xs
xsm
sm
md
lg

ถกสถานการณ์จีนวันนี้และอนาคต : ทางสู่ผู้นำเศรษฐกิจโลกที่แท้จริงและปัญหาประชาธิปไตย-ประชาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวเปิดงานฯ
เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์—กลุ่มนักวิชาการจีนศึกษาไทยร่วมเปิดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์จีนปัจจุบันและอนาคต เนื่องในโอกาสวันชาติปีที่ 60 ของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ถกจีนจะก้าวเดินต่อไปสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกที่แท้จริงอย่างไร ขณะเดียวกันปัญหาท้าทายด้านการเมืองที่พญามังกรต้องฝ่าฟันเพื่อยืนผงาดอย่างมั่นคงในอนาคตคือ การคลี่คลายปัญหาประชาธิปไตย และประชาชาติ

เมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับโครงการจับกระแสจีน (China Watch Program) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดงานอภิปราย เรื่อง “60 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน : ปัจจุบันและอนาคต” เพื่อทบทวนความเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนที่ผ่านมาแล้ว และยังเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับการรับรู้ของสังคมไทยที่มีต่อสังคมจีนในปัจจุบัน

ในงานนี้มีผู้เข้าร่วมอภิปรายสองท่านคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรศักดิ์ มหัทธโนบล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถกประเด็นภาคการเมือง และ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ถกประเด็นภาคเศรษฐกิจ

โดยหลังจากที่ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ได้กล่าวเปิดงานฯ แล้ว อาจารย์วรศักด์ มหัทธโนบล เริ่มอภิปรายถึงปัจจุบันและอนาคตของการเมืองจีนฯ ว่า

“สภาพการเมืองจีนในปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์และนโยบายทางการเมืองที่สำคัญในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา นับจากจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางการปกครองระบอบศักดินากึ่งเมืองขึ้นมาถึงในวันนี้ ได้แก่ นโยบายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเวนคืนที่ดินจากเจ้ากรรมสิทธิ์กลับเป็นของรัฐหลังจากที่มีการสถาปนาจีนใหม่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์(1949), นโยบายก้าวกระโดดไกล (1958)ที่ส่งผลให้ประชาชนจีนเสียชีวิตนับ 10 ล้านคน, เหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม(1966-1976) ซึ่งสะท้อนความขัดแย้งอย่างรุนแรงของชนชั้นนำ ส่งผลให้ชาวจีนแตกสลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน, นโยบายเปิดประเทศ(1979) และเหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน (1989) อันเป็นสัญญาณความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องประชาธิปไตยแบบตะวันตก” อาจารย์วรศักดิ์ กล่าวย้อนลำดับเหตุการณ์ และนโยบายที่สร้างผลกระทบสำคัญ ก่อนจะชี้ถึงอนาคตของการเมืองจีนว่าขึ้นอยู่กับคำสองคำ

“ประชาชาติ” และ “ประชาธิปไตย” สองความท้าทายในอนาคต

อาจารย์วรศักดิ์ กล่าวว่าแนวโน้มอนาคตการเมืองจีน จะขึ้นอยู่กับคำสองคำคือ “ประชาชาติ” และ “ประชาธิปไตย”

“สำหรับประชาธิปไตยนั้น ต้องเข้าใจว่า จีนมองว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตก เป็นประชาธิปไตยของนายทุน ซึ่งไม่เหมาะกับจีน เพราะประชาธิปไตยแบบจีนนั้น อ้างอิงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก และโดยภาพรวมก็ยังมีเสถียรภาพอยู่ และจากการปฏิรูปเศรษฐกิจในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนจีนทุกวันนี้ มีเสรีภาพมากขึ้น แต่ก็อยู่บนพื้นฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนการเติบโตทางเสรีภาพการเมืองนี้ ชาวจีนก็เริ่มถามหาประชาธิปไตยกันอีกครั้ง”

“โดย 4-5 ปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินผู้นำจีนมักเอ่ยถึงประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง ต่างกันตรงที่ยังไม่ได้พูดถึงในเชิงรูปธรรมว่าอนาคตนั้น ประชาธิปไตยของจีนจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร”

“คำถามคือว่า เมื่อเกิดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว จีนจะตั้งรับกระแสนี้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อวันหนึ่งประชาคมเอเชียรอบข้างของจีน เป็นประชาธิปไตยกันหมดแล้ว จีนจะปฏิบัติอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่ผู้นำจีนมองว่าอาจเป็นเช่นเดียวกับทฤษฎีโดมิลัทธิคอมมิวนิสต์โนในอดีต เพียงแต่ว่าคราวนี้จะเป็นโดมิโนประชาธิปไตย”

...แนวโน้มประชาชาติ


อาจารย์วรศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องท้าทายอนาคตการเมืองจีนอีกเรื่องคือ แนวโน้มความขัดแย้งของประชาชาติจีนที่มีอยู่มากมาย

“ช่วงหลายปีมานี้ แม้ผู้นำจีนพยายามพัฒนาเศรษฐกิจแต่ผลของการพัฒนาก็นำไปสู่อีกปัญหาคือ ความขัดแย้งทางชนชาติ ซึ่งเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะช่วงปีที่แล้วมาจนถึงปีนี้ และก็มีเหตุการณ์ปะทะรุนแรงระหว่างชนชาติอุยกูร์กับชาวจีนฮั่นในเขตปกครองตัวเองอุยกูร์มณฑลซินเจียงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง”

“นอกจากนั้น ไม่เพียงแต่ความขัดแย้งชนชาติในประเทศเท่านั้น ยังมีความขัดแย้งที่ผู้นำจีนไม่คาดคิด ที่ข้ามไปเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน ดังเหตุการณ์สู้รบกันระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มโกกั้ง ซึ่งเป็นชนชาติเชื้อสายจีนที่มีเขตปกครองพิเศษฯ อยู่ในประเทศพม่า กับกลุ่มว้าแดงซึ่งล้วนมีความใกล้ชิดแนบแน่นกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน บทบาทของพม่าในกรณีความขัดแย้งนี้ สร้างความประหลาดใจให้กับจีน และทำให้จีนต้องขบคิดหนักว่าจะทำอย่างไร? เพราะแม้จีนมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องภายในของประเทศอื่น แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับกรณีที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับจีนโดยตรง” อาจารย์ วรศักดิ์ กล่าว
เวทีอภิราย “60 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน : ปัจจุบันและอนาคต” จากขวา อาจารย์ พรพิมล ตรีโชติ ผู้ดำเนินรายการ, วรศักดิ์ มหัทธโนบล, และ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์
จีนจะเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกที่แท้จริงอย่างไร

รศ.ดร. สมภพ มานะรังสรรค์
อภิปรายถึงเศรษฐกิจจีนว่า 60 ปี ที่ผ่านมา บทบาทด้านเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลกเพิ่งเริ่มต้นเมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO ในปี 2001

รศ.ดร. สมภพ กล่าวว่า “วันนี้ ปีนี้ 2009 จีนได้ขึ้นมาเป็นชาติชั้นนำในหลายเรื่อง ได้แก่ 

* กลายเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลก แซงหน้าประเทศเยอรมนี

*
 มียอดขายรถยนต์เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยแซงหน้าสหรัฐอเมริกามาเกือบตลอด

*
 เป็นเจ้าหนี้อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา แทนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุดจีนได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน กว่า 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

*
มีทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศมากที่สุดในโลก ทะลุ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

*
มี GDP ขยายตัวมากที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ คือ 7.9 เปอร์เซนต์

* นอกจากนี้ จีนยังเป็นแชมป์การผลิตสินค้าในหลายๆ รายการเทียบกับการผลิตทั้งหมดในโลก เช่น การผลิตของเล่นร้อยละ 75, โทรศัพท์มือถือร้อยละ 60, แผ่นดีวีดี ร้อยละ 50, กล้องดิจิตอล ร้อยละ 50 ตลอดจนการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยเฉลี่ยคอมพิวเตอร์สามเครื่องที่ผลิตได้ในโลกจะมาจากจีนหนึ่งเครื่อง”

...จีน หัวจักรฉุดนำเศรษฐกิจโลก

“ถ้านับจากวันที่จีนเปิดประเทศจริงๆ ในปี 1979 นั้น GDP ของจีน ต่ำกว่า สหรัฐฯ 14 เท่า แต่มาในปี 2008 หรือสามสิบปีต่อมา สหรัฐฯ มี GDP สูงกว่าจีน เพียง 4 เท่า เท่านั้น

“ปัญหาของจีนเวลานี้คือจะไม่เดินตามรอยสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหัวจักรนำเศรษฐกิจโลกไปสู่วิกฤติถึงสองครั้งได้อย่างไร เพราะอเมริกาพัฒนาระบบการเงินทุนนิยมเต็มที่ จนเจอวิกฤติการเงินไปเมื่อ 80 ปีก่อน (1929) และก็ยังก่อวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปีนี้ โดยวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ กลับมีจีนเป็นหัวจักรขบวนใหญ่ในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจโลกได้ทันการณ์ แทนชาติตะวันตก”

“แต่จีนจะเป็นหัวรถจักรทางเศรษฐกิจได้จริงหรือในเกมทุนนิยมที่เล่นตามแบบอเมริกา เพราะความมั่งคั่งของจีนในเวลานี้ ยังไม่มีอะไรใหม่ จีนยังคงเล่นเกมที่อเมริกาเล่นมาตลอด หนึ่งคือ การใช้นโยบายเศรษฐกิจของเคนส์ เป็นตัวขับเคลื่อนระบบการเงิน การคลัง สร้างโครงการขนาดใหญ่ กระตุ้นการใช้จ่าย ฯลฯ

สองคือ การลดดอกเบี้ย โดยอนุญาตให้ธนาคารปล่อยกู้ออกมาเต็มที่ แต่เงินเหล่านั้นจะไม่ได้อยู่ในภาคการผลิตจริง กลับไปอยู่ที่ฟองสบู่ ส่งผลให้เกิดการบูมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น ที่น่าห่วงคือ จีนได้แบ่งเงินทุนจำนวนมหาศาลจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ มาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเอาเงินมาลงทุนเก็งกำไรทั่วโลก

เส้นทางเหล่านี้คือการเล่นเกมเก็งกำไรที่อเมริกาเคยเล่นมากไปจนระบบล่ม โลกควรจะสรุปบทเรียนนี้ และจีนก็น่าจะมีบทบาทในการถ่วงดุลทุนนิยมโลกได้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตแค่ด้านปริมาณอย่างเดียว ดังนั้น การที่จีนหันมาใช้กองทุน Hedge Fund ที่เพิ่งจะเป็นจำเลยโลกในช่วงที่ผ่านมา และเกมส์เดิมๆ แบบอเมริกา จึงเป็นเรื่องน่าห่วง”

รศ.ดร. สมภพ อธิบายถึงผลเสียของกองทุน Hedge Fund นี้ ว่าทำให้เกิดการปั่นราคาในสินค้าอันเป็นต้นทุนการผลิตจริงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ทั้งเหล็ก ผลิตภัณฑ์เกษตรฯ ข้าวโพด ยางพารา จนเกิดความไม่สมดุลระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงกับภาคการเงิน

“เมื่อจีนทุ่มเงินออกมามากๆเกินความต้องการจริง เงินก็ล้นและไม่ได้เข้าภาคเศรษฐกิจจริง ต้นทุนการผลิตในภาค real sector ก็ถูกเก็งกำไรกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน บริหารต้นทุนไม่ได้ เพราะไม่รู้ต้นทุนจริงอยู่ตรงไหน ราคาส่งออกก็แกว่งตามการเก็งราคาน้ำมัน สินค้าปลายน้ำที่สุดก็ถูกเก็งกำไรไปด้วย อย่างในภาคการเงินวันนี้ การแกว่งขึ้นลงของหุ้นเซี่ยงไฮ้ก็เริ่มส่งผลต่อทั่วโลก”

รศ.ดร. สมภพ ชี้ถึงอนาคตเศรษฐกิจจีน ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจโลกด้วยนั้น ขึ้นอยู่กับว่า บทบาทเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างไร จะใช้ประสบการณ์ของประเทศสังคมนิยม มาปรับใช้ให้ได้สมดุลในทุนนิยมโลก และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณได้อย่างไร

“แต่ยังไม่ทันไร จีนที่เพิ่งจะเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ ก็ถูกนานาชาติสกัดกล่าวหาเป็นจำเลยสำคัญในการสร้างมลภาวะโลก เพราะปัจจุบันจีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แซงหน้าอเมริกาไปแล้ว จีนยังจะถูกตั้งคำถามลัทธิกีดกันการค้ามากขึ้นๆ รวมไปถึงการผลิตสินค้าปนเปื้อนสารพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์นมปนเปื้อนเมลามีน หรือสินค้าประเภทของเล่นเด็ก”

“จะทำอย่างไรจีนจึงจะมีบทบาทด้านบวกในภาคการเงิน ภาคการผลิตและภาคสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ คือบทบาทที่แท้จริงของผู้นำเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของจีนมากกว่าประเทศใดๆ ทั้งสิ้น” รศ.ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ กล่าว

* ภาพโดยโครงการจับกระแสจีน ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรยายกาศการเข้าร่วมการอภิปราย
บรรยายกาศการเข้าร่วมการอภิปราย
กำลังโหลดความคิดเห็น