เอเอฟพี - ที่คลินิกรักษาสัตว์แห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ เจ้าปุยพันธุ์ บิชง ฟริเซ่ นามว่า “ลิตเติ้ล แบร์” หรือ “เจ้าหมีน้อย” ถูกเจ้านาย ที่แสนจะหลงรักมัน อุ้มมาฝังเข็ม สัตว์แพทย์แทงเข็มอย่างว่องไวที่หน้าท้อง และที่หลังของมัน รวมแล้ว 12 เข็ม
นายจู เจี้ยนหมิน พาเจ้าสุนัขเพศผู้มาฝังเข็ม เพราะได้ยินมาว่าอาจช่วยลดน้ำหนักตัวมันได้ เพราะตอนนี้มันอ้วนตุ๊ต๊ะถึง 15 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าน้ำหนักเฉลี่ยของสุนัขสายพันธุ์นี้ถึงร้อยละ 50 ทีเดียว
“ บางครั้งผมจะทำงานง่วนอยู่กับเอกสารจนถึงตี 4 เขาจะอยู่ใกล้ ๆ ผม กินอาหารว่าง แต่ไม่ยักกะชอบกินขนมปังแฮะ ของโปรดจะเป็นชีสเค้ก ไม่ก็ครีมพัฟฟ์” คุณจู หนุ่มใหญ่วัย 50 บอสใหญ่ของบริษัทเครื่องมือแพทย์เล่าอย่างภาคภูมิใจ
ลิตเติ้ลแบร์จัดอยู่ในกลุ่มคุณตูบชนชั้นใหม่ในเมืองจีน ซึ่งอาจเรียกคุณตูบไฮโซก็น่าจะได้ คุณตูบกลุ่มนี้ได้รับการเลี้ยงดูประคบประหงมอย่างที่สุนัขบนแดนมังกรในอดีตไม่เคยได้รับมาก่อน ทั้งนี้เป็นเพราะชาวจีนมีระดับรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2ของโลกนั่นเอง
ขณะเดียวกันประชากรสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงก็เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วโดยมีสุนัขสัตว์เลี้ยงราว 58 ล้านตัวในเมืองใหญ่ 20 เมืองเมื่อสิ้นปี 2552 และจำนวนยังเพิ่มขึ้นถึงราวร้อยละ 30 ในแต่ละปีอีกด้วย จากผลสำรวจของนิตยสาร“ด๊อก แฟนส์” (Dog Fans) ในกรุงปักกิ่ง
ที่นครเซี่ยงไฮ้นั้น เมื่อ 10 ปีก่อน มีสุนัขสัตว์เลี้ยงจำนวน 60,000 ตัว จากรายงานของสื่อมวลชนของทางการจีน แต่ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่คาดว่ามีสุนัขสัตว์เลี้ยงมากถึงราว 740,000 ตัว
จึงไม่ต้องสงสัยเลยที่การทำธุรกิจและการผลิตสินค้าเกี่ยวกับสุนัข ซึ่งรวมทั้งการเปิดร้ายถ่ายรูปสำหรับสุนัข และร้านอาบน้ำ เสริมสวย จะเป็นช่องทางทำมาหากิน ที่สร้างรายได้งามในเมืองจีน โดยเงินที่เจ้าของสุนัข ซึ่งบางคนเป็นประเภทโอ๋สุนัขจนเกินไปจ่ายให้กับเรื่องของเจ้าตูบรวมแล้วประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี นายเพอร์ ลินจ์มาร์ก ผู้ก่อตั้ง Petizens.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทำนองเดียวกับเฟซบุ๊ก แต่อุทิศให้กับสัตว์เลี้ยง ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ระบุ
สำหรับลินจ์มาร์กเตรียมเปิดเว็บภาคภาษาจีนในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้คลิกเข้าไปอ่านอย่างน้อย ๆ 50,000 รายภายในสิ้นปีนี้ โดยเขาระบุว่า อุตสาหกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สำหรับสุนัขในเมืองจีนกำลังโตแซงหน้าชาติอื่น ๆ ในโลก
“ที่อเมริกา โตปีละ 1 % แต่ที่จีนโตปีละ 10 ถึง 20 % มันบูมจริง ๆครับ” ลินจ์มาร์กกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า นโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2523 มีส่วนช่วยยกสถานภาพของสุนัขจากไอ้ตูบกลายเป็นคุณตูบภายในครอบครัวชาวจีน โดยเมื่อคนรุ่นลูกแต่งงานช้าขึ้น และมุ่งแต่ทำงาน พ่อแม่ ซึ่งมีลูกอยู่คนเดียว และอยากเป็นคุณตาคุณยาย จึงต้องหาน้องหมามาเลี้ยงแทนหลานไปพลาง ๆ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ได้เสนอนโยบายสุนัขตัวเดียว ซึ่งกำหนดให้ครอบครัวหนึ่งเลี้ยงสุนัขได้ตัวเดียว เพื่อควบคุมจำนวนประชากรสุนัข ทว่ากฎระเบียบนี้เห็นที่จะบังคับใช้ได้ยาก
แองเจิล อู๋ นักศึกษามหาวิทยาลัย วัย 21 ปี ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินกว่า 3,000 หยวน เพื่อซื้อลูกสุนัขชิวาว่า อายุ 4 เดือนมาอุ้มชู ทั้งที่เธอมีค็อกเกอร์ สแปเนียล อยู่แล้วตัวหนึ่ง
“ ก็มันน่ารักเสียจนฉันอดใจซื้อไม่ไหว” เธอให้เหตุผล
“ฉันจับเจ้าชิวาว่ามาแต่งชุดน้องหมา ที่กำลังเป็นแฟชั่น มีครบทุกแบบเลยละ” เธอเล่า พลางอุ้มชิวาว่าตัวโปรด ซึ่งนุ่งเสื้อโค้ทสีชมพูอย่างแสนจะรักใคร่เอ็นดู