xs
xsm
sm
md
lg

จลาจลในซินเจียงตายแล้ว140เจ็บกว่า 800 จีนโทษ ‘สภาอุยกูร์โลก’ อยู่เบื้องหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ฉายให้เห็นหญิงสาว 2 คนบาดเจ็บจากการจลาจลในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา - AFP
รอยเตอร์/เอเอฟพี – จลาจลในซินเจียงมีผู้เสียชีวิตแล้ว 140 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 800 ราย คาดตัวเลขผู้เสียชีวิตยังจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจีนโทษสภาอุยกูร์โลกอยู่เบื้องหลังเหตุจลาจลครั้งนี้ โดยมีการแบ่งแยกดินแดนเป็นเหตุจูงใจ ขณะที่ผู้แทนชาวอุยกูร์พลัดถิ่นชี้ นโยบายของทางการจีนและการเลือกปฏิบัติต่างหาก ที่ทำให้อารมณ์แค้นฝังลึกของชาวอุยกูร์ระเบิดขึ้นในครั้งนี้

เหตุจลาจลดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (5 ก.ค.) ที่เมืองอุรุมชี เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง โดยผู้ประท้วงได้ปิดถนนและเผายวดยานพาหนะต่างๆ ทั้งยังปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยปราบจลาจล โดยการประท้วงครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อปลายเดือยมิ.ย. ได้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวฮั่นกับคนงานชาวอุยกูร์ ส่งผลให้มีชาวอุยกูร์เสียชีวิต 2 ราย

สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ได้รายงานในช่วงเช้าวันจันทร์ (6 ก.ค.) โดยอ้าง นายหลี่ จื้อ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในเมืองอูหลู่มู่ฉี ว่าจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 140 ราย และคาดว่าตัวเลขจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ตัวเลขจากฝ่ายตำรวจระบุว่ามีผู้เสียชีวิตราว 129 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 816 ราย

ส่วนจำนวนผู้ร่วมประท้วงบนท้องถนนนั้น หน่วยงานของรัฐบาลจีนรายงานว่ามีประมาณ 300-500 คน ขณะที่แหล่งข่าวอื่นๆ ระบุว่ามีประมาณ 3,000 คน นอกจากนี้ สำนักข่าวซินหัวยังได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ที่เข้าร่วมในเหตุการณ์รุนแรงได้หลายร้อยคน ในจำนวนนี้มีแกนนำการประท้วงรวมอยู่ด้วยกว่า 10 คน

ขณะที่ภาพข่าวของสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของรัฐบาลจีนจากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ ปรากฎภาพชายคนหนึ่งกำลังทุบกระจกรถของตำรวจ และหญิงคนหนึ่งกำลังถูกเตะทั้งที่นอนอยู่บนพื้น รวมทั้งภาพรถโดยสารและยานพาหนะอื่นๆ ถูกจุดไฟเผา

หญิงชาวจีนรายหนึ่งที่มองดูเหตุการณ์จากชั้นที่ 11 ของโรงพยาบาลท้องถิ่น เล่าว่า “ชาวอุยกูร์ใช้ก้อนหินขว้างคนขับรถจักรยานยนต์ พวกเขาทำร้ายแต่ชาวฮั่น มีรถโดยสารอย่างน้อย 10 คันที่ถูกเผา และมีรถยนต์จำนวนหนึ่งพลิกคว่ำอยู่ ฉันเห็นคนหลายคนนอนอยู่บนพื้นและมีเลือดไหล มีเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งเสียชีวิต ”

ด้านผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์รายหนึ่ง กล่าวหาว่า กองกำลังของรัฐบาลได้ตอบโต้ผู้ชุมนุมกว่าพันคนที่ทำการประท้วงอย่างสงบด้วยความรุนแรงเกินไป และตำรวจยังได้ยิงกราดเข้าไปในฝูงชน

ขณะที่ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี รายงานว่า ตำรวจปราบจลาจลและกองกำลังของรัฐบาล ได้ติดอาวุธด้วยปืนกลและมีโล่ป้องกัน และยังมีรถบรรทุกเจ้าหน้าที่พร้อมสุนัขตำรวจเข้าไปในเมืองอูหลู่มู่ฉี โดยเจ้าหน้าที่ได้สั่งให้นำรถทุกชนิดออกจากถนนเพื่อป้องกันการประท้วงที่อาจเกิดขึ้นอีก และถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิมก็ถูกปิดทางเข้า-ออก
ฝูงชนกำลังผลักรถตำรวจคันหนึ่งที่เมืองอุรุมชีของซินเจียง - AFP
นายอลิม เซย์ตอฟ เลขาธิการสมาคมชาวอเมริกันเชื้อสายอุยกูร์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้าไปตรวจค้นตามหอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อค้นหานักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงและการจลาจลในครั้งนี้

พร้อมกันนี้ นายเซย์ตอฟ ยังได้ส่งภาพจากการประท้วงผ่านทางอีเมล์ โดยมีภาพชาวบ้านนับร้อยเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาพรถปราบจลาจลจอดอยู่ตามท้องถนน ภาพพลเรือนนอนเลือดอาบอยู่บนท้องถนน และภาพตำรวจปราบจลาจลพร้อมโล่ห์ป้องกันและกระบอง

สำนักข่าวซินหัวรายงานอีกว่า รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว และยังไม่มีรายงานความรุนแรงในพื้นที่อื่นของซินเจียง ขณะที่ นายหยาง จิน พ่อค้าขายผลไม้แห้งในเมืองอูหลู่มู่ฉีให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า “แม้ว่าโดยปกติแล้วเมืองนี้จะอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดว่าเขาไม่กลัว และความสงบที่เป็นอยู่ ก็เป็นเพียงแค่ชั่วขณะนี้เท่านั้น”

ขณะที่ แถลงการณ์ของรัฐบาลมณฑลซินเจียง ได้กล่าวโทษนางรอบียะ กอดีร์ ผู้นำชาวอุยกูร์ที่ขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ ว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความไม่สงบในครั้งนี้

“การตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่าความรุนแรงในครั้งนี้บงการโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสภาอุยกูร์โลก ที่นำโดยนางรอบียะ กอดีร์ และนี่ถือเป็นอาชญากรรมของความรุนแรงที่มีการจัดตั้งและไตร่ตรองไว้ก่อน“ แถลงการณ์ระบุ

นางรอบียะ กอดีร์ เป็นนักธุรกิจหญิงชาวอุยกูร์ ที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ หลังจากติดคุกมานานหลายปี เธอคือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน และยังไม่เคยออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหานี้

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของทางการจีน โดยบอกว่า การจลาจลครั้งนี้เป็นการระเบิดอารมณ์แค้นฝังลึกของชาวอุยกูร์ ที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลจีน และการที่ชาวฮั่นเป็นผู้ยึดครองโอกาสทางเศรษฐกิจเพียงฝ่ายเดียว

“ความโกรธแค้นนี้มีมานานแล้ว มันเริ่มจากการรวมตัวกันอย่างสันติ จากนั้นผู้ประท้วงหลายพันคนก็ได้ตะโกนให้หยุดการเลือกปฏิบัติต่อชนเผ่าอุยกูร์“ นายดิลซัท ราซิท โฆษกสภาอุยกูร์โลก ซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศสวีเดน ระบุ

ขณะที่ นายนิโคลัส เบเควลิน นักวิจัยจากองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ที่ได้ศึกษาปัญหาในซินเจียงมานาน ให้ความเห็นว่า “รัฐบาลจีนกำลังใช้วลีที่เป็นสูตรสำเร็จ ในการระบุว่าปัญหาของชนกลุ่มน้อยเกิดจากการวางแผนจากนอกประเทศ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะทำให้เกิดการแบ่งขั้วของชนกลุ่มน้อยในซินเจียง”

นักวิจัยรายนี้ ยังกล่าวอีกว่า “ปฏิกิริยาโต้ตอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนที่มีต่อชนกลุ่มน้อยในซินเจียงนี้ เหมือนกับสิ่งที่เราเห็นในทิเบตเข้าไปทุกวัน กล่าวคือ มีการกดดันมากขึ้น และมีการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น” นายเบเควลิน กล่าว

ซินเจียงถือเป็นประตูสู่ประเทศแถบเอเชียกลาง ซึ่งจีนมีความสัมพันธ์ด้านการค้าและพลังงานด้วย ประชากรในมณฑลนี้มีทั้งสิ้น 20 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นชนเผ่าอุยกูร์ ทางการจีนได้ออกกฎขึ้นมามากมายเพื่อควบคุมชนกลุ่มน้อยนี้ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ชาวฮั่นเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในเมืองอุรุมชีซึ่งเป็นเมืองหลวง

ซินเจียงเป็นเขตปกครองหนึ่งที่ร่ำรวยแก๊สธรรมชาติ รวมทั้งแร่ธาตุสำคัญ และยังเป็นแหล่งกสิกรรม แต่ชาวอุยกูร์กลับรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับส่วนแบ่งของความมั่งคั่งจากทรัพยากรเหล่านี้

ปัญหาด้านความมั่นคงในซินเจียงทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2551 โดยเฉพาะในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีการโจมตีสถานที่สำคัญหลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่า เป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้าย ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนและนักเคลี่อนไหวเพื่ออิสระภาพของชาวอุยกูร์มองว่า รัฐบาลจีนพยายามสร้างภาพกลุ่มก่อการร้ายให้เกินจริง เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการควบคุมพื้นที่นี้

คลิกอ่าน “กบฏซินเจียงเป็นใครน่ะ?”
กำลังโหลดความคิดเห็น