xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลฮุนเซนใช้วิธีฟ้องแหลกสยบเสียงวิจารณ์ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: แซม แคมป์เบลล์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Reality off the rails in Phnom Penh
By Sam Campbell
25/06/2009

พรรครัฐบาลและนายกรัฐมนตรีฮุนเซนผู้สุดแสบสันต์ของกัมพูชา ไม่ได้ปฏิบัติต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเมตตาเลยในทุกวันนี้ กระแสของการปฏิเสธข่าวอย่างพิลึกพิลั่นและการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทอย่างชุกชุมในเวลานี้ กำลังเสี่ยงที่จะทำให้พวกนักการเมืองซึ่งแท้ที่จริงไม่ได้โดดเด่นอะไรเลยกลับกลายเป็นนักต่อสู้ผู้เสียสละเพื่ออุดมการณ์ อีกทั้งทำให้พวกชาติผู้บริจาคทางตะวันตกเกิดความแปลกแยก และสร้างความหวั่นหวาดให้แก่ประชาคมนักธุรกิจระหว่างประเทศ ดูเหมือนว่ากัมพูชากำลังทำการประท้วงมากเกินไปเสียแล้ว

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**ข้อหาหมิ่นประมาทที่ชวนให้สับสน**

ขณะเดียวกัน ข้อพิพาทที่ยังเป็นคดีความกันอยู่ระหว่าง มู สุจัว (Mu Sochua) สมาชิกสมัชชาแห่งชาติสังกัดพรรคสม รังสี กับ ฮุนเซน ก็เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงการฟ้องร้องตอบโต้กันไปมาอย่างชุลมุนวุ่นวาย ซึ่งก็เป็นตัวแทนของการข่มขู่คุกคามต่อการถกเถียงอภิปรายแบบประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา พรรคซีพีพีได้อาศัยพวกกฎหมายหมิ่นประมาทที่แสนจะล้าสมัยมาปิดปากพวกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมีทั้งเหล่าผู้นำสหภาพแรงงาน, นักหนังสือพิมพ์, และผู้นำฝ่ายค้าน

ตามคำฟ้องร้องซึ่ง มู สุจัว ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 27 เมษายน นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้แสดงความคิดเห็นระหว่างการกล่าวปราศรัยในวันที่ 4 เมษายน ที่เธอกล่าวหาว่าเป็นคำพูดหมิ่นประมาท ทั้งนี้ค่าชดเชยที่เธอเรียกร้องมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ คำขอโทษ คำฟ้องนี้ระบุว่า ฮุนเซนทำให้มู สุจัวเสื่อมเสียชื่อเสียง ด้วยการเล่าถึงสมาชิกรัฐสภาสตรีผู้หนึ่งจากจังหวัดกัมโปต (Kampot) ได้ไปสวมกอดนายพลคนหนึ่ง แล้วเวลาต่อมาเธอก็บ่นพึมว่ากระดุมเสื้อของเธอได้หลุดออกมาหลายเม็ด ก่อนหน้านี้ มู สุจัว ซึ่งเป็น ส.ส.จากจังหวัดกัมโปตเพียงคนเดียวที่เป็นผู้หญิง ได้เคยร้องเรียนว่ามีการลงคะแนนเสียงแบบผิดปกติ รวมทั้งมีการข่มขู่กรรโชกทางร่ายกายจากพวกเจ้าหน้าที่พรรคซีพีพีด้วย ในช่วงเวลาใกล้จะถึงการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติ (ซึ่งก็คือสภาผู้แทนราษฎร) เมื่อปี 2008 ปรากฏว่าคำร้องของเธอได้ถูกยกไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ทว่าหลังจากนั้นนายกรัฐมนตรียังคงเดินหน้าตอบโต้เอาคืน ด้วยการฟ้องร้องมู สุจัวในข้อหาหมิ่นประมาท และคดีนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ปรากฏว่า กง ซัม ออนน์ (Kong Sam Onn) ทนายความผู้ว่าความแก้ต่างให้มู สุจัว ก็กำลังถูกฟ้องร้องด้วย จากการจัดประชุมแถลงข่าวซึ่งเขาถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีด้วยการระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้หมิ่นประมาทลูกความของเขา เวลานี้เนติบัณฑิตยสภาของกัมพูชายังได้เริ่มต้นสอบสวนกรณีนี้แล้ว ในประเด็นที่กง ซัม ออนน์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจริยธรรมทนายความ ด้วยการพูดถึงเรื่องคดีต่อสาธารณชน

สมัชชาแห่งชาติได้ลงมติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ให้ยกเลิกสิทธิคุ้มครองสมาชิกรัฐสภาของมู สุจัว ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ทางการสามารถฟ้องร้องเล่นงานเธอในความผิดทางอาญาได้ ฮุนเซนชี้เอาไว้ในวันที่ 17 มิถุนายนว่า คะแนนเสียงข้างมากสองในสามของสภาที่จะต้องได้มาเพื่อยกเลิกสิทธิคุ้มครองนั้น ก็เป็นสัดส่วนคะแนนที่จำเป็นเช่นกันหากจะคืนสิทธิดังกล่าว เขายังใช้โอกาสตอนนั้นข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องคดีเพิ่มเติมอีกกับพวกเอ็นจีโอที่คอยมาสาระแน

แม้กระทั่งบุคคลที่แสดงตัวเป็นนักชาตินิยม ก็ยังไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้อย่างปลอดภัยเลย ดังที่ เมือง ซอนน์ (Moeung Sonn) ผู้ประกอบการบริษัททัวร์ในท้องถิ่น และเป็นประธานมูลนิธิอารยธรรมชาวเขมร ประสบพบเจอด้วยตัวเอง เมือง ซอนน์ ถูกรัฐบาลฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 2,400 ดอลลาร์ หลังจากเขาพูดระบุระหว่างการประชุมแถลงข่าวว่า แสงไฟที่ติดตั้งใหม่ในนครวัด น่าจะสร้างความเสียหายให้แก่ปราสาทระดับตำนานแห่งนี้ เมือง ซอนน์นั้นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสนับสนุนรัฐบาลในประเด็นทางวัฒนธรรมและดินแดน อีกทั้งเป็นผู้บริจาคเงินรายสำคัญรายหนึ่งให้แก่พวกทหารกัมพูชาที่ตั้งประจำอยู่ตามพื้นที่พิพาทใกล้ๆ กับเขาพระวิหาร เมื่อถูกรัฐบาลเล่นงานเช่นนี้ เขาเลยต้องหลบหนีไปยังฝรั่งเศส เพื่อไม่ให้ถูกจับกุมตัว

ขณะที่ข้อมูลในเวลาต่อมาบ่งชี้ว่า แสงไฟที่ติดตั้งเหล่านั้นไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่โบราณสถานแห่งสำคัญยิ่งยวดนี้หรอก ทว่าปฏิกิริยาตอบโต้อย่างโหดๆ ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ปรารถนาดีเช่นนี้ ย่อมบ่งชี้ว่าจะไม่มีการยินยอมให้เปล่งเสียงแห่งการไม่เห็นด้วยกับทางการกันอีกแล้ว

ผู้นำฝ่ายค้าน สม รังสี, หอ วรรณ (Ho Vann) ส.ส.อีกคนหนึ่งของพรรคเอสพีอาร์ (ซึ่งก็ถูกยกเลิกสิทธิคุ้มครองสมาชิกรัฐสภาเช่นกัน), และ ฮัง จักรา (Hang Chakra) บรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์ ขะแมร์ มัจฉาส ซะโรก (Khmer Machas Srok) ก็กำลังถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทเช่นเดียวกัน

**กัมพูชาฟ้องร้องกันมากไปแล้ว**

แนวโน้มที่มุ่งไปสู่การขาดขันติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ไม่ใช่ดำเนินไปโดยไม่มีผู้ใดสังเกตเห็น คำแถลงลงวันที่ 15 มิถุนายนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำกัมพูชา มีเนื้อความแบบเตือนภัย โดยระบุว่า “การติดตามเอาเรื่องกันดังที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ อาจจะสร้างความถอยหลังให้แก่การเดินหน้าของกระบวนการพัฒนาทางประชาธิปไตยที่ยังคงเปราะบางยิ่งในกัมพูชา”

“การยื่นฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทที่เป็นความผิดทางอาญา ตลอดจนในคดีจงใจเผยแพร่ความเท็จ ได้พุ่งพรวดขึ้นมามากในระยะไม่นานมานี้ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการมุ่งฟ้องพวกนักการเมือง, นักหนังสือพิมพ์, และบุคคลอื่นๆ ที่กำลังแสดงทัศนะของพวกเขาด้วยวิธีการสันติ ในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณชน การฟ้องร้องเหล่านี้จึงกำลังกลายเป็นการข่มขู่คุกคาม เพื่อขัดขวางยับยั้งสิ่งที่ควรจะเป็นการอภิปรายถกเถียงและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดทัศนะต่างๆ ในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณชนเหล่านี้” สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นระบุเอาไว้เช่นนี้

องค์กรแห่งนี้ยังเตือนด้วยว่า การกดขี่เสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีการดังกล่าว “คือภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อพัฒนาการทางประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะบ่อนทำลายความพยายามที่กระทำกันตลอด 16 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งขันติธรรมและการยอมรับความหลากหลายขึ้นมาใหม่ในกัมพูชา” ในวันเดียวกันนั้นเอง ฮิวแมน ไรตส์ วอตช์ (Human Rights Watch) องค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาขอร้องให้ซีพีพียุติ “การข่มขู่คุกคาม, การรังควาญ, และการกลั่นแกล้งฟ้องร้องทางกฎหมาย ต่อพวกสมาชิกรัฐสภาและพวกทนายความที่กำลังปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

การปราบปรามเล่นงานพวกฝ่ายค้านทางการเมืองเช่นนี้ยิ่งน่าพิศวงงงงวยขึ้นไปอีก เมื่อพิจารณาจากแง่มุมที่ว่า พรรคซีพีพีสามารถครองครองที่นั่ง 90 ที่จากทั้งหมด 123 ที่ จึงควบคุมสมัชชาแห่งชาติเอาไว้ได้อย่างแน่นหนามั่นคงอยู่แล้ว นอกจากนั้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาปี 2008 ที่โดยภาพรวมแล้วได้รับการยกย่องว่าเป็นไปอย่างเสรีและอย่างยุติธรรมนั้น ก็มีผู้ออกมาใช้สิทธิกัน 58% ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยจัดการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติกันมา อันสะท้อนให้เห็นว่าพรรคซีพีพีนั้นได้รับความสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง

นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า จากการฟ้องร้องเล่นงานพวกฝ่ายค้านที่ความจริงก็แตกแยกกันเอง และโดยทั่วไปไร้น้ำยาไม่มีอำนาจอะไรอยู่แล้ว รัฐบาลก็กลับจะเผชิญความเสี่ยงที่จะทำให้พวกนักการเมืองซึ่งแท้ที่จริงไม่ได้โดดเด่นอะไรเลยกลายเป็นนักต่อสู้ผู้เสียสละเพื่ออุดมการณ์ และบางทีเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ ฮุนเซนกำลังเสี่ยงที่จะทำให้ต่างประเทศที่เป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือ ตลอดจนแวดวงธุรกิจต่างชาติเกิดความรู้สึกแปลกแยก หลังจากที่ประเทศและนักธุรกิจต่างแดนเหล่านี้เอง เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญทีเดียวในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สหรัฐอเมริกา ชาติผู้บริจาครายใหญ่รายหนึ่ง ตลอดจนเป็นผู้จัดหาความช่วยเหลือและความสนับสนุนทางเทคนิคที่สำคัญต่างๆ ทั้งนี้ยังไม่ต้องเอ่ยว่าเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกัมพูชาด้วยนั้น กำลังมีท่าทีตำหนิวิจารณ์เหตุการณ์ต่างๆ ที่ปะทุพลิกตัวขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้

“ดูเหมือนจะมีการใช้ศาลยุติธรรมเพื่อมุ่งสงบเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล” จอห์น จอห์นสัน โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯกล่าวกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ คือสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายตลอดทั่วทั้งโลก และบุคคลสาธารณะตลอดจนนักการเมืองพึงต้องเตรียมตัวที่จะรับทั้งคำชมเชยและคำวิจารณ์จากประชาชนเมื่อพวกเขาทำการปกครอง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางประชาธิปไตย”

นี่คือความเป็นจริงทางประชาธิปไตยที่ดูเหมือนรัฐบาลฮุนเซนยังไม่ค่อยปรารถนาที่จะเผชิญ

แซม แคมป์เบลล์ เป็นผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการที่พำนักอยู่ในกัมพูชา
  • รัฐบาลฮุนเซนใช้วิธีฟ้องแหลกสยบเสียงวิจารณ์ (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น