกัดบัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์แห่งรัฐจีน ระบุในเดือนม.ค.ปีนี้(2554) ว่าเขตชายฝั่งขาดแคลนคนงานราว 10 ล้าน โดยเฉพาะสามเหลี่ยมเศรษฐกิจจูเจียง (หรือแม่น้ำไข่มุก) ที่มีมณฑลก่วงตง หรือกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางนั้น ยังต้องการคนงาน 2-3 ล้านคน

เจ้าหน้าที่สถาบันเศรษฐกิจแรงงานและประชากร อธิบายสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานว่า เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยนโยบายลูกคนเดียวที่รัฐบาลดำเนินมา 30 ปี ได้ลดจำนวนประชากรที่เกิดในช่วงปีทศวรรษที่ 1980 และ 1990 และแรงงานอพยพส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มวัยหนุ่มสาว

“คนวัยหนุ่มสาวเหล่านี้ มีการศึกษาค่อนข้างดี ไม่เหมือนกับคนรุ่นพ่อแม่พวกเขา ที่ส่วนใหญ่จบการศึกษาเพียงระดับมัธยมแล้วก็ออกมาทำงานในเมือง กระแสแรงงานอพยพที่ไม่ต้องการทำงานในโรงงานผลิตที่ใช้แรงงานสูง ขยายวงมากขึ้น เนื่องจากค่าแรงต่ำ และผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ”

จังยังได้ชี้ถึงอีกเหตุปัจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานตามเขตชายฝั่ง เนื่องจากมีกลุ่มบริษัทมากมายย้ายไปตั้งฐานการผลิตยังเขตตอนในของประเทศ เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่คนท้องถิ่นได้ทำงานใกล้กับบ้านเกิดของพวกเขา

หลู่ เสวี่ยจิง จากแคตปิตัล ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ อีโคโนมิค์ส แอนด์ บิสซิเนส ในกรุงปักกิ่ง ชี้ว่า แรงงานอพยพตามเขตชายฝั่งนั้นเป็น “แรงงานระยะสั้น” พวกเขามักเปลี่ยนงานกันบ่อย เป็นเหตุให้พวกโรงงานที่จ่ายต่ำขาดคนงาน นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในโรงงานหลายแห่ง ก็เป็นความสัมพันธ์แบบนายจ้างและลูกจ้างเพียวๆโดยไม่มีความรู้สึกผูกพันอื่นๆเลย

อย่างก็ตาม นาย จังชี้จุดดีของสภาพขาดแคลนแรงงานนี้ จะช่วยผลักดันให้กลุ่มผู้ผลิตสินค้าระดับล่าง ยกระดับอุปกรณ์เครื่องมือ และเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์จากตลาดที่คอยแต่รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเท่านั้น โดยการหันมายกระดับกิจการการผลิตไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงขึ้นนั้น ไม่เพียงแต่ยกระดับการแข่งขันของผู้ผลิต แต่ยังช่วยดึงดูดคนงาน

“แม้ว่ามณฑลต่างๆทั่วประเทศจีน ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเมื่อปีที่แล้ว และยังมีแผนที่จะขึ้นค่าแรงกันอีกในปีนี้ แต่ก็ดูเหมือนจะยังไล่ไม่ทันราคาค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ ค่าเล่าเรียนลูกๆ ซึ่งได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มคนงาน พวกเขาต้องดิ้นรนหาทางเลือกอื่นๆที่ดีกว่าที่จะได้เงินมากกว่า อาทิ บางกลุ่มก็กลับบ้าน ไปเปิดกิจการของตัวเอง”.

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอาวุโส นาย มั่ว หรง ประจำกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคม ไม่เห็นด้วยกับกระแสขาดแคลนแรงงานนัก โดยบอกว่ายังมีแรงงานอีกมากมายที่พร้อมทำงานกับบรรดาบริษัทที่จ่ายเงินเดือนสูง

แต่นาย เสิ่น เจี้ยนกวง เศรษฐกร ประจำ มิซูโฮ ซีเคียวริตี้ ใน ฮ่องกง ก็คาดการณ์ว่ากระแสขาดแคลนแรงงานในจีนจะยิ่งตึงเครียดในไม่กี่ข้างหน้านี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจจีน คือ มันจะเพิ่มแรงกดดันให้จีนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีปัจจัยขยายตัวหลักจากภาคการผลิตที่ใช้แรงงานสูง.
กำลังโหลดความคิดเห็น