เอเอฟพี – กองทัพจีนพยายามหย่าศึกระหว่างชาวอุยกูร์กับชาวฮั่น โดยผ่าเมืองอูหลู่มู่ฉีเป็น 2 ส่วน เพื่อแยกคู่กรณี ป้องกันศึกปะทะนองเลือดครั้งใหม่ ขณะที่ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวอย่างหวาดกลัวว่า เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์มณฑลซินเจียงได้กลายสภาพเป็นกรุงแบกแดดไปแล้ว
ถนนเหรินหมิน ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมือง ตัดจากทิศตะวันออกไปตะวันตก ถูกกำหนดให้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างชุมชนสองเชื้อสาย โดยมีกองกำลังทหารถือปืนกลกึ่งอัตโนมัติ และกระบองหนัก ตรึงกำลังบนถนนอย่างแน่นหนา หลังจากเมื่อวันอังคาร ที่ผ่านมา (7 ก.ค.2552) ชาวฮั่นหลายพันคนควงกระบอง, ท่อนเหล็ก และอาวุธปลายแหลม บุกข้ามถนนเหรินหมิน เข้าไปตีชาวอุยกูร์ แก้แค้น ที่ชาวอุยกูร์ก่อจลาจลเมื่อวันอาทิตย์
พวกชาวบ้านต่างดีใจ ที่กองทัพใช้มาตรการดังกล่าว แต่หลายคน โดยเฉพาะชาวอุยกูร์แสดงความหวาดกลัวกับเหตุการณ์ข้างหน้า
“ผมเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก” นายอาลี ซึ่งเป็นชาวอุยกูร์ระบุ
ตลอดคืน ที่ผ่านมา เขาต้องหลบภัยภายในที่ทำงาน และเพิ่งเดินทางกลับบ้านได้พร้อมกับชาวอุยกูร์อีกหลายคนท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของทางการ
“ตอนนี้มันมีแต่ความเกลียดชังกันมากเหลือเกินอยู่ไปทั่ว อนาคตดูเลวร้าย”
นายอาลียังวิตกด้วยว่า เมื่อกลับไปบ้าน อาจถูกตำรวจจีนบุกเข้าไปจับ เนื่องจากมีข่าวแพร่กระจายในหมู่ชนพวกเดียวกันเรื่องตำรวจบุกบ้านชาวอุยกูร์ เพื่อจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อจลาจล
ด้านชาวฮั่นเอง หลายคนเกรงว่า เส้นแบ่งแยกระหว่างสองชุมชนในเมืองอูหลู่มู่ฉีน่าจะเป็นเส้นแบ่งแยก ที่อยู่ในใจของผู้คนในเมืองไปอีกนาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เยียวยาแก้ไขได้ยากมาก และชาวฮั่นต้องการความปลอดภัย เพราะเวลานี้เมืองอูหลู่มู่ฉีไม่ต่างอะไรกับกรุงแบกแดดของอิรัก
อย่างไรก็ตาม ชาวฮั่นอีกหลายคนมองในแง่ดีว่า สถานการณ์จะกลับคืนสู่ปกติในไม่ช้า นอกจากนั้น ยังยืนยันว่า รัฐบาลจีนไม่ได้กดขี่ชาวอุยกูร์ในด้านการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างที่ชาวอุยกูร์กล่าวหา
ด้านนายแพทย์ชาวอุยกูร์ นามว่า ฮาลีชา ระบุว่า ทัศนคติดังกล่าวนี่แหละคือสาเหตุหนึ่งในหลายสาเหตุ ที่อยู่เบื้องหลังเหตุจาจล ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ชนเชื้อสายฮั่นเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจีน หรือร้อยละ 91.5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 1,300 ล้านคน จากตัวเลขล่าสุดของทางการ
อย่างไรก็ตาม ชาวฮั่นกลับเป็นชนกลุ่มน้อยในดินแดนซินเจียง ซึ่งพรมแดนติดเอเชียกลาง และมีชาวอุยกูร์ ซึ่งพูดภาษาเตอร์กิค อาศัยอยู่มากเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในเขตปกครองตนเองแห่งนี้ กล่าวคือราว 8 ล้านคน โดยชาวอุยกูร์ได้ออกมาร้องทุกข์อย่างต่อเนื่องว่าถูกกดขี่ปราบปราม และแบ่งแยกกีดกันภายใต้การปกครองของจีนในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา