เอเจนซี – ท่ามกลางกระแสเลย์ออฟพนักงานในจีนลุกลามทั่วประเทศ บริษัทแห่ลด-ตัดโบนัสประจำปี ชาวจีนส่วนใช้จ่ายอย่างประหยัดตลอดช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน ฝั่งรัฐบาลคลอดงบหนุนคนชอปปิ้ง แจกคูปองทั่วประเทศ รำลึกอดีตยุคแห่งคูปองอันเฟื่องฟูในสมัยคอมมิวนิสต์
รัฐบาลจีนประกาศให้เงินสนับสนุนงบประมาณหลายล้านหยวนในรูปแบบคูปองในช่วงก่อนวันปีใหม่จีน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อของ
ซือ เกินตี๋ สุภาพสตรีวัย 55 ปี เล่าว่าเธอไม่เคยทิ้งคูปองที่ได้มาให้เปล่าประโยชน์เลย เธอและเพื่อนผู้สูงวัยคนอื่นๆ รวมถึงคนตกงาน และนักเรียน,นักศึกษา ที่ต่างได้รับคูปองมูลค่าร่วม 200 หยวน (ราว 30 เหรียญสหรัฐฯ) ต่างก็นำออกมาใช้จ่ายที่ซุปเปอร์มาเก็ตและร้านค้าราว 240 แห่ง ในเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง
“ครั้งสุดท้ายที่ฉันใช้คูปองคือสมัยที่ฉันยังเป็นสาว” ซือเล่า
ย้อนกลับไปเมื่อปีทศวรรษที่ 1970 ประเทศจีนได้ประกาศใช้ระบบคูปอง*ซื้อสินค้าต่างๆ อย่างแพร่หลายอาทิคูปองซื้ออาหาร เสื้อผ้า หรือของกินของใช้
“สมัยก่อนการซื้อขายถูกจำกัดในวงแคบ ดังนั้นเราจะฟุ่มเฟือยกันไม่ได้...แต่ตอนนี้รัฐบาลต้องการให้พวกเราซื้อมากขึ้น” ซือเล่าเหตุการณ์ในอดีต ขณะที่เธอเพิ่งเดินออกมาจากห้างคาร์ฟู พร้อมกับเกี๊ยวหลายถุง
เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากนครเซี่ยงไฮ้ราว 120 ไมล์ เป็นหนึ่งในเมืองที่ทางการจีนแจกคูปองแก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำเพื่อนำไปซื้อข้าวของเครื่องใช้
ขณะที่เมืองอื่นๆ เช่น หนันจิง และเฉิงตู ประชาชนจะได้รับคูปองเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในภัตตาคารและร้านค้าต่างๆ ขณะที่รัฐบาลกลางได้ออกมาตรการอุดหนุนภาคชนบทซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอาทิ โทรทัศน์สี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และโทรศัพท์มือถือ ในพื้นที่ชนบทโครงการนำร่อง 14 มณฑล
หลิว ย่าหนิง วัย 23 ปี ชาวบ้านในเขตทงโจว เมืองหนึ่งทางทิศตะวันออกของกรุงปักกิ่ง เธอกำลังจะแต่งงานในเดือนข้างหน้านี้แล้ว หลิวหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้เธอมีของใช้เครื่องใหม่ในชีวิตคู่ที่จะเริ่มต้นเร็วๆนี้
ขณะที่ศาสตราจารย์เฮ่อ เสี่ยว์เฟิง ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจงหัว แสดงความเห็นว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะดีกว่านี้ หากรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในแต่ละชนบท เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชนในระยะยาว ขณะเดียวกันมองว่าการกระตุ้นให้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจเป็นการเพิ่มหนี้ให้พวกเขามากกว่า
โดยทั้งหมดเป็นหนึ่งในโครงการกระตุ้นความต้องการในประเทศ หลังจากภาคการส่งออกของจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก จนหลายโรงงานทางตอนใต้ของประเทศต้องปลดพนักงานและปิดกิจการ
ผู้บริโภคชาวจีนหลายรายในตอนนี้ต่างรู้สึกถึงความตึงเครียดของตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่คึกคัก รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ซบเซากว่าปีก่อนๆ
"ทุกคนต่างก็กระวนกระวายใจเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ" วิกเตอร์ หยวน ประธานกรรมการบริหารฮอริซอน รีเสิร์ช คอลซัลแทนซี กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง
ล่าสุดฮอริซอน เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคระบุ อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ ซาร์ส ในปี 2546
อย่างไรก็ดี เมืองหังโจว เป็นหนึ่งในจุดปลายการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของจีน และเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจดีกว่าหลายๆเมือง ทว่าคนเมืองนี้กลับใช้จ่ายกันอย่างประหยัดมัธยัสถ์
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่แล้ว หลิว เจีย วัย 31 ปี พนักงานบัญชีของบริษัทแห่งหนึ่ง เล่าว่าเธอได้รับเงินโบนัสประจำปีราว 4,000 หยวน เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจซบเซา ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาเธอและสามีต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เลี่ยงการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า การที่รัฐบาลจีนแจกจ่ายคูปองซื้อสินค้านั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ยังไม่ตรงจุด ถึงแม้ว่าจะสามารถช่วยพยุงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ให้ล้มได้ แต่ทว่าคงจะดีกว่านี้หากรัฐให้ความสำคัญกับการหาอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับประชาชน
---------------------------------------------------------
*ในปี 1953 คณะรัฐมนตรีแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศ “มติว่าด้วยระบบซื้อขายอาหาร”, “คำสั่งว่าด้วยการจัดหาและการซื้อขายอาหาร” ระบบซื้อขายอาหารด้วยคูปองเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยจีนเริ่มผุดคูปองที่ใช้ในชีวิตประจำวันหลาย 10 ประเภท อาทิ คูปองซื้ออาหาร คูปองซื้อผ้า คูปองซื้อเนื้อ จนกลายเป็นหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวจีนที่ขาดไม่ได้ ถ้าไม่มีคูปองเหล่านี้ พวกเขาก็จะไม่สามารถซื้อหาสิ่งของใดๆ ได้
กระทั่งเศรษฐกิจของประเทศเริ่มพัฒนาขึ้นระบบคูปองก็เริ่มลดบทบาทลง แต่แล้วเมื่อในประเทศจีนประสบความวุ่นวายยืดเยื้อยาวนานเป็น 10 ปี สิ่งของที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันก็กลับขาดแคลน ทำให้หลังช่วง “ปฏิวัติวัฒนธรรม” (ค.ศ.1966-1976) คูปองชนิดต่างๆ จึงกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
แต่หลังจากได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดเสรีประเทศจีนไปได้ระยะหนึ่ง ก็เข้าสู่ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแบบวางแผนมาเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบตลาด คูปองดังกล่าวก็ค่อยๆ หายไปจากชีวิตของชาวจีน กระทั่งเมื่อปี 1993 จีนก็ได้ยกเลิกระบบการใช้คูปองเหล่านี้ไปเสีย คูปองที่เห็นในปัจจุบันก็กลายเป็นของสะสมในเชิงศิลปะ-ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยหนึ่ง