xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดศิลปะร่วมสมัยอาจดีขึ้น เพราะวิกฤตการเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายคนหนึ่งเดินผ่านถนน 798 ถนนศิลปะแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2008 - ภาพ เอเอฟพี
เอเอฟพี - ตลาดค้างานศิลปะในทั่วโลกกำลังถูกวิกฤตการเงินหวดกระหน่ำ แต่นักวิเคราะห์มองว่า นี่อาจเป็นคลื่นลูกใหญ่ ถาโถม ชะล้างให้ตลาดงานศิลปะร่วมสมัยของจีน ซึ่งเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง มีสุขภาพดีขึ้น

ย้อนไปไม่ถึงสิบปีก่อน งานศิลปะร่วมสมัยบนแดนมังกรได้เข้าสู่ช่วงดาวจรัสฟ้า มันทำให้อาร์ติสโนเนมดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน ทว่าอารมณ์เริงร่า มาถึงตอนนี้ กำลังแผ่วลง ซึ่งบางคนกลับมองว่า จริง ๆ แล้ว อาจเป็นเรื่องที่ดี

“ บางที่เราจะได้เห็นการแก้ไข ซึ่งจะส่งผล ที่เป็นประโยชน์ก็ได้” เบเรนีซ แองเกรมี ผู้อำนวยการของทิงกิ้ง แฮนด์ส (Thinking Hands) ให้ความเห็น โดยทิงกิ้ง แฮนด์ส เป็นองค์กรหนึ่งในย่านศิลปะ 798 ของกรุงปักกิ่ง ซึ่งเชี่ยวชาญการจัดงานด้านวัฒนธรรม

ที่ฮ่องกง จำนวนผู้เข้าประมูลซื้องานศิลปะที่สำนักประมูลคริสตี้ส์ และโซเทอบีส์ อยู่ในเกณฑ์ต่ำจนน่าผิดหวัง ส่วนที่แผ่นดินใหญ่ แกลเลอรีพากันปิดกิจการ จนเกิดคำถามขึ้นว่า ฟองสบู่กำลังจะแตกแล้วงั้นสิ ?

“ ตลาดสำหรับงานศิลปะร่วมสมัยของจีนโตขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จาก 3 ล้านดอลลาร์ในปี 2547 เป็น 194 ล้านดอลลาร์ในปี 2550” เอเวอลิน หลิว ผู้บริหารของโซเทอบีส์ ระบุ

“ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ถ้าตลาดจะเริ่มนิ่งเล็กน้อย”

ที่กรุงปักกิ่ง โพลี อ๊อกชั่น (Poly Auction) ได้ลิ้มรสชาติของวิกฤตการเงินเหมือนกัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับราคางานศิลปะในร้าน

“ ราคาโดยเฉลี่ยได้ปรับลดลง แต่ผลงานชิ้นงาม ๆ ของศิลปินที่เก่งก็ยังได้ราคาน่าพอใจอยู่ครับ ” ซี่ว์ เจวี่ยน ผู้อำนวยการแผนกระหว่างประเทศของโพลี อ๊อกชั่นเปิดเผย

ยกตัวอย่าง คราวที่เขาเปิดประมูลขายภาพเขียนของเจิง ฟั่นจือ จิตรกรชื่อดังเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขาขายได้ถึง 900,000 ดอลลาร์

แต่ก็แน่ละ ราคาดังกล่าวย่อมมิใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอันใดสำหรับศิลปินคนหนึ่ง ที่เคยวาดภาพ ซึ่งมีชื่อว่า “Mask Series 1996 No.6” และสำนักประมูลคริสตี้ส์ ในฮ่องกงประมูลขายได้ราคาลิบลิ่วถึง 10 ล้านดอลลาร์

เรียกว่า สูงเป็นประวัติการณ์สำหรับผลงานศิลปะร่วมสมัยของจีนเลยทีเดียว แต่ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา ก็เกือบมีคนมาเทียบรัศมี เมื่อภาพเขียนสีน้ำมันของหลิว เสี่ยวตงทำเงินได้ถึง 7,950,000 ดอลลาร์ ที่สำนักประมูลเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม คนวงในตลาดค้างานศิลปะของจีนเล่าว่า ความลุ่มหลงในงานศิลปะจีนของผู้คนทำให้อาร์ติสมากมายผลิตผลงานหากิน โดยอาศัยแนวศิลปะในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม หรือศิลปะป๊อปอาร์ต ซึ่งหมดราคาในแง่ความแปลกใหม่ไปนานแล้ว

“ มีผลงานก๊อปปี้ออกมากันเยอะ และประเภทงานศิลปะกลุ่มก้าวหน้า (avant-garde art) ซึ่งล้าสมัยในประเทศตะวันตกมา 30 หรือ 40 ปี” ตัวแทนขายงานศิลปะในฮ่องกงรายหนึ่งบอก

“ ราคางานเหล่านั้น มันแพงเกินไป๊ พวกอาร์ติสรุ่นเด็ก ยังเรียนหนังสืออยู่เลย ขายรูปวาดกันทีรูปละ 100,000 ดอลลาร์” ผู้จัดการแกลเลอรี่ร้านหนึ่งที่ย่าน798 เล่า

แอ งเกรมี ผู้อำนวยการของทิงกิ้ง แฮนด์ส บอกว่าช่วง 5 หรือ 6 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงกำลังเฟื่องและตลาดไม่มีความสมบูรณ์

“มีนักศิลปะของแท้อยู่บ้าง ศิลปินฝีมือยอดเยี่ยม แต่ก็มีพวกที่เลยเถิด และเก็งกำไรอยู่เกลื่อนด้วยเหมือนกัน” เธอกล่าว

“เริ่มมีคนสงสัยกันมากขึ้นว่า พวกพวกอาร์ติสและแกลเลอรีได้ซื้องานศิลปะของตัวเอง เพื่อกันไม่ให้ราคาตกลง แม้ว่าวิธีการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในจีน แต่ก็ทำกันแพร่หลายที่นี่มากกว่าที่อื่น ๆ”

แม็ก มักจิโอ ผู้จัดการของปักกิ่ง ไฟน์ อาร์ตส์ (Beijing Fine Arts) ในเชาชางตี้ย่านตลาดงานศิลปะอีกแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของจีน เห็นพ้องด้วยที่ว่าวิกฤตการเงินอาจช่วยกำจัดผลงานที่ด้อยคุณภาพออกไปจากตลาดงานศิลปะของจีน โดยในที่สุดแล้ว ตลาดที่จีนจะไปได้ดี และหลุดออกจากวิกฤตการเงินอย่างมีสุขภาพดีขึ้น

“ยังมีความหวังกันด้วยว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ห้องแสดงนิทรรศการศิลปะและร้านขายงานศิลป์จะมุ่งเรื่องการค้าน้อยลง, ออกผลงานในลักษณะที่เป็นการทดลองเพื่อความก้าวหน้าและแปลกใหม่สำหรับวงการศิลปะให้มากขึ้น และมีความน่าตื่นเต้นให้กับสาธารณชน และนักสะสมมากขึ้นด้วย”
ผลงานศิลปะที่ถูกนำมาตั้งโชว์ที่ถนน 798 ถนนศิลปะแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2008 - ภาพ เอเอฟพี
เจ้าของร้านแห่งหนึ่งบนถนน 798 ในกรุงปักกิ่ง กำลังตกแต่งหน้าร้าน  - ภาพ เอเอฟพี
ผลงานกราฟิตี้บนกำแพงที่ถนน 798 -ภาพ เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น