xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อถูกแย่งอาชีพทำมาหากิน ใครจะไปทนไหว?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมหลากหลายชนิดภายในร้านแห่งหนึ่งของนายมูฮัมหมัด อาบาบาคีรีชาวมุสลิมในเมืองคัชการ์ เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง(ซินเกียง)ซึ่งได้สืบทอดกิจการของครอบครัวจากรุ่นสู่ลูกมาเป็นรุ่นที่ 5 โดยร้านดังกล่าวเปิดกิจการอยู่ในเมืองอันเก่าแก่แห่ง เส้นทางสายไหม เส้นทางเศรษฐกิจอันเลื่องชื่อในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน-ภาพเอเอฟพี
เอเชียน วอลสตรีต - แม้การฆ่าชาวอุยกูร์ 2 คน ที่โรงงานทางตอนใต้คือตัวกระตุ้นโดยตรง ที่ทำให้ชาวอุยกูร์ก่อจลาจลในอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียงเมื่อเดือนก.ค.แต่ปัญหาที่ก่อตัวมายาวนานกว่า และกำลังเดือดกรุ่น ๆ อยู่ในเวลานี้ ก็คือความรู้สึกของชาวอุยกูร์ที่ว่า ชาวฮั่นกำลังเข้ามายึดครองเศรษฐกิจในซินเจียง และก็เป็นหัวอกเดียวกันกับชาวทิเบต ซึ่งก่อจลาจลต่อต้านชาวฮั่นในเขตปกครองตนเองทิเบตเมื่อปีที่แล้ว

ดังนั้น ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลจีนกำลังเผชิญอยู่เวลานี้คือจะมีวิธีกระจายความมั่งคั่ง ที่กำลังเพิ่มพูนในซินเจียงไปสู่พวกชนกลุ่มน้อยได้อย่างไร? ในเมื่อการทำมาค้าขายที่เคยอยู่ในความควบคุมของพวกเขากำลังหลุดลอยไปจากมือทุกที และสิ่งที่ชาวอุยกูร์จำนวนหนึ่งขมขื่นที่สุดก็คือชาวฮั่นดูเหมือนกำลังเข้ายึดครองตลาด ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการผลิตอาหารฮาลาลของชาวมุสลิม

ที่ตลาดใหญ่ในย่านธุรกิจของอูหลู่มู่ฉี จะเห็นรูปปั้นแกะสลักของพ่อค้าวาณิช ชาวอุยกูร์ตั้งเด่นสะดุดตาตรงบริเวณด้านนอกตลาด ตลาดแห่งนี้โฆษณาตัวเองว่าเป็นแหล่งขายสินค้านานาชนิด ที่ใหญ่โตในแถบเอเชียกลาง ไม่แพ้ตลาดที่นครอิสตันบูล หรือที่ซามาร์คันด์ในอุซเบกิสถาน ทว่าผู้ดำเนินกิจการกลับกลายเป็นชาวฮั่น ซึ่งอพยพจากถิ่นอื่น เข้ามาตั้งรกรากในซินเจียง

ขณะที่บริษัทผลิตอาหารฮาลาลรายใหญ่จำนวนหนึ่งไปตกอยู่ในมือของชาวฮั่น ยกตัวอย่าง ฮั่ว หลันหลัน นักธุรกิจหญิงชาวฮั่นแถวหน้า เจ้าของกิจการบริษัทซินเจียง เจียอี่ว์ อินดัสเตรียล แอนด์ เทรดดิงซึ่งผลิตอาหารฮาลาลถึง 46 ชนิด ปัจจุบันเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารฮาลาลใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในซินเจียง และยังผลิตส่งสายการบินแอร์ไชน่า สำหรับเที่ยวบินไปซินเจียงและชาติมุสลิมอื่น ๆ โดยนางฮั่วมีลูกจ้างทั้งหมด 300 คนแต่ส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น
ภาพถ่ายบรรยากาศในตลาดกลางเมืองอูหลู่มู่ฉี เมืองแอกของซินเจียง-ภาพเอเอฟพี
ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว ที่กำลังเฟื่องฟูในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยนำความแปลกตาของวัฒนธรรมชาวอุยกูร์มาเป็นจุดขายนั้น บริษัทของชาวฮั่นก็ดูเหมือนจะยึดพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น สายการบินประจำภูมิภาคยังถูกขายให้กับบริษัทการบินขนส่งรายหนึ่งของจีน โดยพวกอุยกูร์ได้เข้าทำงานก็แค่ในฝ่ายให้บริการ ซึ่งก็มีจำนวนน้อยคน

“สำหรับชาวอุยกูร์แล้ว ซินเจียงเป็นแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา แต่กลับไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจเลย” นายจิ่ง หวง ศาสตราจารย์ด้านการเมืองจีนของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์กล่าว

ในประเทศจีนนั้น ประชากรกว่าร้อยละ90 เป็นชนเชื้อสายฮั่น ส่วนที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายต่าง ๆ 55 กลุ่ม แม้รัฐบาลจีนมุ่งให้ความช่วยเหลือพวกชนกลุ่มน้อยด้วยนโยบายที่เอื้ออารีต่าง ๆ เช่น การให้โอกาสทางการศึกษา, การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการออกข้อกำหนดให้รับชนกลุ่มน้อยเข้าทำงาน

แต่นโยบายเหล่านี้กลับสร้างชาวอุยกูร์ชนชั้นร่ำรวยขึ้นมา ซึ่งก็มีจำนวนไม่มากนัก โดยคนเหล่านี้ได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะผู้ปกครองท้องถิ่น และขยับขึ้นสู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดในคณะผู้ปกครองของภูมิภาค
จากสถิติของทางการแสดงให้เห็นถึงช่องว่างรายได้ระหว่างชาวฮั่นกับชาวฮุยกูร์ ที่ยากจะแก้ไข โดยเศรษฐกิจของซินเจียงโตถึง 2 เท่าในช่วงปี 2545-2551 แต่ผลผลิตทางเศรษฐกิจร้อยละ60 ยังคงพึ่งทรัพยากรพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ดำเนินกิจการโดยชาวฮั่น และมีลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน

นอกจากนั้น ข้อมูลสถิติในชนบทยังแสดงนัยว่าคนอุยกูร์ไม่ได้รับความเท่าเทียม โดยชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่อาศัยในถิ่นบ้านนอก โดยเฉพาะในภาคใต้ของมณฑล จากสถิติของรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว รายได้ต่อปีของประชาชนทั้งหมดในชนบทของซินเจียงมีอัตราเฉลี่ย 3,800 หยวน (560 ดอลลาร์)

ทว่าประชาชนที่อาศัยในซินเจียงภาคใต้มีรายได้ต่ำกว่านั้นมาก เช่น ชาวบ้านในเมืองโคตัน (Khotan) ซึ่งเป็นเมืองโอเอซิส มีรายได้เพียง 2,226 หยวนต่อปี

ขณะที่เกษตรกรรมทางภาคเหนือ ซึ่งแห้งแล้งน้อยกว่า และมีการส่งเสริมการปลูกฝ้ายนั้น ตกอยู่ในกำมือของบริษัทซินเจียง โปรดักชัน แอนด์ คอนสตรักชัน คอร์ป ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งการทหาร และจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาความสงบในภูมิภาค

ตัวอย่างการถูกรุกไล่อาชีพการทำมาหากิน ที่เห็นชัดเจนอีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่กรณีตลาดแกรนด์ บาซาร์ ในย่านธุรกิจของอูหลู่มู่ฉี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นถิ่นของนายทุนชาวอุยกูร์ แต่ต่อมา ตลาดได้ถูกรื้อถอนเป็นส่วนใหญ่ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวฮ่องกงและบริษัท ซินเจียง แกรนสเคบ กรุ๊ปได้เข้ามาก่อสร้างขึ้นใหม่ในปี 2546

หรือกรณีของคาชการ์ เมืองแห่งเส้นทางค้าไหมในสมัยโบราณนั้น ปรากฏว่า นายกเทศมนตรีเมือง ซึ่งเป็นชาวฮั่น ได้สั่งรื้อถอนเขตเมืองเก่า และชาวอุยกูร์มากมายดูท่าทางหงุดหงิดกับเรื่องนี้

สำหรับตลาดแกรนด์ บาซาร์ ที่สร้างขึ้นใหม่นี้ มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาปักหลักเช่า เช่น เคนตักกี ฟรายด์ ชิกเคน และห้างคาร์ฟูร์ ของฝรั่งเศส โดยกิจการทั้งสองรายดำเนินงานโดยชาวจีนเชื้อสายฮั่น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังไม่เปิดในตอนนี้ เพราะผู้เช่าหลายรายซึ่งเป็นชาวฮั่นยังไม่กล้ากลับมาที่นี่หลังจากเกิดเหตุจลาจล

ที่อีกฟากของถนนนั้น สภาพตลาดเก่ายังคงมีหลงเหลือให้เห็น ชาวอุยกูร์ยังเปิดร้านขายของอยู่บ้างตามตรอกซอกซอย ตำรวจปราบจลาจลยังคงรักษาความสงบอยู่ทั่วไปในพื้นที่แถบนี้ ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของอูหลู่มู่ฉีกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว

“เราไม่ได้รับการจัดการดูแลที่ดีนัก ไม่เหมือนชาวฮั่น” พ่อค้าชาวอุยกูร์ ซึ่งเปิดแผงขายกางเกงยีนส์ตัดพ้อ
“ตอนนี้ พวกเขามีตลาดกันแล้วนะ”
กำลังโหลดความคิดเห็น