ASTVผู้จัดการออนไลน์ – นักวิชาการอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษาถ่ายทอดประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงของจีนในห้วง 3 ทศวรรษ ระบุการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยของจีนจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ชี้ทุกวันนี้ชาวจีนมีเสรีภาพมากขึ้นมาก ระบุตะวันตกอาจใช้อคติมองจีนมากเกินไปทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดกับจีนในห้วง 30 ปีเทียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตะวันตกเกือบ 200 ปี
วานนี้ (12 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมเกษมอุทยานิน อาคารเกษมอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ได้เชิญ ศาสตราจารย์ Paul S. Ropp ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาจากมหาวิทยาลัยคลาร์ก (Clark University) สหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษา ค้นคว้าและทำวิจัยเกี่ยวกับประเทศจีนมากว่า 30 ปี เข้าร่วมเสวนาเรื่อง “จีนในอดีตและปัจจุบัน 30 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว (China Then & Now 30 years of rapid change)” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากภาคเอกชน สื่อมวลชน ภาครัฐ รวมถึงชาวต่างประเทศจำนวนหนึ่ง
หลัง รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษากล่าวเปิดการเสวนา ศ.Ropp กล่าวว่า ตนเองมีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2518 (ค.ศ.1975) และนับจากนั้นก็เดินทางไปประเทศจีนเพื่อศึกษาและทำวิจัยมาตลอด ทั้งนี้ประสบการณ์ที่น่าสนใจคือ ตนมีประสบการณ์ตรงในยุครอยต่อของการสิ้นสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี พ.ศ.2519 (ค.ศ.1976) ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศจีน โดยครั้งนั้นตนเดินทางไปกับ Memphis Council และเดินทางไปยัง 5 เมืองใหญ่ของจีน ประกอบไปด้วย กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ ซูโจว หนานจิง และปักกิ่ง
“ผมเดินทางไปถึงเซี่ยงไฮ้ได้ไม่กี่วันก็มีการติดโปสเตอร์รณรงค์ให้โค่นล้มแก๊ง 4 คน ซึ่งครองอำนาจเด็ดขาดอยู่ในช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรม 10 ปี แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตของชาวจีนไปแบบ 180 องศา เพราะ คณะของผมก็ยังถูกเชิญให้ไปดูการแสดงเพื่อเชิดชูท่านประธานเหมา (เจ๋อตง) ซึ่งขณะนั้นเสียชีวิตไปแล้ว การเชิดชูการปฏิวัติวัฒนธรรม รวมไปถึงการต่อสู้ทางชนชั้น” นักวิชาการชาวอเมริกันกล่าว พร้อมระบุว่า จากความรู้สึกของตนนั้นในตอนนั้น ตนคิดว่าชาวจีนมีท่าทีที่ผ่อนคลายลง หลังสิ้นสุดยุคสมัยของการครองอำนาจอันยาวนานของประธานเหมา และ การจัดการกับแก๊ง 4 คน แม้ว่าตอนนั้นชาวจีนเองจะไม่รู้อนาคตของตัวเองเช่นกันว่าจะก้าวเดินไปในทิศทางใด
หลังการขึ้นครองอำนาจของกลุ่มของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศจีนอย่างใหญ่หลวงจนกระทั่งปัจจุบัน ศ.Ropp ระบุว่า ตนคิดว่าพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจีนในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เทียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาติตะวันตกในระยะเวลาถึง 2 ศตวรรษ ซึ่งตนคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก
“ผมคิดว่าคนอเมริกัน นักวิชาการ รวมถึงสื่อมวลชนตะวันตกส่วนใหญ่ยังมองจีนโดยใช้อคติส่วนตัวมากเกินไป โดยมักจะรายงานถึงเรื่องลัทธิฝ่าหลุนกง ทะไลลามะ ไต้หวัน ทิเบต และการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่หากมองย้อนกลับไป และ ดูพัฒนาการของจีนในห้วง 30 ปีที่ผ่านมานั้นจะเห็นได้ชัดว่า จีนเปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ ประชาชนต่างก็มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น” นักจีนศึกษาจาก ม.คลาร์กกล่าว
จากนั้นระบุด้วยว่า ตนพบว่าเมื่อเทียบกับสามสิบปีก่อน ชาวจีนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก มีฐานะดีขึ้น นอกจากนี้พวกเขายังสามารถแสดงความเห็น และ แสดงทัศนะต่อเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างเช่น ตนเคยพูดคุยกับชาวจีนทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 ว่าเศรษฐกิจจีนนั้นแย่ แต่ชาวจีนคนนั้นกลับเสริมขึ้นมาว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 พรรคคอมมิวนิสต์ก็บริหารเศรษฐกิจได้ไม่ดีเช่นกัน ซึ่งตนเห็นว่าการที่ชาวจีนกล่าวเช่นนี้นั้นถือเป็นพัฒนาการของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพราะถ้าหากเป็นสมัยก่อน ชาวจีนคนใดกล่าวเช่นนี้ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปลงโทษแล้วก็ได้
“อย่างไรก็ตามการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ก็มีข้อยกเว้นบ้าง อย่างเช่น ไม่ใช่คุณไปด่าพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ในที่สาธารณะนั่นก็อาจจะยังทำไม่ได้ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วแล้ว และตัวชาวจีนเองก็ไม่ได้คิดว่าปัจจุบันรัฐบาลได้จำกัดสิทธิเสรีภาพกันจนเกินเหตุ” ศ.Ropp กล่าว และว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยของจีนจะเกิดขึ้นแต่จะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์เองก็คงระมัดระวังมิให้เกิดเหตุการณ์ความแตกแยกในพรรคซึ่งนำไปสู่โศกนาฏกรรมเช่นที่เกิดขึ้น ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 (ค.ศ.1989) อีก
เมื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาถามถึงความเห็นของ ศ.Ropp เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศจีนว่า ประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะเป็นประชาธิปไตยเมื่อใด ศ.Ropp ก็ให้คำตอบว่า ตนระบุว่าที่แน่ชัดไม่ได้ แต่คิดว่าน่าจะใช้เวลาหลายทศวรรษ และ ตนก็ไม่คิดว่าระบบการปกครองที่เป็นอยู่จะฉุดรั้งไม่ให้จีนเติบโตได้อย่างยั่งยืนตรงไหน
“ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของจีนนั้นใหญ่เป็นอันดับสามของโลกและผมคิดว่าถ้าเศรษฐกิจจีนเติบโตในระดับร้อยละ 6 ต่อไป ไม่ต้องถึงขั้นร้อยละ 7-8 ต่อไป ประเทศจีนก็ยังสามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน ส่วนปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนนั้น ผมคิดว่าผู้บริหารอย่างหู จิ่นเทา ก็รู้ดีและให้ความสนใจอย่างมากอยู่แล้ว”
ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยคลาร์กให้ความเห็นว่า ด้วยเงื่อนไขของความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจ จีนและสหรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องจับมือกันอย่างแนบแน่น และคงไม่แตกหักกันอย่างง่ายๆ แม้จะมีเหตุการณ์รุนแรงอย่างเช่น การยิงจรวดเข้าถล่มสถานทูตจีนในยูโกสลาเวียเมื่อปี 2542 เป็นต้น
ส่วนคำถามที่ว่า ในฐานะที่ ศ.Ropp เป็นนักประวัติศาสตร์จีนที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ชิง มีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลจีนและชาวจีนในปัจจุบันหันหลังกลับมาให้ความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมดั้งเดิม และศาสนาของตน หรือกระทั่งในปัจจุบันได้สนับสนุนการก่อตั้งสถาบันขงจื๊อในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งๆ ที่ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาประเทศจีนโจมตีและพยายามทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมมาตลอด
ประเด็นนี้ นักจีนศึกษาชาวอเมริกันให้คำตอบว่าในทัศนะส่วนตัว ตนคิดว่า ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้จีนตกต่ำและล้าหลังมิได้มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาเรื่องวัฒนธรรม แต่เป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์หลายๆ ประการที่บังเอิญมาเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งปัจจุบันการที่จีนกลับมาฟื้นฟูวัฒนธรรมของตัวเองก็แสดงว่า จีนเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้เช่นกัน