เอเจนซี-จีนยังเผชิญความยากลำบากในการคลี่คลายการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่น้อย แม้ตัวเลขเศรษฐกิจหลายชุดส่งสัญญาณการฟื้นตัว แต่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ กลับดิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี ที่ร้อยละ 6.1 เนื่องจากภาคส่งออกที่ยังซบเซา
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานเมื่อวันพฤหัสฯ(16 เม.ษ.) เผยอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของประเทศ ขยายที่ร้อยละ 6.1 ต่ำกว่าประมาณการณ์ระดับกลางคือร้อยละ 6.2 ที่กลุ่มเศรษฐกร 13 คน ระบุในการสำรวจของสำนักข่าวบลูกเบิร์ก
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆของจีนก็ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัว อันเป็นผลมาจากกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลตั้งงบฯไว้ถึง 4 ล้านล้านหยวน (585,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ได้แก่ การขยายตัวของสินเชื่อจากกลุ่มธนาคาร ซึ่งดันดัชนีหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต อินเด็กซ์ ทะยานสูงในรอบ 8 เดือน อัตราขยายตัวในภาคลงทุน และผลผลิตอุตสาหกรรม ที่สดใสขึ้นในเดือนมีนาคม และรายได้ที่กระเตื้องขึ้นในไตรมาสแรก
“ตัวเลขหลายชุดที่ปรากฏออกมา ช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ สำหรับปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ วิธีการส่งเสริมการบริโภค และสนับสนุนภาคลงทุน” สตีเฟน กรีน หัวหน้าสำนักวิจัยเรื่องจีน ประจำสแตนดาร์ท ชาร์ทเตอร์ด ในเซี่ยงไฮ้ ชี้
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น ได้แก่ การขยายตัวในผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม ที่ร้อยละ 8.3 เทียบกับปีก่อนหน้า และสูงจากระดับร้อยละ 3.8 ในช่วงสองเดือนแรกของปี, การลงทุนภาคสินทรัพย์ถาวรในเขตเมือง ก็ขยายร้อยละ 30.3 ขณะที่ยอดค้าปลีกสูงขึ้นที่ร้อยละ 14.7 ในเดือนมีนาคม จากรายงานของสำนักสถิติแห่งชาติจีน
ขณะเดียวกัน รายได้สุทธิในเขตเมือง ขยายร้อยละ 11.2 โดยไม่คิดรวมอัตราเงินเฟ้อ ส่วนรายได้เงินสดในภาคชนบท ไต่ขึ้นมาที่ร้อยละ 8.6
อย่างไรก็ตาม อัตราเติบโตเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ก็ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เทียบกับตัวเลขการเติบโตทั้งปีของปี 2551 ที่ร้อยละ 9, และร้อยละ 13 ในปี 2550 ขณะนี้องค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี คาดการณ์การเติบโตทั้งปีของจีนปี 2552 นี้ ที่ร้อยละ 6.3 เทียบกับตัวคาดการณ์การเติบโตปีนี้ของสหรัฐอเมริการ้อยละ 4, และของญี่ปุ่นร้อยละ 6.6
ภาคบรรษัทต่างๆในจีน ก็ได้อานิสงค์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกันบ้างแล้ว อาทิ เจนเนอรัล สตีล โฮลดิ้งส (General Steel Holdings Inc.) เผยว่าโรงงานใหญ่ที่เมืองฮั่นเฉิง มณฑลส่านซี ได้ลงนามสัญญา ขายเหล็ก 560,000 เมตริกตัน ในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเหล็กเหล่านี้ จะนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ
คาดการณ์ภาครถยนต์จีนกระเตื้องขึ้น
เจนเนอรัล มอเตอร์ คอร์ป (General Motors Corp) ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติรายใหญ่สุดในจีน ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ยอดขายในจีนปีนี้ หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นความต้องการโดยจัดสรรงบฯอุดหนุนการซื้อสินค้าในเขตชนบท
สำหรับปัจจัยที่ทำจีดีพีจีนไตรมาสแรกตกสู่ระดับต่ำเช่นนี้ ก็คือภาคส่งออก ที่โดนพิษภาวะถดถอยของโลก ที่หั่นความต้องการในภาคสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้โรงงานหลายพันแห่งต้องปิดกิจการ แรงงานอพยพตกงานมากกว่า 20 ล้านคน นับเป็นปัญหาน่ากลัวสุดของผู้นำจีน เพราะอาจก่อความวุ่นวายทางสังคม หากแก้ไขปัญหามิทันการณ์
“การส่งออกจะฉุดรั้งการเติบโตไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นอย่างน้อย” นายมาร์ก วิลเลียมส เศรษฐกร ประจำ แคปปิตัล อิโคโนมิกส (Capital Economics) ในกรุงลอนดอน บอก
รายงานสภาพการณ์เศรษฐกิจจีนครั้งล่าสุดนี้ เป็นสภาพที่กลับตาลปัตรกับปีที่แล้ว โดยปีที่แล้ว เศรษฐกิจโตที่ร้อยละ 10.6 รัฐบาลเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่บวมขึ้นมากกว่าร้อยละ 8
สำหรับปีนี้ ดัชนีผู้บริโภค หรือซีพีไอในเดือนมีนาคม ตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากปีก่อนหน้า และยังเป้นระดับที่ลดลงจากร้อยละ 1.6 ในเดือนกุมภาพันธ์
การที่เงินเฟ้อลดระดับลงเช่นนี้ เป็นเงื่อนไขดีในการระดมเครื่องมือทางการเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารกลาง ลดดอกเบี้ยกู้ยืมระยะเวลา 1 ปี ลงอีก 216 จุด อยู่ที่ร้อยละ 5.31 เมื่อปีที่แล้ว และลดอัตราเงินสดสำรองของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 2 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 15.5
พร้อมกันนี้ ธนาคารยังได้ขยายเพดานการปล่อยกู้ในช่วงถึงปลายปี 2551 ส่งผลให้ยอดปล่อยกู้ก้อนใหม่สูงขึ้น 6 เท่าตัว เท่ากับ 1.89 ล้านล้านหยวน (277,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในเดือนมีนาคมจากปีก่อนหน้า จนมีกลุ่มเศรษฐกรจำนวนหนึ่ง ออกมาแสดงความวิตกว่าเงินสดที่ปล่อยสู่ระบบเศรษฐกิจจะกระตุ้นฟองสบู่ในสินทรัพย์ และเกิดการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลือง
“ดังนั้น ในก้าวต่อไป จะต้องฉุดรั้งการขยายตัวในภาคสินเชื่อ และการลงทุนของกลุ่มรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อที่จะลดความเสี่ยงของความผิดพลาดในการกระจายทรัพยากรมหาศาล ฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ และความเสียหายในระบบธนาคาร” หวัง เทา เศรษฐกร แห่ง USB AG .ในกรุงปักกิ่งชี้
สหรัฐฯเลิกกดดันจีนปรับค่าหยวน
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุดนี้ เผยพร้อมกับที่ผู้นำในกรุงวอชิงตัน แสดงท่าทีอ่อนต่อนโยบานค่าเงินจีน โดยรัฐมนตรีว่าการคลัง นาย ทิโมธี ไกธ์เนอร์ แถลงในวันพุธ(15 เม.ษ.) ว่าจีนมิได้แทรกแซงค่าเงิน สลายแรงกดดันการแข็งค่าเงินหยวนที่สหรัฐฯเรียกร้องมาตลอด ซึ่งการขึ้นค่าเงินหยวนนี้ เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการฟื้นภาคส่งออก
ทั้งนี้ จากวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงสิ้นปีที่แล้ว ค่าเงินหยวนต่อเหรียญสหรัฐฯ สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 และนับจากต้นปีนี้มา ค่าเงินก็เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยอัตราแลกเปลี่ยนหยวนต่อเหรียญสหรัฐฯ เท่ากับ 6.8318 หยวน ต่อ หนึ่งดอลลาร์ ในการซื้อขายที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ช่วงเช้าวันพฤหัสฯ(16 เม.ษ.)