รอยเตอร์ – ท่ามกลางกระแสการเข้าซื้อและควบรวมกิจการในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาของโลก จีนนับว่าเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมที่สำคัญที่มีทั้งทุนและความมุ่งมั่น ทว่าเนื่องจากปัจจัยทางการเมือง การขาดแคลนประสบการณ์เฉพาะด้าน และจิตใจที่หวั่นเกรงต่อความเสี่ยง ทำให้จีนอาจจะต้องถอนตัวออกมาดูในวงนอกแทน
ปัญหาส่วนหนึ่งที่จีนต้องประสบ มาจากการที่หลายประเทศที่จีนคิดจะเข้าไปซื้อกิจการได้คำนึงถึงผลประโยชน์ในชนชาติ ทำให้มีการจับตาการเข้ามาถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจของทุนต่างชาติของตนเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นอุปสรรคหนึ่งของจีน
เจ้า เสี่ยวศาสตราจารย์จากคณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปักกิ่งได้กล่าวว่า “สถาบันการเงินของจีนที่คิดจะไปซื้อกิจการขนาดใหญ่ในต่างแดนยังไม่เข้มแข็งพอ พวกเขาควรจะหาประสบการจากการช่วยสนับสนุนวิสาหกิจด้านการผลิตที่ก้าวออกไป ซึ่งบางทีอีก 5 ปีสถาบันการเงินเหล่านี้จึงจะพร้อม”
สภาวะที่ไม่แน่นอน ผนวกกับการขาดทุนในการออกไปลงทุนในต่างประเทศอันเนื่องมาจากการขาดประสบการณ์ก่อนหน้า ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมของจีนที่เดิมก็มีความระมัดระวังอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อวิกฤติสินเชื่อทั่วโลกทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้การลงทุนของจีนในมอร์แกนสแตนลีย์ กับแบล๊คสโตนขาดทุน ซึ่งยิ่งถือเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดสำหรับนักลงทุนที่เคยชินกับสภาพเศรษฐกิจที่เคยเติบโต 2 หลักอย่างจีนอย่างยิ่ง
ในขณะเดียวกันเกลนน์ แมกไกวร์ นักเศรษฐศาสตร์เอเชียจากคอมเมอร์เชียล แบงกิ้งได้ระบุว่า “อาจจะมีวิสาหกิจจีนบางรายที่มีความมุ่งมั่นพอ แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตจากทางการของต่างชาติ เพราะสำหรับการเมืองแล้วสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีความอ่อนไหวมาก”
มีแค่เงิน..มันไม่พอ
เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองทำให้เมื่อต้นปีรัฐบาลสหรัฐฯยังไม่อนุมัติให้เบน แคปิตอลกับหัวเหว่ยจากจีน เข้าซื้อบริษัท 3คอม ซึ่งมูลค่าของการซื้อครั้งนี้มีสูงถึง 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในขณะที่มีข่าวว่าธนาคารจีนแห่งหนึ่ง จะยื่นแข่งขันเพื่อเข้าซื้อหุ้นของเลห์แมน บราเธอร์สวานิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯนั้น แมกไกวร์มองว่า การที่ธนาคารจีนจะซื้อหุ้นของเลห์แมน บราเธอร์ส ถือเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ ซึ่งตามรายงานของสื่อระบุว่า ธนาคารแห่งหนึ่งที่ว่านั้นน่าจะเป็นซิติกแบงก์ ถือเป็นโอกาสที่หาได้ยากมากในรอบ 50 ปีทีเดียว
“เมื่อมองในด้านของมูลค่าตลาดกับหลักทรัพย์ ธนาคารใหญ่ของจีนนับว่ามีขนาดยิ่งใหญ่มาก แต่ถ้าเทียบกับธนาคารนานาชาติแล้ว กิจการของธนาคารจีนยังครอบคลุมไปไม่พอ” หลี่ จิง หัวหน้าส่วนตลาดหลักทรัพย์ของเจพี มอร์แกนระบุ
พัฒนาในประเทศก่อนสยายปีกบุกตลาดโลก
เมื่อเทียบกับความรุ่งเรืองในภาคการผลิต ภาคการเงินของจีนยังล้าหลังกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่มาก นี่เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่คณะกรรมการควบคุมทั้งหลายต้องระวังตัว และเรียกร้องให้สถาบันการเงินของจีนที่คิดจะรุกไปตลาดต่างประเทศนั้น เร่งสร้างผลงานและการพัฒนาในประเทศให้ดีเสียก่อน
อย่างเช่นเมื่อปีที่แล้ว บริษัทผิงอัน อินชัวรันซ์ กรุ๊ป บริษัทประกันภัยอันดับ 2 ของจีนได้ทุ่มทุน 1,810 ล้านยูโร (2,680 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในการเข้าไปถือหุ้น 4.18% ของ Fortis Group บริษัทด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดในเบลเยียม และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัทดังกล่าว โดยการลงทุนในครั้งนี้ จัดว่าเป็นการลงทุนสูงสุดในต่างประเทศของภาคประกันภัยจีน ทว่าในเดือนนี้ทาง Fortis Group กลับออกมาประกาศว่า จนถึงขณะนี้คณะกรรมการคุมกฎของจีนยังไม่ยอมอนุมัติการซื้อกิจการด้านบริหารสินทรัพย์อีกครึ่งหนึ่งของผิงอัน อินชัวรันซ์ที่มีมูลค่า 3,330 ล้านเหรียญสหรัฐฯเลย
ส่วนในปีที่แล้วที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน ได้ซื้อหุ้นของธนาคารบาร์เคลย์ของอังกฤษ จำนวน 3.1% ทว่าในปีนี้โครงการที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีนจะเพิ่มทุนในบาร์เคลย์กลับถูกทางการปฏิเสธ
“หากว่าไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแปรเปลี่ยนโอกาสให้เป็นความเป็นจริง เช่นนั้นโอกาสก็จะไม่ใช่โอกาสอีกต่อไป” นายกอร์ดอน ออร์ ประธานแมคคินซีย์เซี่ยงไฮ้ระบุ
อย่างไรก็ตาม บางทีการที่จีนค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อหุ้นหรือกิจการของเหมืองแร่หรือกิจการภาคผลิตมากกว่านั้น อาจจะเป็นเพราะต้องการที่จะตอบสนองวัตถุดิบให้กับเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วก็เป็นได้ โดยแมกไกวร์ได้ระบุว่า “ภาคส่วนเดียวที่จีนอยากจะเข้าไปถือครองมากที่สุด ก็คือกิจการห่วงโซ่ที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง”
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา บรรษัทการลงทุนแห่งประเทศจีน หรือซีไอซีได้ขาดทุนไปราว 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือเกือบครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนทั้งหมดจำนวน 3,000 ล้านเหรียญจากการที่ไปลงทุนในแบล๊ค สโตน ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ซีไอซี ได้ไปลงทุนเอาไว้