xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียตะวันออกไม่ไว้วางใจ นโยบายการค้าของ‘โอบามา’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – แม้โพลล์ชี้ชาวโลกส่วนใหญ่เทใจให้บารัค โอบามา แต่เดโมแครตอาจต้องเผชิญการต้อนรับอย่างระแวดระวังในเอเชียตะวันออก ที่กลัวว่าจะถูกโอบามากดดันหนักข้อในประเด็นการค้า
โอบามาที่มีคะแนนนำเหนือจอห์น แมคเคน ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ในโพลของทุกสำนักก่อนจะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันพรุ่งนี้ (4) เป็นที่สนอกสนใจของประชาชนในเอเชียตะวันออก จากการป่าวประกาศว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายหลังการบริหารประเทศนานแปดปีของจอร์จ ดับเบิลยู บุช
แต่แม้คะแนนนิยมของบุชดำดิ่งทั้งในและนอกบ้าน ทว่า รัฐบาลและภาคเอกชนในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ต่างให้การต้อนรับสัญชาติญาณการค้าเสรีของบุช และเป็นกังวลกับท่าทีของโอบามา
สัปดาห์ที่แล้ว ปักกิ่งตีโพยตีพายหลังจากโอบามากล่าวหาว่าจีนเล่นกลกับค่าเงินเพื่อให้มียอดเกินดุลการค้าสหรัฐฯ มหาศาล
จุดที่แตกต่างอย่างชัดเจนกับแนวทางของแมคเคนคือ โอบามาคัดค้านข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ที่บุชและผู้นำโซลสนับสนุนแม้ถูกต่อต้านในทั้งสองประเทศ
ลีซีวุกจากสถาบันพัฒนาเกาหลีที่ได้ทุนสนับสนุนจากทางการอารีดัง ชี้ว่าแนวทางกีดกันการค้าของเดโมแครตแผ่ขยายออกไปจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน และหากโอบามาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้จะรุนแรงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โอบามาซึ่งให้การสนับสนุนสหภาพแรงงาน ให้เหตุผลว่าข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้บริษัทรถยนต์อเมริกันมีช่องทางเข้าถึงตลาดเกาหลีใต้น้อยมาก โดยในตลาดดังกล่าวรถอเมริกันตกเป็นรองทั้งผู้เล่นท้องถิ่น รวมถึงผู้เล่นจากญี่ปุ่นและยุโรป
โซลปิดโอกาสในการฟื้นการเจรจาข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งเป็นต้นเหตุของการประท้วงของมวลชนบนท้องถนนที่กังวลเกี่ยวกับการนำเข้าเนื้อจากสหรัฐฯ
ในทางกลับกัน แมคเคนสนับสนุนข้อตกลงกับโซล เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดการจ้างงาน พร้อมโต้แย้งความคิดที่ว่า ข้อตกลงนี้จะบ่อนทำลายความเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของอเมริกาท่ามกลางวิกฤตการเงินโลก
โรเบิร์ต ดูจาร์ริก ผู้อำนวยการสถาบันญี่ปุ่นศึกษาร่วมสมัยของมหาวิทยาลัยเทมเพิลในโตเกียว คาดว่าที่สุดแล้วโอบามาจะสนับสนุนข้อตกลงกับเกาหลีใต้ หากมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ และว่าผู้นำทำเนียบขาวคนใหม่จะมีอิทธิพลน้อยลงในการกดดันเอเชียในประเด็นการค้า เนื่องจากวิกฤตการเงินที่มีต้นตอมาจากสหรัฐฯ และนโยบายที่ไม่เป็นที่ชอบอกชอบใจของวอชิงตันเรื่องอิรักและภูมิภาคอื่นๆ โดยกว่าที่อเมริกาจะเรียกคืนอิทธิพลกลับมาได้ก็ต้องใช้เวลากันเป็นปี
ดูจาร์ริกยังตั้งข้อสังเกตว่า บ่อยครั้งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นด้วยกับรีพับลิกันที่มีนโยบายส่งเสริมธุรกิจมากกว่าเดโมแครตที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชนมากเกินไป
ที่ญี่ปุ่น ผู้นำบางคนยังไม่ลืมความรู้สึกหวานอมขมกลืนกับประธานาธิบดีจากเดโมแครตคนล่าสุดคือ บิล คลินตัน ที่บีบให้ประเทศเศรษฐกิจอันดับสองของโลกแห่งนี้เปิดตลาดรับสินค้าอเมริกันทั้งที่ยังตกอยู่ในภาวะถดถอยเรื้อรัง
นอกจากนี้ ตลอดช่วงแปดปีที่ผ่านมา คณะบริหารของบุชยังพาดพิงถึงการอ่อนค่าของเยนน้อยมาก และปัจจัยนี้เองที่ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวจากการทำให้สินค้าออกมีขีดความสามารถแข่งขันสูงขึ้น
แต่วันนี้ เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยเริ่มชะลอตัวอีกครั้ง จากดีมานด์ในสหรัฐฯ ที่ทรุดลง และจากการที่เงินเยนแข็งค่าสูงสุดในรอบ 13 ปีเมื่อเทียบดอลลาร์อันเป็นผลจากวิกฤตการเงินโลก
สึสึมุ โดอิฮาระ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอในโตเกียว สงสัยว่าโอบามาจะใช้ไม้แข็งกับญี่ปุ่นเหมือนคลินตันหรือไม่ แต่สำหรับกรณีของจีนนั้น โดอิฮาระเชื่อว่าโอบามาจะใช้มาตรการแข็งกร้าวอย่างแน่นอน เพื่อหาทางขยายการส่งออกไปยังแดนมังกร
กระนั้น โดอิฮาระมองว่าโอบามาเป็นพวกยึดถือผลในทางปฏิบัติ โดยตั้งข้อสังเกตว่าความสนใจหลักของผู้สมัครรายนี้คือการฟื้นเศรษฐกิจที่เสื่อมทรุดของสหรัฐฯ กล่าวคือหากกรอบโครงการค้าเสรีส่งผลต่อสถานการณ์การจ้างงานในสหรัฐฯ โอบามาอาจมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา แต่มีแนวโน้มว่าเขาจะต้อนรับขับสู้บริษัทต่างชาติที่เข้าไปสร้างงานในแดนอินทรี
กำลังโหลดความคิดเห็น