xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์กัมพูชา-เวียดนามยิ่งแนบแน่น(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: สตีเฟน เคิร์คซี

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Cambodia, Vietnam re-affirm their vows
By Stephen Kurczy
22/04/200922/07/2008

ขณะที่ความสัมพันธ์ของกัมพูชากับไทยอยู่ในอาการหล่นฮวบสืบเนื่องจากความขัดแย้งกันถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตในกรณีปราสาทพระวิหาร ตลอดจนความปั่นป่วนผันผวนทางการเมืองในประเทศไทยนั้น ความผูกพันของพนมเปญกับเวียดนาม (ซึ่งเป็นประเทศที่โค่นล้มเขมรแดง) กลับกำลังดีวันดีคืน ทว่าไม่ใช่ประชาชนชาวกัมพูชาทั้งหมดหรอก ที่รู้สึกพึงพอใจกับการมีสายสัมพันธ์อย่างแนบสนิทกับผู้เป็นศัตรูแต่ครั้งอดีตของพวกเขา และบางคนก็บอกว่าแท้ที่จริง ฮานอยผู้เป็น“พี่ชายใหญ่”คือผู้ที่คอยบงการอยู่เบื้องหลังมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

พนมเปญ – ในปี 1977 ผู้ปฏิบัติงานเขมรแดงระดับล่างผู้หนึ่ง ได้เข้าไปในเวียดนามจากทางกัมพูชา และระหว่างการปฏิบัติการบุกโจมตีข้ามพรมแดน เขาก็ถูกจับกุม ถูกคุมขัง และถูกสอบสวนโดยฝ่ายข่าวกรองทหารของเวียดนาม ด้วยข่าวสารที่รวบรวมได้จากคอมมิวนิสต์หนุ่มผอมบางผู้นี้ เวียดนามก็เริ่มต้นวางแผนการเพื่อการโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่กลับเข้าไปในกัมพูชา หลังจากที่เขมรแดงบุกมาสังหารหมู่ผู้คนในดินแดนของพวกเขาแล้วหลายครั้ง

ชื่อของหนุ่มผู้นี้คือ ฮุนเซน (Hun Sen) และในไม่ช้าก็มีผู้ปฏิบัติงานเขมรแดงคนอื่นๆ อีกที่เข้ามาสมทบกับเขาในเวียดนาม โดยเป็นการหลบหนีการกำจัดกวาดล้างกันภายในเขมรแดงที่นำโดยโปลโปต (Pol Pot) ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้นำของกลุ่มลัทธิเหมาหัวรุนแรงกลุ่มนี้ เฮงซัมริน (Heng Samrin) ที่เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 4 เขตตะวันออกของเขมรแดง ได้แปรพักตร์และนำเอาทหาร 2,000 – 3,000 คนมาด้วย ขณะที่ เจียซิม (Chea Sim) นายอำเภอในเขตตะวันออกผู้หนึ่ง ก็เป็นที่ทราบกันว่าได้นำเอาประชาชนราว 300 คนข้ามพรมแดนเข้าไปในเวียดนาม

บุคคลทั้ง 3 นี้เองได้ประกาศเข้าควบคุมกัมพูชาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 1979 หลังจากกองทหารเวียดนามบุกเข้าพนมเปญ ขับไล่เขมรแดงออกไป และแต่งตั้งพวกเขาให้มีฐานะเป็นคณะผู้นำของรัฐบาลหุ่น พวกเขาปกครองประเทศในช่วงเวลาประมาณสิบปีต่อมาที่เวียดนามทำการยึดครองกัมพูชา อันทำให้ความเป็นศัตรูกันแต่นมนามระหว่างสองชาตินี้ยิ่งพอกพูนขึ้นอีก

หลังจากผ่านไป 30 ปี เจียซิมเวลานี้เป็นประธานวุฒิสภา และเป็นหมายเลขหนึ่งในพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party หรือ CPP) ซึ่งปกครองและมีฐานะครอบงำเหนือกัมพูชา ขณะที่ ฮุนเซน ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นสมาชิกสำคัญสูงสุดหมายเลขสองของพรรค ส่วน เฮงซัมรินเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีฐานะเป็นหมายเลขสามในพรรคซีพีพี

ถึงแม้กัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงจากรัฐที่มีพรรคการเมืองแบบเลนินนิสต์ปกครองอยู่เพียงพรรคเดียว กลายมาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ในปัจจุบันสมาชิกของพรรคซีพีพีก็เข้าครองตำแหน่งระดับรัฐมนตรีทุกๆ ตำแหน่ง และควบคุมที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ประมาณสามในสี่ พรรคซีพีพียังคงรักษาความผูกพันอันใกล้ชิดที่มีกับเวียดนาม และความเกาะเกี่ยวกันอย่างแน่นหนานี้ก็กำลังเข้มแข็งขึ้นอีก เมื่อกัมพูชากำลังหันมาหาพันธมิตรทางการเมืองและคู่ค้าทางตะวันออก ขณะที่สายใยที่มีกับไทยกำลังขมึงตึงจากความขัดแย้งเรื่องชายแดน และการประท้วงทางการเมืองที่พุ่งเป้าโจมตีรัฐบาลของฮุนเซน

“พูดกันในทางการเมืองแล้ว มันเป็นความสัมพันธ์แบบพิเศษที่โดดเด่นเฉพาะตัวเอามากๆ” เจีย วรรณนัท (Chea Vannath) นักสังเกตการณ์ทางการเมืองชาวกัมพูชากล่าว “เวียดนามยังคงพร้อมแสดงบทเป็นพี่ชายใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่พรรคซีพีพีต้องการเช่นนั้น”

ระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นับเป็นช่วงเวลาที่สองฝ่ายมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันอย่างโกลาหลวุ่นวายทีเดียว เวียดนามประกาศเจตนารมณ์ของตนที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สายสัมพันธ์นี้ในระหว่างการไปเยือนกรุงฮานอยเมื่อเดือนมกราคมของเฮงซัมริน ซึ่งเขาได้เข้าพบทั้งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นงดึ๊กแหม่ง (Nong Duc Manh) และประธานาธิบดีเหวียนมีงเจี๊ยต (Nguyen Minh Triet) ผู้นำเวียดนามทั้งสองกล่าวว่า พวกเขาถือความสัมพันธ์ที่มีกับเพื่อนบ้านที่เล็กกว่ารายนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ

“เวียดนามกับกัมพูชาได้เคียงข้างกันและกันในการต่อสู้เพื่อเอกราชแห่งชาติในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คนรุ่นปัจจุบันจะต้องสืบต่อความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้ และทำให้มั่นใจว่าจะมีการพัฒนาต่อไปอีก” ประธานาธิบดีเจี๊ยตกล่าว ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวสารเวียดนาม (Vietnam News Agency หรือ VNA) ซึ่งเป็นของรัฐบาล

ในเดือนกุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ของเวียดนาม แถลงตอกย้ำถึงความร่วมมือกันระหว่างสองประเทศในด้านต่างๆ จำนวนมากในช่วงหลังๆ มานี้ เป็นต้นว่า การเมือง, การทูต, เศรษฐกิจ, การค้า, วัฒนธรรม, ศิลปะ, เทคโนโลยี, ความมั่นคง, และกลาโหม เดือนเดียวกันนั้นเอง เวียดเทล (Viettel) บริษัทโทรศัพท์มือถือของกองทัพเวียดนาม ได้เปิดตัวบริการโทรศัพท์มือถือของตนในกัมพูชา หลังจากที่ได้แจกจ่ายซิมการ์ดฟรีๆ จำนวนราว 1 ล้านชิ้นให้แก่นักศึกษาและกำลังทหารของกัมพูชา

ตามรายงานของเวียดนามเน็ต (VietnamNet) เวียดเทลมีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้บริการแล้วถึง 500,000 ราย ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่อันดับ 3 ของกัมพูชาไปแล้ว วันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรกลาโหมเวียดนามได้เข้าพบฮุนเซน พร้อมกับให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือดำเนินการฝึกอบรมทหารกัมพูชาในเวีดยนามต่อไป รวมทั้งให้ที่เรียนกว่า 100 ที่ในสถาบันทหารราบเวียดนามด้วย

เมื่อวันอาทิตย์(19 เม.ย.) ฮุนเซนได้กล่าวยกย่องชมเชยนายทหารระดับสูง 21 คนของกองทัพราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด โปล ซะเรือน (Pol Saroeun) และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด กุน กิม (Kun Kim) ที่ได้รับปริญญาบัตรและวุฒิบัตรต่างๆ ทางด้านวิทยาการการทหารจากบรรดาสถาบันการทหารของเวียดนาม ตามรายงานของเวียดนามเน็ต ฮุนเซนยังได้ขอบคุณเวียดนามที่ได้ช่วยเหลือในการคุ้มครองรักษาทั้งการป้องกันประเทศและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นั้น ฮุนเซนก็ได้พบหารือกับคณะผู้แทนทหารของไทย 2 ครั้ง ทว่าการพบปะเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่ข้อพิพาททางชายแดนอันร้อนระอุ ตลอดจนเหตุการณ์ยิงปืนใหญ่เข้าไปในกัมพูชา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อก่อนหน้านั้นในเดือนเดียวกันและฝ่ายไทยบอกว่าเป็นอุบัติเหตุ หาใช่เป็นการหารือถึงโอกาสในการร่วมมือกัน

ตอนต้นเดือนมีนาคม กัมพูชากับเวียดนามได้ปักหลักเขตแดนหลักที่ 281 กันอย่างเงียบๆ ตรงบริเวณชายขอบจังหวัดตาแก้วของกัมพูชา เป็นการสะท้อนถึงนโยบายที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องของฮุนเซน ที่จะเร่งปักปันพรมแดนด้านตะวันออกซึ่งมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่ระหว่างสองประเทศ

นโยบายของฮุนเซนนี้มีความแตกต่างเป็นตรงกันข้ามกับพวกฝ่ายค้านทางการเมืองในกัมพูชา ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ฮุนเซนอยู่บ่อยครั้งว่ากำลังทำตัวเป็นหุ่นเชิดของฮานอย เมื่อปี 1996 ความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายได้แผ่ลามขยายตัว โดยเจ้านโรดมรณฤทธิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของกัมพูชาในตอนนั้น ได้กล่าวว่า อาจจะต้องหาทางออกด้วยวิธีการทางทหาร เพื่อแก้ไขปัญหาที่กัมพูชากล่าวหาว่าเวียดนามได้ผนวกดินแดนทางภาคตะวันออกของกัมพูชาไป

**การแก้ปัญหาพรมแดน**

ฮุนเซนกล่าวย้ำเรื่อยมาว่าปัญหาพรมแดนที่มีกับเวียดนามจะต้องได้รับการแก้ไขด้วยวิธีสันติ แล้วเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเป็นอย่างยิ่ง ก็ได้ปะทุขึ้นในปี 2005 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคซีพีพีควบคุมอยู่ ได้ประชุมเป็นการลับและอนุมัติให้สัตยาบันส่วนเพิ่มเติมของสนธิสัญญาพรมแดนที่กัมพูชาทำไว้กับเวียดนามเมื่อปี 1985 ในตอนนั้น ฮุนเซนข่มขู่ที่จะฟ้องร้องใครก็ตามที่กล่าวหาว่าเขายอมยกดินแดนให้แก่เวียดนาม และผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สนธิสัญญาฉบับนี้ก็ได้ถูกลงโทษไปหลายๆ คนทีเดียว เป็นต้นว่า นักจัดรายการทางวิทยุที่เป็นฝ่ายค้านสำคัญคนหนึ่ง ได้ถูกจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและปลุกปั่นยุยง

ไม่นานหลังจากที่ทำความตกลงเรื่องหลักเขตแดนฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ ทางรองประธานสภาของเวียดนามก็ได้เข้าพบหารือกับฮุนเซน, เจียซิม, และเฮงซัมริน ในกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศกระชับสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และก็ในแนวทางเดียวกันนี้เอง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ฮุนเซนได้พบหารือกับรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของเวียดนาม จากนั้นกัมพูชาก็ประกาศว่าต่อจากนี้ไปพลเมืองของกัมพูชาไม่ต้องขอวีซาในการเข้าประเทศเวียดนาม และพลเมืองของเวียดนามก็ได้รับสิทธิอย่างเดียวกันในการเข้าสู่กัมพูชา วันรุ่งขึ้น รัฐมนตรีความปลอดภัยสาธารณะ เลฮงอานห์ (Le Hong Anh) ของเวียดนาม กับรัฐมนตรีมหาดไทย ซาร์ เคง (Sar Kheng) ของกัมพูชา ก็ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือปี 2009

อานห์ยังได้เข้าพบฮุนเซน และไปวางพวงมาลาที่อนุสรณ์สถานมิตรภาพเวียดนาม-กัมพูชา อันเป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญซึ่งตั้งในย่านใจกลางกรุงพนมเปญ และอยู่ติดกับสวนสาธารณะฮุนเซน ทั้งนี้ในเมืองหลวงกัมพูชานั้นไม่มีอนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-กัมพูชาทำนองนี้ปรากฏอยู่ ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม รัฐมนตรีแถลงข่าว เขียว กัณหฤทธิ์ (Khieu Kanharith)ของกัมพูชา ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเหวียนเติ๋นยวุ๋งของเวียดนาม ณ กรุงฮานอย โดยทั้งสองฝ่ายได้ให้คำมั่นที่จะ “ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร, ช่วยเหลือสนับสนุนความร่วมมือกันแบบทวิภาคี และปฏิเสธการกล่าวหาอย่างให้ร้ายป้ายสีของกำลังฝ่ายศัตรู”

“เรากำลังพยายามทำให้ความร่วมมือกันแบบทวิภาคีที่พวกเรามีกันมาตั้งนมนานแล้วนั้น เพิ่มความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีก” กอย กวง (Koy Kuong) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชากล่าว “ระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม เรามี [ประวัติศาสตร์]แห่งมิตรภาพและความร่วมมือกันมายาวนาน” กอย กวง ยังปฏิเสธความคิดเห็นที่ว่า การที่กัมพูชากำลังมีข้อพิพาทพรมแดนกับประเทศไทยในเรื่องดินแดนรอบๆ ปราสาทพระวิหาร ได้กลายเป็นปัจจัยเร่งรัดให้กัมพูชาทดแทนความสัมพันธ์ทางการค้าและทางการทูตกับไทยที่กำลังเสื่อมทรามลง ด้วยการไปเพิ่มพูนสายสัมพันธ์อันเข้มแข็งที่มีอยู่กับเวียดนาม

การต่อสู้กันประปรายระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาในเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่ปราสาทเขาพระวิหาร ทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิตไป 2 คน จากนั้นการปะทะกันที่ปะทุขึ้นอีกครั้งตอนต้นเดือนเมษายนปีนี้ มีผลทำให้ทหารไทยเสียชีวิตไปคนหนึ่ง เปลวไฟแห่งความขัดแย้งนี้ยิ่งโหมฮือขึ้นอีก เมื่อสื่อท้องถิ่นรายงานในเดือนมีนาคมว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ของไทยได้พูดถึงฮุนเซนว่าเป็น “นักเลง” ครั้นฮุนเซนเรียกร้องให้ขอโทษ กษิตก็ได้ปรับถ้อยคำหมิ่นแคลนของเขาเสียใหม่โดยเรียกฮุนเซนว่าเป็น “สุภาพบุรุษผู้มีใจนักเลง” ทว่าต่อมาเขาก็ได้ออกคำแถลงขออภัยอย่างเป็นทางการ (หมายเหตุ – นี่เป็นการแปลไปตามต้นฉบับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เคิร์คซีไม่เข้าใจคำว่า “นักเลง” ในภาษาไทย อันเป็นคำที่มีความหมายหลายนัย โดยตอนที่คุณกษิตใช้พูดถึงฮุนเซนนั้น ดูจะมุ่งสื่อความหมายในทางบวก ไม่ใช่ทางลบ –ผู้แปล)

สตีเฟน เคิร์คซี เป็นผู้เขียนเรื่องให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาพำนักอยู่ในกัมพูชา อาจจะติดต่อเขาได้ที่ kurczy@gmail.com

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • ความสัมพันธ์กัมพูชา-เวียดนามยิ่งแนบแน่น (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น