xs
xsm
sm
md
lg

ต้นตอและเส้นทางทุนสำรองจีน เมื่อพิชิตแชมป์เหนือประเทศ G7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กราฟแสดงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนตั้งแต่ปี 1990-2007 (หน่วยเป็นร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ)
พีเพิลเดลี่ / ซินหัวเน็ต – ในขณะที่ภาวะทางเศรษฐกิจการเงินของโลกกำลังอยู่ในภาวะผันผวน ทำให้หลายฝ่ายยิ่งจับจ้องมาที่ทุนสำรองมหาศาลของจีน ที่มีมูลค่ามากกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศจี 7 รวมกันว่า เงินก้อนยักษ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีข้อดีข้อเสียต่อมังกรยักษ์ตัวนี้อย่างไร

นายสีว์ หย่งติ้ง หัวหน้าสำนักงานวิจัยการเมืองและเศรษฐกิจโลกประจำบัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์ของจีนได้ระบุว่า ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจีนเมื่อปลายเดือนเม.ย. ที่สูงถึง 1.76 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯนั้น เป็นมูลค่าที่มากกว่าเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือ จี 7 อันได้แก่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนนาดาและอิตาลีรวมกันเสียอีก

ต้นตอทุนสำรองฯมหาศาล

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา นายโจว เสี่ยวชวนผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี) ได้กล่าวในการประชุมรายงานของคณะกรรมาธิการพัฒนาว่า สาเหตุที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นมากมีอยู่หลายอย่าง การที่มองแต่เพียงตัวเลขเกินดุลการค้าระหว่างประเทศ กับตัวเลขการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) นั้น ยังไม่ถือว่าครอบคลุมเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะตัดสินจากตัวเลขทั้ง 2 แล้วระบุว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ

อีกสาเหตุหนึ่ง น่าจะเห็นได้จากการที่ก่อนหน้านี้ ทางธนาคารกลางแห่งประเทศจีนได้ออกรายงานว่าด้วยการดำเนินนโยบายการเงินในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2008 ที่ระบุว่า การที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นมีปัจจัยหลักมาจากการที่พื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศที่ดี มีการเกินดุลการค้าระหว่างประเทศมาก มีการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น อีกสาเหตุสำคัญมาจากการที่ผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐฯยังคงส่งแรงกระเพื่อมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินระหว่างประเทศ จนทำให้จีนอาจจะต้องกลายมาเป็น “แหล่งหลบภัย” ทางการเงินของนานาชาติ จนทำให้ตัวเลขเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่นายฮา จี้หมิงนักเศรษฐศาสตร์และประธานไชน่า อินเตอร์เนชันแนล แคปิตอล คอร์ปอเรชั่น (ซีไอซีซี) ได้มองว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนไม่ใช่เงินสกุลดอลลาร์ทั้งหมด ดังนั้นการที่ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนตัวลงเรื่อยๆ ก็ได้ทำให้ทุนสำรองสกุลเงินอื่นๆเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ซึ่งน่าจะมีมูลค่าที่มากถึง 50,000 ล้านหยวน นอกจากนั้นยังมาจากการลงทุนและได้รับผลตอบแทนจากตลาดต่างประเทศ รวมถึงมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการที่พันธบัตรสหรัฐฯที่มีอยู่จำนวนมากมีมูลค่าสูงขึ้น

ด้านนายหลี่ เหลียนจ้ง หัวหน้าสำนักงานเศรษฐกิจประจำศูนย์วิจัยนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ระบุว่า หลังจากที่วิกฤตซับไพรม์ได้ขยายตัวขึ้นอีกระลอก ได้ทำให้มีเงินร้อนจำนวนมากไหลเทเข้ามาในจีน และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

ข้อดี-ข้อเสียทุนสำรองมหาศาล

เผย์ ฉางหงหัวหน้าสำนักงานการค้าสังกัดบัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์จีนระบุว่า “การที่รักษาทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ในปริมาณมากเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ ที่กำลังเดินไปในแนวทางเศรษฐกิจตลาด ทั้งในด้านเพิ่มศักยภาพในการจ่ายเงินให้ต่างชาติ หรือการรับมือกับความผันผวนของเงินทุนไหลเวียนต่างประเทศ การลงทุนเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศฯลฯ นอกจากนั้นทุนสำรองที่มากยังเป็นหลักประกันที่มั่นคงให้กับเงินหยวนในเวทีนานาชาติอีกด้วย

ศาสตราจารย์เซียว จั๋วจีจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ระบุว่า “การที่มีเงินทุนสำรองมาก จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศในการควบคุมเศรษฐกิจมหภาค และเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินจากเศรษฐกิจของต่างชาติ นอกจากนั้น ทุนสำรองจำนวนมากยังเป็นการเพิ่มสมรรถภาพในการแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศ รักษาความเป็นระเบียบทางเศรษฐกิจการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนได้”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการมีทุนสำรองก้อนมหาศาลจะมีข้อดีไม่น้อย ทว่านักเศรษฐศาสตร์อย่างคุณเหมย ซินอี้ว์ก็มองว่า ทุนสำรองจำนวนมากนั้นจะทำให้จีนสูญเสียอำนาจในการควบคุมทางนโยบายการเงินไปมาก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนด้วย

นอกจากนั้น ทุนสำรองจำนวนมากยังจะเป็นการเพิ่มต้นทุนของเงินสำรองและทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น คุณจาง หลี่ชิงหัวหน้าภาควิชาการเงินจากมหาวิทยาลัยไฉจิงระบุว่า เมื่อมีเงินสำรองระหว่างจำนวนมาก ก็เท่ากับไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องแบกรับกับต้นทุนในการสูญเสียโอกาส ที่เงินทุนเหล่านั้นไม่สามารถไปก่อเกิดดอกผลตอบแทนเพิ่มพูนขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อ และการที่ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงด้วย

ปรับสมดุลการเงินด้วยยุทธศาสตร์

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเงินทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ผู้เชี่ยวชาญได้มองว่าปัญหาการจัดสรรเงินทุน การใช้เงินทุน การยกระดับเงินทุน และการบรรลุเป้าหมายหลากหลายของเงินทุนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จีนจำเป็นจะต้องพิจารณาในขณะนี้

หลิน อี้ฟูนักเศรษฐกรและรองผู้ว่าธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)ได้ระบุว่า “นโยบายของจีนในเรื่องทุนต่างชาติ และการค้าระหว่างประเทศควรจะมีการปรับปรุง และกำหนดจุดยืนใหม่ ที่ผ่านมานโยบายด้านทุนต่างชาตินั้นแม้ว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างมาก ทว่าทุนต่างชาติเองก็ได้รับผลประโยชน์จากสิทธิพิเศษต่างๆที่ทางการจีนมอบให้ ดังนั้น ขณะนี้เมื่อทุนต่างชาติไม่ใช่ปัจจัยหลักในการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจจีนอีกต่อไป ดังนั้นนโยบายด้านทุนจึงควรหันมาดึงดูดไฮเทคโนโลยีที่ประเทศยังไม่มี และจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศเป็นหลัก”

ด้านศาสตราจารย์เจ้า ซือจวินรองหัวหน้าสำนักงานวิจัยการเงินและหลักทรัพย์ของมหาวิทยาลับเหรินหมินได้แนะนำว่า “จะต้องค่อยๆลดยอดเกินดุลการค้าระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการค่อยๆปรับโครงสร้างการซื้อขายกับต่างชาติ ในด้านการส่งออก ควรจะมีการเพิ่มภาษีส่งออกในสินค้าแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ และยกเลิกการหักคืนภาษี ใช้สัญญาณด้านราคาในการมาปรับสัดส่วนของการส่งออก ในขณะเดียวกันก็ให้จำกัดการส่งออกสินค้าที่มีการสร้างมลพิษสูงหรือใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองในกระบวนการผลิต แล้วให้สิทธิพิเศษกับสินค้าที่เป็นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศ กล่าวคือใช้นโยบายด้านการผลิตในการปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกให้ดีขึ้น”

กำลังโหลดความคิดเห็น