ทุกปีเมื่อย่างเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน(ในภาษาจีนกลางเรียก ชุนเจี๋ย ) ตามปฏิทินจันทรคติจีนตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย (22 ม.ค.) ซึ่งจะยาวนานเรื่อยไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งเป็นวันเทศกาลโคมไฟ( หยวนเซียวเจี๋ยหรือเติงเจี๋ย ) ชาวจีนผู้นิยมสีแดงในสายเลือดจะตกแต่งประดับประดาบ้านเรือนและร้านค้าด้วยกระดาษแดง ภาพวาด และภาพกระดาษตัดสีสันสดใส สร้างบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง
และเพื่อเป็นการต้อนรับความสุขและขอโชคขอพร ชาวจีนช่างคิดก็ยังนำอักษรจีนที่หมายถึงความผาสุกและโชคดีสิริมงคล เช่นตัว ‘福’ (ฝู) หรือตัว 春 (ชุน) มาติดที่บานประตูหน้าบ้าน ตามกำแพง หรือบริเวณเหนือกรอบบนของประตู ซึ่งประเพณีดังกล่าวมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยซ่ง และตามที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การติดตัวฝูนี้ก็ควรกลับหัวเพื่อให้พ้องกับเสียง(ในภาษาจีนกลาง)ที่มีความหมายว่า สิริมงคลหรือโชคดีได้มาถึงบ้านแล้ว เรื่องการกลับหัวตัวอักษรนี้มีเหตุที่มาเมื่อครั้งอดีตกาล ซึ่งเล่าสืบกันมาในหมู่สามัญชนว่า
สมัยจักรพรรดิหมิงไท่จู่จูหยวนจางแห่งราชวงศ์หมิง ได้ใช้อักษร‘ฝู’เป็นเครื่องหมายลับในการสังหารคน หม่าฮองเฮาทราบเรื่องจึงคิดอุบายเพื่อหลีกเลี่ยงภัยดังกล่าวไม่ให้เกิดแก่ราษฎร ด้วยมีพระราชเสาวนีย์ให้ทุกบ้านติดตัวฝูที่หน้าประตูเพื่อลวงให้ฮ่องเต้สับสน รุ่งขึ้นชาวเมืองต่างนำตัวอักษรฝูมาติดที่หน้าประตูตามนั้น ทว่ามีบ้านหนึ่งไม่รู้หนังสือจึงติดตัวฝูกลับหัวด้วยความไม่ตั้งใจ เมื่อฮ่องเต้ทอดพระเนตรเห็นเข้าก็ทรงกริ้ว รับสั่งให้ประหารคนในบ้านทั้งหมด หม่าฮองเฮาเห็นท่าไม่ดีจึงรีบทูลยับยั้งไว้ว่า ‘บ้านนี้ทราบว่าพระองค์จะเสด็จมา จึงตั้งใจติดตัวฝูกลับหัว ( 福倒-ฝูเต้า) เพื่อแสดงความปิติยินดีต่อการเสด็จเยือนของพระองค์ ราวกับว่าความสุขสวัสดีและโชคลาภได้มาถึงที่บ้าน’ ได้ยินดังนี้แล้วจูหยวนจางจึงไว้ชีวิตชาวบ้านผู้นั้น การติดตัวฝูกลับหัวสืบต่อมานอกจากเพื่อขอโชคสิริมงคลตามความหมายของตัวอักษรแล้ว ยังเป็นการระลึกถึงคุณความดีของหม่าฮองเฮาในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย