เทศกาลฤดูใบไม้ผลิหรือชุนเจี๋ย ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของชนชาวฮั่น โดยกำหนดให้ในวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ นอกจากชนชาวฮั่นแล้วประเพณีต้อนรับปีใหม่ ก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในชาวจีนทุกหมู่เหล่าทั้ง มองโกล แมนจู จ้วง ปู้อี ต้ง (ส่วนมากอยู่ในกุ้ยโจว, หูหนัน กว่างซี) เหยา ไป๋ หลี (มณฑลกว่างตง) น่าซี อี้ว์กู่ (มณฑลกันซู่) จิง (กระจายอยู่ในมณฑลกว่างตง) เป็นต้น ประชากรทั้ง 56 ชนชาติ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปกันในหลายๆด้านอาทิ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน รวมถึงประเพณีเฉลิมฉลองในเทศกาลฤดูใบไม้ผลิด้วย
ในอดีตถือว่าช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองนั้นได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 หรือ 24 ของปีเก่า จนถึงเทศกาลหยวนเซียวหรือเทศกาลโคม (แรม 15 ค่ำเดือนอ้าย) ประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในหมู่ชาวจีนส่วนใหญ่คือ บูชากราบไหว้เทพยดาฟ้าดินที่ดลบันดาลให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เซ่นไหว้บรรพบุรุษ จัดงานวัด งานเลี้ยงฉลอง และมีการเสี่ยงทาย เป็นต้น
ชนชาติฮั่นนั้นจะจัดพิธีฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิหรือตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ใหม่ๆ ตัดเสื้อผ้าชุดใหม่ ปัดกวาดทำความสะอาดบ้าน เซ่นไหว้เทพเจ้าแห่งครัว เซ่นไหว้บรรพบุรุษ รับประทานอาหารร่วมกันทั้งครอบครัวที่เรียกว่า‘ถวนหยวนฟ่าน’ (团圆饭) ติดชุนเหลียน (กลอนคู่) แขวนเหนียนฮว่า (ภาพมงคล)
เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาล ชาวฮั่นก็จะอวยพรปีใหม่กันเรียกว่า ไป้เหนียน มีการจุดประทัด ดื่มเหล้า ทานเหนียนเกา และเจี่ยวจือ (เกี้ยวชนิดหนึ่ง) ทานขนมหยวนเซียว ซึ่งเป็นขนมหวานชนิดหนึ่งปั้นเป็นลูกกลม ข้างในเป็นใส่ถั่ว บ้างก็ไม่มีไส้ ในชนบทยังมีประเพณีทำนายความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลและพยากรณ์สภาพดินฟ้าอากาศของปีที่จะมาถึง
นอกจากนี้ยังมีการละเล่นต่างๆ เช่น เชิดมังกร-สิงโต การร่ายรำพื้นบ้าน เพื่ออำลาปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพื่อขับไล่ความยากจนความโชคร้าย และต้อนรับความมั่งมีศรีสุข ความอุดมสมบูรณ์และสมปรารถนา พร้อมกับชมโคมประดับ
ชนชาติจ้วงในมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) ในเช้าตรู่ของวันปีใหม่ หญิงสาวชาวจ้วงจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ รองเท้าคู่ใหม่ แล้วพากันไปตักน้ำที่ลำธารซึ่งชาวจ้วงเรียกว่า ‘น้ำใหม่’ พร้อมทั้งเก็บก้อนหินมา 6 ก้อน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนสัตว์เลี้ยง 6 ชนิดคือ วัว ม้า หมู แพะ สุนัข และแมว ขณะที่เดินกลับบ้านจะกู่ร้องเลียนเสียงสัตว์ทั้ง 6 ชนิด โดยเชื่อว่า เป็นการนำความสมบูรณ์พูนสุขมาสู่ครอบครัว เมื่อถึงบ้านจึงนำน้ำที่ได้ ใส่น้ำตาลทรายแดง ใบไผ่ ต้นหอมซอย ขิง ต้มรวมกัน แล้วรับประทานร่วมกันในครอบครัว ชาวจ้วงเชื่อว่าน้ำใหม่เป็นสัญลักษณ์ของความมีสิริมงคล เชื่อกันว่าดื่มแล้วจะมีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม
นอกจากนี้ประเพณีการดื่มน้ำจากลำธารแล้ว ชาวจ้วงยังมีประเพณีรื่นเริงอาทิ การประกวดแข่งร้องเพลง และเต้นพื้นเมืองที่เรียกว่าชุนถังอู่ (春堂舞) ซึ่งเชื่อกันว่าหากเต้นชุนถังอู่จะทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
ชนชาติไป๋ มีถิ่นอาศัยบริเวณเฮ่อชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหยุนหนัน ก่อนวันปีใหม่ ชาวไป๋จะปักต้นสน 2 ต้นที่ลานบ้านตนเอง และปูลานบ้านด้วยใบสน ซึ่งหมายถึง ความสะอาด เพราะคำว่าเขียว (清) ของต้นสน (松) มีเสียงคล้องจองกับคำที่มีความหมายว่า สะอาด (清洁)
เมื่อเสียงไก่ขันดังขึ้นในเช้าตรู่ของวันปีใหม่ หัวหน้าครอบครัวจะถือถังน้ำไปตักน้ำที่ลำธารในป่า เรียกว่า ‘การตักน้ำแห่งฤดูใบไม้ผลิ’ พอดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า เด็กผู้ชายก็จะตะโกนว่า ‘ประตูทรัพย์’แล้วเปิดประตูใหญ่ของบ้าน เกือบจะเป็นเวลาเดียวกับที่จุดประทัดเป็นสัญญาณว่าปีใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว วันนี้คนในครอบครัวก็จะกินขนมที่ทำจากข้าวเจ้าเรียกว่า ‘หมี่เกา’ หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะอวยพรแก่เด็ก และพาไปเที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพร
สำหรับการฉลองเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนในมณฑลไห่หนัน (ไหหลำ) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ของปีถึงวันที่ 5 หรือบางที่อาจเรื่อยไปจนถึงวันที่ 15 ตามปฏิทินจันทรคติ โดยก่อนถึงวันปีใหม่ แต่ละบ้านก็จะทำความสะอาดบ้านเรือน ตลอดจนตัดฟืน ตำข้าว ตัดเสื้อผ้าใหม่ ต้มเหล้า นำผ้าห่มไปซัก เป็นต้น
ในวันส่งท้ายปีเก่า ผู้ชายก็จะฆ่าหมูฆ่าไก่ ผู้หญิงก็จะทำขนม ‘เหนียนเกา’ ห่อ ‘จ้งจื่อ’ (ขนมชนิดหนึ่งทำจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบไผ่) ถึงเวลาพลบค่ำจะจัดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงรับประทานอาหารดื่มเหล้าร่วมกัน
ในวันขึ้นปีใหม่ ชาวจีนในไหหลำ จะปิดบ้านและไม่ออกไปเที่ยวนอกบ้านเช่นชาวจีนในที่อื่นๆ กิจกรรมที่ชาวไหหลำทำคือ ตอนเช้าจะนำขนมเหนียนเกามาวางที่คอกวัว เล้าหมูหรือเล้าไก่ตามแต่ว่าบ้านไหนเลี้ยงอะไร หลังจากนั้นเมื่อไปตักน้ำที่แม่น้ำหรือบ่อน้ำแล้ว จะโยนเหรียญหรือขนมเหนียนเกาลงในแม่น้ำหรือบ่อน้ำ เพื่อเป็นการซื้อ ‘ฝูสุ่ย’ (福水) หรือน้ำแห่งความผาสุกจากเทพแห่งดินและเทพแห่งน้ำ วันที่ 3- 4 หนุ่มสาวจึงจะเริ่มออกไปเที่ยว บ้างไปเยี่ยมญาติ บ้างไปล่าสัตว์ ตกปลา เล่นโล้ชิงช้า เต้นรำปีใหม่ ซึ่ง เรียกอีกอย่างว่า ‘เต้นรำแห่งสันติสุข’
ในวันที่ 5 เป็นวันเก็บกวาดขยะที่หลงเหลือจากเทศกาลตรุษจีน เช่นขนหมู ขนนก ใบไผ่ มาใส่ในตะกร้าไม้ไผ่ เพื่อทำพิธีอัญเชิญเทพออกจากหมู่บ้าน และในวันที่ 15 จึงทำพิธีเผาที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน
ชนชาติน่าซีที่เมืองลี่เจียง มณฑลหยุนหนัน เทศกาลตรุษจีนที่นี่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 15 ชาวน่าซีจะรับประทานอาหารมังสวิรัติและไปเคารพบูชาหลุมศพบรรพบุรุษ วันที่ 2 ไปอวยพรปีใหม่เพื่อนบ้านและญาติสนิทมิตรสหาย ตั้งแต่วันที่ 3 เป็นต้นไปทำพิธีบวงสรวงเทวดา ทุกปีแต่ละครอบครัวจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ ขอเทวดาดลบันดาลให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ คนและสัตว์เลี้ยงอยู่รอดปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีพิธียิงเกาทัณฑ์
นอกจากนี้ในแต่ละหมู่บ้านยังมีการทำชิงช้าเพื่อหนุ่มสาวจะได้มานั่งเล่น โดยมีข้อแม้ว่าหน้าที่ทำชิงช้าจะเป็นของคู่บ่าวสาวที่แต่งงานกันในปีนั้น เพื่อความสิริมงคลว่าผู้ที่มานั่งจู๋จี๋กันก็จะสมหวังในความรักเฉกเช่นเดียวกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่เป็นคนทำ โดยผู้ชายหรือเจ้าบ่าวเป็นคนไปหามไม้มาทำโครง ส่วนเจ้าสาวก็มีหน้าที่ผูกเชือก
และจากความเชื่อของชนเผ่าน่าซีที่ว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่นำพืช 5 ชนิดได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวบาเลย์ ถั่ว และจี้(พืชประเภทข้าวโพด) ธัญพืชซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของพืชนานาชนิดมาให้มนุษย์ ดังนั้นชนเผ่าน่าซีจึงนำข้าวสารมาเลี้ยงสุนัขด้วย
ชนชาติเกอเหล่า ในตอนกลางของตะวันตกและทางใต้ของมณฑลกุ้ยโจว ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พวกเขาจะทำเหล้า ฆ่าหมู ฆ่าไก่ ทำเต้าหู้ และขนมจ้างที่ทำจากข้าวเหนียว โดยจะทำขนมจ้างชิ้นใหญ่มากหนึ่งชิ้นเพื่อใช้เซ่นไหว้บรรพบุรุษ และจะวางไว้โดยไม่แตะต้องขนมชิ้นนี้เลยเป็นเวลา 3 วัน ช่วงเทศกาลก็มีกิจกรรมบันเทิง ร้องเพลงพื้นเมือง เป็นต้น