เอเอฟพี – ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งกุมอำนาจการปกครองในประเทศจีน กำลังเผชิญหน้ากับปี 2009 ซึ่งเป็นปีของวาระครบรอบเหตุการณ์ที่มีความอ่อนไหวหลายเรื่อง และอาจสั่นคลอนเสถียรภาพทางสังคม ในยามที่ประเทศจีนก็กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อจีนในขณะเดียวกัน
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ให้ความเห็นว่า ประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 50 ปีของการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลจีนของชาวทิเบต เมื่อวันที่10 มีนาคม 1959 ซึ่งเหตุครั้งนั้นจบลงด้วยการปราบปรามของกองทัพจีน และทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต หนีไปอินเดีย
ปีนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 1 ปีของเหตุจราจลกลางกรุงลาซา เมืองหลวงในทิเบต ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปีที่เเล้วด้วย
นอกจากนี้ วันที่ 29 มีนาคมปีนี้ ยังเป็นโอกาศครบรอบ 30 ปี ที่ เว่ย จิงเซิง นักเคลื่อนไหวผู้ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกจับกุมรวมทั้งยังเป็นโอกาสครบรอบของกระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศจีน ที่เรียกว่า 'Beijing Spring' อีกด้วย (อ่านรายละเอียดท้ายเรื่อง)
ถัดจากนั้นอีกสองเดือนต่อมา ก็จะเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุปราบปรามนักศึกษาและประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989
วาระต่างๆที่เวียนมาครบรอบกันในปี 2009 นี้ จะเป็นโอกาสให้ประชาชนเรียกร้องกับรัฐบาลผ่านรูปแบบต่างๆ ทั้งผ่านอินเตอร์เน็ต, การประชุมพบปะกัน, การวางพวงมาลา, การประท้วง หรือแม้แต่การก่อจลาจล
“ตามประวัติศาสตร์แล้ว วาระครบรอบต่างๆมักจะถูกใช้เป็นโอกาสในการแสดงความไม่พึงพอใจในเรื่องต่างๆ” ฌองค์ ฟิลิป เบจา หัวหน้าสำนักวิจัย CNRS ของฝรั่งเศส กล่าว พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า โอกาสครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้นำจีนกลัวมากที่สุด
“เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน ฝากแผลลึกให้กับทั้งสังคม ซึ่งผู้นำจีนกังวลมากว่า การระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นจะฟื้นคืนแนวคิดการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยการจับกุมหลิว เสี่ยวปอ หนึ่งในแกนนำในการชุมนุมเมื่อปี1989 เมื่อเดือนที่แล้วก็เแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนกังวลในเรื่องนี้” ฌองค์ ฟิลิป เบจา หัวหน้าสำนักวิจัย CNRS ของฝรั่งเศส กล่าว
ทั้งนี้ในช่วงตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ถึง15 มิถุนายน บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินจะมีการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเสียชีวิตของหู เย่าปัง อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ หัวปฏิรูป ซึ่งการถึงแก่กรรมของเขาเป็นสาเหตุหนึ่งที่จุดชนวนการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
นอกจากนี้วันที่ 25 เมษายนก็เป็นโอกาสครบรอบสิบปี ที่สมาชิกลัทธิฝ่าหลุนกง จำนวน 10,000 คนชุมนุมหน้าทำเนียบจงหนานไห่ กลางกรุงปักกิ่ง ซึ่งก็อาจเกิดเหตุวุ่นวายได้เช่นกัน
ปี 2009 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบวาระของเหตุการณ์หลายอย่าง ผนวกกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อจีน ทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก ยิ่งจะทำให้ปีนี้เป็นเวลาที่รัฐบาลจีนต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง
“เรากำลังอยู่ในปีที่มีทั้งวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม จาก การว่างงานของคนงาน และนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งรัฐบาลจีนกลัวมากว่า จะเกิดการเรียกร้องทางสังคมอันจะขยายตัวไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง” ฌองค์ ฟิลิป เบจา หัวหน้าสำนักวิจัย CNRS ของฝรั่งเศส กล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการชาวจีน อย่าง หู ซิงตู้ ศาสตรจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งปักกิ่ง กลับมองว่าไม่มีใครอยากเห็น ประเทศจีนมีความวุ่นวาย “รัฐบาลจีนรู้ดีว่าต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาเสถียรภาพ และก็รู้ด้วยว่าจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปี 2009 ยังเป็นปีสำคัญที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชาติจีน นั่นคือ การเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งยังจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงแสนยานุภาพและความยิ่งใหญ่ของประเทศจีนอีกด้วย
-------------------------------------------------------------
Beijing Spring (北京之春) เป็นคำเรียกช่วงเวลาที่เกิดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย และเสรีภาพในสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี1977 ถึง 1978 ซึ่งคำว่า Beijing Spring มีที่มาจาก "Prague Spring" ซึ่งเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศเช็คโกสโลวาเกีย เมื่อปี 1968
Beijing Spring เป็นการเรียกร้องให้ประชาชนชาวจีน สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ โดยเฉพาะความผิดพลาดในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งเป็นช่วงที่เวลาที่ทั่วทั้งแผ่นดินจีนระส่ำระสายอย่างถึงขีดสุด
เว่ย จิงเซิง 魏京生 เกิดเมื่อ 20 พฤษภาคม 1950 เขาเป็น เรดการ์ด ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม และหลังจาก เติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นเป็นผู้นำจีน เขาก็ได้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และโจมตี เติ้ง เสี่ยวผิง ว่าต้องการสืบทอดระบบเผด็จการให้คงอยู่ในประเทศจีน ด้วยการรวบอำนาจต่างๆไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว
29 มีนาคม 1979 เว่ย จิงเซิง ถูกจับกุมในข้อหาเผยแพร่ความลับทางทหาร และถูกตัดสินจำคุกครั้งแรก 15 ปี โดยระหว่างถูกคุมขัง เขาก็ยังเขียนจดหมายและบทความวิพากษ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนในหลายเรื่อง ทั้งความไร้มนุษยธรรมในเรือนจำ จนถึงเรื่องสงครามระหว่างจีนกับเวียดนาม และเรื่องอื่นๆ จนทำให้เขาถูกจำคุกอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปล่อยตัวเขาเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อ 19 กันยายน1993 เพื่อแสดงถึงการยอมรับเสรีภาพของรัฐบาลจีน ในโอกาสที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค แต่หลังจากนั้นเขาก็ถูกจำคุกอีก จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 16 พ.ย.1997 ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ
ปัจจุบัน เว่ย จิงเซิง ลี้ภัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา