เอเยนซี - ครบรอบ 30 ปีปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไม่ยั้ง ดันโครงการแปรรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินเกษตรกรรม จากกรรมสิทธิ์รัฐสู่กรรมสิทธิ์เอกชน
ในการประชุมใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์วาระที่สาม สมัยประชุมที่ 17 วันที่ 9-13 ตุลาคม ที่ประชุมได้อนุมัติหลักนโยบายปฏิรูปชนบท ซึ่งมีสาระสำคัญคือการอนุญาตให้ เกษตรกรกว่า 800-900 ล้านคนสามารถซื้อขาย เช่า และจำนองสิทธิการใช้ที่ดินได้อย่างอิสระ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับสังคมนิยมจีน
แผนการปฏิรูปครั้งนี้ถูกเปิดเผยมาก่อนหน้า โดยประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ช่วงปลายเดือนกันยายน หูได้เดินทางเยือนหมู่บ้านเสียวกั่ง มณฑลอันฮุย พร้อมแย้มพรายถึงการปฏิรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินเกษตรกรรมว่า “เราต้องปกป้องสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกร และหากพวกเขาต้องการ เราก็จะอนุญาตให้เกษตรกรสามารถโอนสัญญา และบริหารจัดการสิทธิ์ในที่ดินผ่านวิธีการต่างๆ” ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีจีน อาจแปลเป็นภาษาสามัญได้ว่า “เกษตรกรจีนสามารถบริหารจัดการที่ดิน ซึ่งพวกเขาเช่ากรรมสิทธิ์มาจากรัฐได้ด้วยการ ขาย หรือ นำที่ดินนั้นไปทำสัญญาจำนองหรือให้ผู้อื่นเช่าต่อได้”
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตคำที่หูใช้จะพบว่า หูหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์คำว่า “ซื้อ-ขาย” ในความหมายที่มีนัยถึงการโอนกรรมสิทธิ์ แต่กลับใช้คำอื่นแทน เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญจีนบัญญัติไว้ว่า ทรัพยากรที่ดินทั้งหมดมีรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ดังนั้นการแปรรูปกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากกรรมสิทธิ์รัฐสู่กรรมสิทธิ์เอกชน จึงเป็นสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ และหากกล่าวในเชิงสัญลักษณ์แล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินก็เทียบได้กับปราการด่านสุดท้ายของสังคมนิยมจีน ที่นับวันจะปลาสนาการ แปรเปลี่ยนเป็นทุนนิยม
ข้อห้ามอันเป็นปราการด่านสุดท้ายนี้ได้ถูกบ่อนเซาะมาโดยตลอด เมื่อต้นทศวรรษ 1990 ทางการจีนได้เริ่มการแปรรูปกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง ทว่าปัญหาสำคัญที่รัฐต้องเผชิญคือ จะจัดการแปรรูปกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างไร? เพื่อแก้ปัญหาที่น่าปวดหัวนี้ทางการได้หยิบยืมระบบที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษใช้ในฮ่องกง ซึ่งถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ทว่าประชาชนสามารถขอเช่าที่ดินได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
การหยิบยืมตัวแบบฮ่องกงมาใช้ในเขตเมือง จึงทำให้ผู้ซื้อบ้านหรืออพาร์ทเมนต์ในเขตเมืองมีสถานะเป็นเพียงผู้เช่าสิทธิ์จากรัฐ (โดยปกติสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 75 ปี) เมื่อเจ้าของที่อยู่อาศัยขายบ้านให้กับผู้อื่น ก็หมายความว่าเขาได้โอนสิทธิ์ในการใช้ที่ดินให้กับผู้ซื้อรายใหม่ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าในทางกฎหมายที่ดินในเมืองจึงเป็นสิ่งที่ซื้อขายได้
อย่างไรก็ตามในพื้นที่ชนบท เกษตรกรกลับไม่ค่อยมีทางเลือกมากนัก พวกเขาได้สิทธิ์ในการใช้ที่ดินเกษตรกรรมเพียง 30 ปี และยังไม่สามารถซื้อขาย หรือนำที่ดินไปจำนองได้ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นก็สามารถเวนคืนที่ดินได้ทุกเวลา กระทั่งการสมรู้ร่วมคิดระหว่างนายทุนกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ทำการเวนคืนที่ดินโดยมิชอบ ก่อให้เกิดการประท้วงหลายครั้ง
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาการประท้วงของชาวชนบทที่นับวันยิ่งทวีมากขึ้น การปฏิรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงมีเป้าประสงค์ในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับชาวชนบท และปกป้องสิทธิ์ในที่ดินของพวกเขา หลังที่ประชุมได้อนุมัติแผนปฏิรูป ชาวชนบทจะสามารถซื้อ ขาย และนำที่ดินไปจำนอง หรือให้เช่าต่อได้ เท่ากับว่าหากนายทุนต้องการที่ดินของชาวบ้าน นายทุนก็ต้องต่อรองกับชาวบ้านโดยตรง มิใช่อาศัยอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นเวนคืนโดยมิชอบเช่นที่เคยทำ
เสียวกั่ง นามนี้สำคัญไฉน
แผนปฏิรูปครั้งนี้ที่หูเอื้อนเอ่ยขึ้น ณ หมู่บ้านเสียวกั่ง ทำให้หลายต่อหลายคนตั้งขอสงสัยว่าทำไมต้องเป็นที่เสียวกั่ง? หรือเป็นแค่เรื่องบังเอิญที่ประธานาธิบดีจีนอยากกล่าวที่นี่เท่านั้น
หากย้อนดูประวัติศาสตร์จะพบว่า การกล่าวถึงการปฏิรูปที่ดินเกษตรกรรม ณ หมู่บ้านเสียวกั่งมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์อย่างยิ่ง ช่วงต้นปี 1978 ชาวนา 18 คนรวมทั้งสมาชิกพรรคที่อยู่ในหมู่บ้านได้เสี่ยงชีวิต แอบลงนามในข้อตกลงลับ ซอยที่ดินคอมมูนลงเป็นแปลงๆ สำหรับแต่ละครอบครัว การกระทำดังกล่าวในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็น “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ” ซึ่งเป็นอาชญากรรมร้ายแรง อย่างไรก็ตามการกระทำของผู้กล้าแห่งเสียวกั่งกลับได้รับการสนับสนุนจาก เติ้ง เสี่ยวผิง ที่หวนกลับคืนสู่อำนาจอย่างยิ่งใหญ่ หลังจากที่ต้องระหกระเหินมาตลอดช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม
ปลายปี 1978 เติ้งได้ผลักดันให้มีการเปิดและปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยอาศัยกลไกตลาด ประสบการณ์ของเสียวกั่งถูกหยิบยกนำมาใช้เป็นตัวแบบในการพัฒนาที่ดินเกษตรกรรม ภายใต้ระบบความรับผิดชอบของครัวเรือน ที่ครอบครัวเกษตรแต่ละครอบครัวจะได้รับจัดสรรที่ดินเป็นของตนเพื่อทำการผลิต ดังนั้นเสียวกั่งจึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูป
นักวิเคราะห์ระบุว่า “การที่หูเลือกกล่าวถึงการปฏิรูปที่ดิน ณ หมู่บ้านเสี่ยวกัง จึงเป็นสัญลักษณ์ ที่สื่อถึงการปฏิรูปที่จะต้องดำเนินต่อไปภายใต้การนำของหู และในยุคสมัยของหูก็คือยุคสมัยของการปฏิรูปครั้งใหญ่อีกครั้ง”
ระบบจัดการทิ่ดินชนบทแบบเดิมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรง ทำให้เกิดความต้องการที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชย์จำนวนมาก ดังนั้นบรรดานายทุนจึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเวนคืนที่ดินจากชาวชนบท กระทั่งทำให้พวกเขาต้องพลัดพรากจากบ้านเกิด หลั่งไหลเข้าไปเป็นแรงงานราคาถูกในเมือง และในหลายกรณีชาวชนบทที่ถูกเวนคืนที่ดินไปนั้น ก็ไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก เมื่อถูกบีบมากเข้า พวกเขาจึงลุกฮือประท้วง
สถิติจากทางการระบุว่า ในปี 2004 มีการชุมนุมประท้วงถึง 74,000 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมรวม 3.7 ล้านคน ส่วนในปี 2005 การประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 15 คนก็เพิ่มขึ้นเป็น 87,000 ครั้ง และเพิ่มเป็น 90,000 ครั้งในปี 2006 ทั้งนี้สาเหตุการประท้วงส่วนใหญ่มาจากการเวนคืนที่ดินโดยมิชอบ
จาง ลี่ฝาน อดีตนักวิจัยของบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์ ระบุว่าทางพรรคคอมมิวนิสต์ก็ตระหนักถึงปัญหาเรื่องที่ดินในชนบทว่า หากไม่สามารถแก้ไขได้ความชอบธรรมของพรรคอาจถูกสั่นคลอน
“พิจารณาจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ การล่มสลายและการก่อตัวของทุกราชวงศ์เกี่ยวเนื่องกับปัญหาเกษตรกรและที่ดิน การปฎิรูปที่ดินจึงมีจุดประสงค์เพื่อเอาชนะใจเกษตรกร และสร้างความมั่นคงทางสังคม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับพรรค” จางกล่าว
ทั้งนี้การปฏิรูปเศรษฐกิจที่ดำเนินมา 30 ปีได้สร้างโอกาสให้กับคนมากมาย อย่างไรก็ตามการพัฒนาไม่ได้ดำเนินไปอย่างเท่าเทียม บรรดาเมืองใหญ่ริมฝั่งทะเลตะวันออกได้ก้าวหน้าไปไกลกว่าพื้นที่อื่นๆมาก ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนก็กว้างขึ้นทุกที
ในปี 2007 ข้อมูลจากทางการสะท้อนถึงปัญหาที่อยู่ในระบดัรุนแรง สัมประสิทธิ์จินี่ ซึ่งใช้วัดระดับการกระจายรายได้สะท้อนว่า การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมพุ่งผ่านระดับ 0.4% ซึ่งเป็นระดับเฝ้าระวังแล้ว ด้านสถิติจากสหประชาชาติก็ชี้ว่า คนจนที่สุด 20% จากจำนวนประชากรทั้งหมด เข้าถึงความมั่งคั่งเพียง 4.7% ขณะที่คนรวยที่สุด 20% จากจำนวนประชากรทั้งหมดกลับเข้าถึงความมั่งคั่งได้ถึง 50%
หู ซิงโต่ว ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยี ปักกิ่ง แสดงทัศนะว่า “การปฏิรูปที่ดินครั้งนี้จะทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากที่ดินมากขึ้น รายได้จากที่ดินที่เคยเข้ากระเป๋านายทุนและเจ้าหน้าที่จะถูกโยกย้ายมาสู่กระเป๋าของเกษตรกร”
กระจายรายได้ไม่เป็นธรรม สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจ
นอกจากปัญหาทางสังคมแล้ว การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมุ่งเน้นการกระตุ้นอุปสงค์ภายใน เนื่องจากประชากรส่วนมากของประเทศอาศัยอยู่ในเขตชนบท หากคิดคำนวณแล้วจะพบว่า พวกเขาเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อมหาศาล ทว่าในความเป็นจริงรายได้ที่น้อยนิดทำให้พวกเขาไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะเป็นกลจักรในการกระตุ้นอุปสงค์ภายใน ดังนั้นการปฏิรูป ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชนบท อาทิการปฏิรูปที่ดินจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ทั้งนี้บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า นอกจากนโยบายปฏิรูปที่รัฐทยอยเข็นออกมา ภาครัฐยังต้องทำการผลักดันหน่วยงานรัฐ และออกกฎหมายรองรับการปฏิรูป เพื่อทำให้การปฏิรูปสำเร็จผลรูปธรรม
แม้เกษตรกรจะสามารถซื้อขายที่ดิน แปลงสินทรัพย์เป็นทุนได้ แต่ถ้าระบบลงทะเบียนสำมะโนครัวยังมีการกีดกันชาวชนบทไม่ให้เข้าถึงสิทธิ์ในที่ดินและการทำงานในเมือง ชาวชนบทก็ยังต้องเผชิญปัญหาอยู่ดีว่า จะเอาทุนที่ได้จากที่ดินไปทำอะไร และถ้านำไปลงทุนในเมืองจะได้รับการปกป้องแค่ไหน “หากระบบกฎหมายและการเมืองไม่ปกป้องพวกชาวชนบท ผมสงสัยว่าการปฏิรูปจะแก้ปัญหาได้แค่ไหน” จางกล่าว