xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์กัมพูชา-เวียดนามยิ่งแนบแน่น(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: สตีเฟน เคิร์คซี

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Cambodia, Vietnam re-affirm their vows
By Stephen Kurczy
22/04/200922/07/2008

ขณะที่ความสัมพันธ์ของกัมพูชากับไทยอยู่ในอาการหล่นฮวบสืบเนื่องจากความขัดแย้งกันถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตในกรณีปราสาทพระวิหาร ตลอดจนความปั่นป่วนผันผวนทางการเมืองในประเทศไทยนั้น ความผูกพันของพนมเปญกับเวียดนาม (ซึ่งเป็นประเทศที่โค่นล้มเขมรแดง) กลับกำลังดีวันดีคืน ทว่าไม่ใช่ประชาชนชาวกัมพูชาทั้งหมดหรอก ที่รู้สึกพึงพอใจกับการมีสายสัมพันธ์อย่างแนบสนิทกับผู้เป็นศัตรูแต่ครั้งอดีตของพวกเขา และบางคนก็บอกว่าแท้ที่จริง ฮานอยผู้เป็น“พี่ชายใหญ่”คือผู้ที่คอยบงการอยู่เบื้องหลังมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นเกิดความตึงเครียดขึ้นมา สืบเนื่องจากฮุนเซนถูกเข้าใจว่าเป็นเพื่อนสนิทของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกโค่นลงจากตำแหน่งและเวลานี้กำลังหลบลี้หนีภัยอยู่ต่างประเทศ ทักษิณมีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าให้เกิดการจลาจลตามท้องถนนของพวกผู้สนับสนุนเขาเมื่อเร็วๆนี้ ทั้งนี้ตอนกลางเดือนเมษายน เอเชียไทมส์ออนไลน์ได้เป็นผู้รายงานข่าวก่อนใครเพื่อนว่า ในระยะสองปีที่ผ่านมา พวกกลุ่มนิยมทักษิณได้แอบลักลอบขนอาวุธผ่านกัมพูชา ไปให้แก่พวกผู้สนับสนุนทักษิณตามจังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือแพร่สะพัดกว้างขวางโดยผ่านช่องทางสื่อไทยบางแห่ง ว่าพวกผู้นำการประท้วงของทักษิณที่กำลังหลบหนีอยู่ ได้ข้ามชายแดนไปลี้ภัยยังเกาะกงของกัมพูชา และว่าอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นิราศผู้นี้ก็ได้ไปเยี่ยมคนเหล่านี้ในช่วงปลายๆ เดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของกัมพูชาพากันปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า ทักษิณไม่ได้เข้าประเทศของพวกเขา รวมทั้งช่วงปลายๆ เดือนเมษายนที่กล่าวอ้างกันนี้ด้วย

อันที่จริง นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า ความปั่นป่วนวุ่นวายในประเทศไทยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยกลายเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่มีเสน่ห์ลดน้อยลง และเร่งให้กัมพูชาหันไปแสวงหาสายสัมพันธ์ทางการทูตที่อื่น “ตั้งแต่ที่ทักษิณถูกโค่นล้มจากตำแหน่ง ประเทศไทยก็อยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคงเสียเลย ส่งผลให้เกิดการชะลอในอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกเขา” เคียง อัน (Kheang Un) นักวิจัยรับเชิญ ณ ศูนย์กลางเพื่อประชาธิปไตยเอเชีย (Center for Asian Democracy) แห่งมหาวิทยาลัยหลุยสวิลล์ มลรัฐเคนทักกี พูดไว้ทางอีเมล์เมื่อเร็วๆ นี้ เขาบอกต่อไปว่า ผลก็คือพวกนักธุรกิจกัมพูชาลังเลที่จะมาลงทุนค้าขายกับประเทศไทย

ทั้งนี้ การค้าระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาได้กระโจนพรวดขึ้น 31% ในปี 2008 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จนมาอยู่ในระดับเกือบๆ 1,700 ล้านดอลลาร์ การค้าทวิภาคีกับประเทศไทยยังคงมากกว่า ทว่าเพิ่มขึ้นเพียง 17% เป็น 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 สินค้าเวียดนามไหลท่วมตลาดกัมพูชา และในปี 2007 กับ 2008 คนกัมพูชาซื้อสินค้าผู้บริโภคของเวียดนามมากกว่าที่พวกเขาซื้อผลิตภัณฑ์จากประเทศอื่นใด สำนักข่าวสารเวียดนามรายงานเอาไว้เช่นนี้ตอนต้นเดือนเมษายน ยอดขายผลิตภัณฑ์ของเวียดนามให้แก่ผู้บริโภคชาวกัมพูชาอยู่ในระดับเท่ากับ 988 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 เปรียบเทียบกับยอดขายสินค้าไทยซึ่งอยู่ที่ 674 ล้านดอลลาร์

“พวกนักลงทุนท้องถิ่นทุกคนต่างต้องการทำธุรกิจกับเวียดนาม และพวกธุรกิจเวียดนามทั้งหมดก็ต้องการทำธุรกิจที่นี่” ประธานหอการค้ากัมพูชา โงนเมงเตก (Nguon Meng Tech) กล่าว “ถ้าความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างดีจากรัฐบาลหนึ่งสู่รัฐบาลหนึ่ง นั่นย่อมดีกว่าความสัมพันธ์กับอีกรัฐบาลหนึ่งซึ่งมีปัญหากันตรงชายแดน ... ผมไม่คิดว่าธุรกิจ[ของกัมพูชา]ต้องการที่จะทำธุรกิจกับประเทศไทยนักหรอก”

**การทูตแบบฉวยโอกาส**

เวียดนามกำลังพยายามหาทางอาศัยความได้เปรียบจากการที่ประเทศไทยประสบปัญหาวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ และความขัดแย้งทางชายแดนที่คุกรุ่นอยู่เรื่อยๆ เพื่อเข้าแทนที่ไทยในฐานะเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของกัมพูชา นี่เป็นคำกล่าวของ ส.ส.สมรังสี (Sam Rainsy) ผู้นำพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์สายสัมพันธ์ที่ฮุนเซนมีอยู่กับฮานอยอยู่บ่อยครั้ง

“นี่เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีขอบเขตใหญ่กว่านี้อีกในภูมิภาคแถบนี้ โดยที่ความตึงเครียดที่มีอยู่กับประเทศไทยเวลานี้กลายเป็นประโยชน์แก่เวียดนาม เพราะเวียดนามสามารถเพิ่มอิทธิพลของตนเหนือกัมพูชา” สมรังสีบอก โดยเชื่อมโยงสถานการณ์ในปัจจุบันเข้ากับเมื่อปี 2003 ตอนที่คำพูดของฮุนเซนที่กล่าวหาว่านักแสดงหญิงชาวไทยผู้หนึ่งอ้างว่าปราสาทนครวัดเป็นของไทย ได้ทำให้เกิดการจลาจลต่อต้านคนไทยขึ้นในกรุงพนมเปญ

คนกัมพูชาได้เผาสถานเอกอัครราชทูตไทยและทุบทำลายกิจการธุรกิจของคนไทย ทำให้เเสียหายไปหลายล้านดอลลาร์ “การค้าจากประเทศไทยจึงเสื่อมทรุดลง [ในปี 2003] และเวียดนามก็มีอิทธิพลทางการเมืองเหนือกัมพูชาอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ... ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในบริเวณชายแดนคราวนี้ก็กำลังก่อให้เกิดผลแบบเดียวกัน ทว่าให้ผลยืนยาวยิ่งกว่าด้วย” สมรังสีกล่าวต่อ เขาเชื่อว่ากลุ่มผู้ฝักใฝ่เวียดนามภายในพรรคซีพีพี โหมกระพือกระแสต่อต้านไทยเพื่อ “ทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศไทยอ่อนแอลง รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการค้าด้วย แล้วไปหนุนส่งความสัมพันธ์ที่มีกับเวียดนาม”

พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชาที่อยู่ข้างพรรคซีพีพีต่างดูหมิ่นหยามเหยียดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ การทำข้อตกลงทางการทูตและทางการค้าจำนวนมากกับเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้ “ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษเลย” ฟาย สีฟาน (Phay Siphan) โฆษกคณะรัฐมนตรีกัมพูชากล่าว ทางด้าน เขียว กัณหฤทธิ์ รัฐมนตรีแถลงข่าวก็ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแนวโน้มที่ผิดธรรมดาอะไร “ถ้าหากมีความร่วมมือกับเวียดนามเพิ่มมากขึ้นแล้ว มันก็ย่อมจะสร้างความสงสัยให้แก่จีนและสหรัฐฯ” เขียว กัณหฤทธิ์ บอก

ทางด้านนักวิชาการอย่าง เคียง อัน โต้แย้งว่าทั้งสหรัฐฯและจีน หรือกระทั่งไทย ไม่ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความสัมพันธ์กัมพูชา-เวียดนามที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นหรอก “ทั้ง 3 ชาติไม่มีใครมองเวียดนามเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของพวกเขา เหมือนกับที่พวกเขาได้เคยมองในยุคสงครามเย็น ในช่วงซึ่งพวกเขามีทัศนะว่าเวียดนามเป็นตัวแทนของมอสโกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เขาบอก “ทันทีที่พวกนักการเมืองไทยจัดการให้บ้านเมืองของพวกเขาอยู่ในความสงบแล้ว ความสัมพันธ์ไทย-เขมรก็จะเป็นปกติ”

กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มยังคงหวั่นเกรงเรื่องที่กัมพูชาทำท่าหันเหไปทางตะวันออกเช่นนี้ เนื่องจากการปฏิบัติของกัมพูชาต่อชนชาวเขามองตานญาด (Montagnard) และชนกลุ่มน้อยขะแมร์กรอม (Khmer Krom)ที่ถูกกล่าวหากันว่าเป็นการกระทำอย่างทารุณโหดร้ายนั้น น่าจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่ากัมพูชากำลังรับฟังคำแนะนำจากเพื่อนบ้านที่มั่งคั่งกว่าและใหญ่กว่ารายนี้ พวกมองตานญาด ซึ่งเป็นคำรวมๆ เรียกชาวเขาชาวเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงตอนกลางของเวียดนามนั้น ได้เดินทางข้ามเข้าไปในกัมพูชามาหลายปีแล้ว เพื่อขอฐานะเป็นผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ แต่แล้วก็กลับถูกพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของกัมพูชาผลักดันให้กลับไปเวียดนาม

นอกจากนั้น ชนเชื้อชาติกัมพูชา 6 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของเวียดนาม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามขะแมร์กรอม ก็ตกเป็นเป้าหมายและในบางกรณีได้ถูกจับกุมคุมขังโดยพวกเจ้าหน้าที่เวียดนามโทษฐานนับถือศาสนาพุทธ พวกเขายังเผชิญการปราบปรามจากรัฐบาลกัมพูชาด้วย จากการที่พยายามประท้วงร้องเรียนเรื่องถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายในเวียดนาม องค์การฮิวแมน ไรต์ส วอต์ช (Human Rights Watch) อันเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ แถลงว่า ฮานอยมีเจตจำนงอย่างแข็งขันมาก ในการติดตาม, แทรกแซง, และสยบพวกนักเคลื่อนไหวชาวขะแมร์กรอม

“รัฐบาลของเราปรารถนาเหลือเกินที่จะเอาอกเอาใจรัฐบาลเวียดนาม” เคก กาลาบรู (Kek Galabru) กล่าว เธอเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนระดับท้องถิ่นที่ใช้ชื่อว่า ลิคาโธ (LICADHO) กาลาบรูได้พบฮุนเซนเป็นครั้งแรกในปี 1983 ที่ประเทศอังโกลา โดยตอนนั้นสามีผู้ล่วงลับของเธอกำลังทำหน้าที่เป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำอังโกลา เธอได้เชิญฮุนเซนไปที่บ้านของเธอ แล้วฮุนเซนที่ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหนุ่มฟ้อ ก็ทำให้เธอเชื่อว่า เขา “ไม่ได้เป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม” กาลาบรูบอกกับนักหนังสือพิมพ์ เอลิซาเบธ เบคเกอร์ ในหนังสือเรื่อง “When the War was Over”

“ตอนนี้ความเห็นของดิฉันเปลี่ยนไปแล้ว” กาลาบรูบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ “ตั้งแต่ดิฉันกลับมายังกัมพูชาในปี 1992 ดิฉันก็เห็นว่าสิ่งต่างๆ กำลังดำเนินไปอย่างผิดเพี้ยน”

พวกกลุ่มสิทธิมนุษยชนหยิบยกกรณีของ ทิม สาคร (Tim Sakhorn) พระสงฆ์ชาวขะแมร์กรอม ซึ่งได้แจกจ่ายจดหมายข่าวและจัดตั้งการประท้วงต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ทางการเวียดนามยอมจ่ายเงินชดเชยแก่ชาวขะแมร์กรอม ซึ่งได้ถูกปล้นชิงที่ดินทำกินไป ปรากฏว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของกัมพูชาจับสึกในปี 2007 และถูกเนรเทศกลับไปเวียดนาม ที่นั่นเขาถูกจำคุกในข้อหา “บ่อนทำลายความสามัคคี” ระหว่างประเทศทั้งสอง นับแต่นั้นเขาก็หาทางขอลี้ภัยในประเทศไทย

“ใครเป็นคนสั่งให้สึกทิม สาคร เขาทำผิดอะไรหรือนอกจากตะโกนเอะอะเมื่อมีการละเมิดสิทธิของชาวขะแมร์กรอม” เป็นคำถามของ ซอน ซูแบร์ (Son Soubert) สมาชิกสภารัฐธรรมนูญของกัมพูชา และก็เป็นบุตรชายของซอน ซานน์ (Son Sann) อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เขากล่าวต่อไปว่าการห้ามปรามไม่ให้ประชาชนชุมนุมประท้วงเวียดนาม คือเครื่องหมายที่ชัดเจนมากประการหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพรรคซีพีพีนั้นตกอยู่ในการกำกับตรวจตราของฮานอยมาตลอด 30 ปี “คุณจะไม่เห็น [เวียดนาม] ปรากฏตัวหรอก แต่พวกเขาก็อยู่ตรงนี้แหละ ... คุณสามารถกล่าวหาผมว่ามีอคติหรือเป็นโรคจิตขี้หวาดระแวง แต่ในสายตาของชาวกัมพูชาแล้ว นี่แหละคือความเป็นจริง”

ขณะที่กองทัพกัมพูชาป้องกันไม่ให้ทหารไทยข้ามเข้าไปยังดินแดนใกล้ๆ ประสาทพระวิหารนั้น ซอน ซูแบร์บอกว่า เปรียบเทียบกันแล้วกลับมีดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงถึง 89,000 ตารางกิโลเมตรที่เวลานี้เวียดนามยึดครองไว้ โดยที่สามารถโต้แย้งได้ว่ามันเป็นดินแดนของกัมพูชาเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 1949 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรของเจ้าอาณานิยมฝรั่งเศส ลงมติอย่างเป็นทางการให้ยกไปให้แก่เวียดนาม เขากล่าวว่าการปะทะกันประปรายตามชายแดนกับประเทศไทยในปัจจุบัน ได้หันเหความสนใจจากการล่วงล้ำเขตแดนซึ่งสาหัสกว่ากันนักของเวียดนาม และก็เป็นเรื่องสำคัญเชิงนโยบายที่ถูกดูเบามองข้ามจากคณะรัฐบาลของฮุนเซน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพันธมิตรกับเวียดนาม

ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นความจริงหรือแค่เพ้อฝันเอา แต่ซูเบิร์ตยันยันว่าอารมณ์ความรู้สึกในลักษณะนี้กำลังแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยมีหลักฐานจากเรื่องตลกที่เวลานี้เล่ากันไปทั่วพนมเปญ เรื่องตลกชาตินิยมเรื่องนี้ซึ่งต้องเล่ากันด้วยน้ำเสียงคนเวียดนามพูดภาษาเขมร บอกว่า “คนไทยมันโง่เพราะมันพยายามขโมยก้อนหิน” ซึ่งก็หมายถึงปราสาทพระวิหารนั่นเอง “พวกเราฉลาดกว่า เราแค่ขโมยแผ่นดินเท่านั้น”

สตีเฟน เคิร์คซี เป็นผู้เขียนเรื่องให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาพำนักอยู่ในกัมพูชา อาจจะติดต่อเขาได้ที่ kurczy@gmail.com
  • ความสัมพันธ์กัมพูชา-เวียดนามยิ่งแนบแน่น (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น