xs
xsm
sm
md
lg

มังกรทะยานฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ปฏิรูปทีดิน พึ่งอุปสงค์ภายใน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จีนฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ดันปฏิรูปที่ดินชนบทกระตุ้นอุปสงค์ภายใน – เอเยนซี
เอเชียไทมส์ – เผยจีนปฏิรูปที่ดินเกษตรกรรม หวังกระตุ้นอุปสงค์ภายใน ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก นักวิเคราะห์ระบุ เป็นนโยบายที่ดี แต่ต้องดันโครงการอื่น ที่ให้ประโยชน์กับเกษตรกรควบคู่ด้วย จึงจะสำเร็จ

หลังพิษวิกฤตการเงินแผ่ซ่านไปทั่วโลก บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นสำคัญ จะได้รับผลกระทบไม่น้อย อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า วิธีแก้เกมส์ของผู้นำจีน ด้วยการปฏิรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินในชนบท เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายใน อาจเป็นทางออกให้กับเศรษฐกิจจีน

ในการประชุมใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 9-13 ตุลาคม ที่ประชุมได้อนุมัติหลักนโยบายปฏิรูปชนบท ซึ่งมีสาระสำคัญคือการอนุญาตให้ เกษตรกรกว่า 800-900 ล้านคนสามารถซื้อขาย เช่า และจำนองสิทธิการใช้ที่ดินได้อย่างอิสระ นโยบายดังกล่าวทำให้บรรดาเกษตรกรในชนบทสามารถแปลงที่ดินเป็นทุน เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนต่อไป

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ณ สิ้นปี 2007 จีนมีประชากร 1,320 ล้านคน 727.5 ล้านคนหรือ 55% เป็นชาวชนบท อย่างไรก็ตามหากนำตัวเลขประชากรชนบท ที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองรวมเข้าไปด้วย ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงถึง 900 ล้านคนเป็นอย่างน้อย จำนวนประชากรชนบทที่มีอยู่อย่างมหาศาลนี้ ทำให้พวกเขาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นอุปสงค์ภายในได้ หากพวกเขาพร้อมใจกันบริโภค

อย่างไรก็ตามอัตราการบริโภคของชาวชนบท เมื่อเทียบกับชาวเมืองแล้วกลับต่างกันลิบลับ เนื่องด้วยชาวชนบท มีรายได้ต่ำกว่าชาวเมืองมาก ในปี 2007 รายได้โดยเฉลี่ยของเกษตรกรชนบทอยู่ที่ 4,140 หยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2006 9.5% ขณะที่รายได้ของชาวเมือง ณ ปี 2007 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 13,786 หยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ถึง 12.2% เมื่อคิดคำนวณเทียบรายได้ระหว่างเมืองกับชนบทโดยสุทธิจะพบว่า ชาวเมืองมีรายได้มากว่าชาวชนบทถึง 3 เท่า ทำให้ชาวเมืองสามารถบริโภคสินค้าได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันอัตราการบริโภคในเมืองกลับไม่หวือหวาอย่างที่เคยเป็นมา เนื่องด้วยวิกฤตการเงินโลก และปัญหาเศรษฐกิจทำให้ชาวเมืองระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น ดังนั้นทางการจึงหันไปกระตุ้นอุปสงค์จากภาคชนบท โดยตั้งเป้าว่า จะทำให้รายได้ของชนบทเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันถึง 2 เท่าในปี 2020

เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายปี 2020 ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จึงร่วมกันผลักดันนโยบายปฏิรูปที่ดินชนบท แปรรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินเกษตรกรรม จากกรรมสิทธิ์รัฐสู่กรรมสิทธิ์เอกชน ด้วยการเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถซื้อขาย เช่า และจำนองสิทธิการใช้ที่ดินได้อย่างอิสระ นโยบายใหม่ซึ่งผ่านที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 9-13 ตุลาคมนี้ จะทำให้ชาวชนบทจีน ซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกรสามารถแปลงที่ดินเป็นทุน เพื่อนำไปใช้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้
เมื่อแปลงที่ดินเป็นทุนแล้ว ชาวชนบทจะนำทุนไปทำอะไร แล้วถ้าพวกเขา อพยพเข้าเมืองล่ะ รัฐมีกลไกในการแก้ไขปัญหาแค่ไหน - เอเยนซี
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่า นโยบายปฏิรูปที่ดินชนบทนี้เป็นเหมือนดาบสองคม ในแง่บวกการอนุญาตให้ซื้อขายที่ดินเกษตรได้อย่างอิสระ จะทำให้เกิดการรวมพื้นที่ในการเพาะปลูก จากพื้นที่แปลงเล็กแปลงน้อย เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้ดำเนินการ ทำให้การเกษตรมีลักษณะความเป็นอุตสาหกรรม มีประสิทธิภาพและให้ผลผลิตมากขึ้น

สีว์ เสียงหลิน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนเผยว่า “เป้าหมายของนโยบายปฏิรูปที่ดินชนบท คือการกระตุ้นให้เกิดการผลิตขนาดใหญ่ และเร่งกระบวนการนคราภิวัตน์ในชนบท”

อย่างไรก็ตามเมื่อเกษตรกรขายที่ดินไปแล้ว ปัญหายังมีอยู่อีกว่าพวกเขาจะหาเงินจากไหน ในเมื่อปัจจัยการผลิตที่มีอยู่เดิมถูกขายไปเสียแล้ว นักสังคมวิทยาจากบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์เปิดประเด็นที่แหลมคมขึ้นมาว่า “เมื่อเกษตรกรถือเงินที่ได้จากการขายที่ดินไว้ในมือ พวกเขาจะเอาเงินไปทำอะไร? ถ้าพวกเขาอพยพเข้ามาในเมืองเริ่มประกอบธุรกิจเล็กๆ หรือเข้ามาอาศัยในเมืองจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร? และถ้าพวกเขาไม่สามารถหางานทำในเมืองได้ แถมธุรกิจที่ริเริ่มก็พังพาบพวกเขาจะอยู่อย่างไร?”

นักสังคมวิทยาคนเดิมแสดงทัศนะว่า “การปฏิรูปที่ดินจะไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งเป้าไว้ หากไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบสังคมอื่นๆ อาทิ ระบบสำมะโนครัวต้องได้รับการแก้ไข เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้แรงงานอพยพจากชนบท มีสิทธิเท่าเทียมกับคนเมือง นอกจากนี้รัฐต้องขยายระบบประกันสุขภาพและ ประกันสังคมให้ครอบคลุมชนบททั้งหมด”

“หากต้องการผลักดันกระบวนการนคราภิวัตน์ รัฐต้องทำให้เกษตรกรชนบทมีสถานะทางการเมืองและสังคมเท่าเทียมกับคนเมืองก่อน ถ้ารัฐบาลไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขนี้ได้ เกษตรกรไร้ที่ดินจำนวนมหาศาลที่อพยพสู่เมือง อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง” นักสังคมวิทยา จากบัณฑิตยสภาฯระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น