xs
xsm
sm
md
lg

ฤาใกล้ถึงเวลา"มังกร" ผงาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตาดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของ "จีน" อย่างใจจดจ่อ ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไตรมาสเเรกของยักษ์ใหญ่ในเอเชียจะไปในทิศทางไหน ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะประเทศจีนหรือประเทศอื่นๆ ยังคงต้องเผชิญความยากลำบากในการคลี่คลายการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่น้อย จากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยหลายประเทศที่พึ่งพากันส่งออก ต่างได้รับบาดเจ็บจากเศรษฐกิจขาลงเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น หรือเเม้เเต่ประเทศไทย ที่ไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าได้หรือส่งสินค้าออกได้จำนวนน้อยลง

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลของเเต่ละประเทศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างพากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรียกได้ว่างัดวิชาเศรษฐศาสตร์ผนวกกับประสบการณ์ที่เคยมี มาใช้สู้กับวิกฤติที่เกิดขึ้น

ความหวังของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้ ทุกคนต่างเทใจไปที่ประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขสำคัญๆทางเศรษฐกิจที่ทางการเงินเองก็รายงานออกมาเป็นระยะ หรือเเม้เเต่ความเคลื่อนไหวของประชาชนเรียกได้ว่าเกือบทุกๆด้านเลยก็ว่าได้

โดยล่าสุดทางสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของประเทศ ขยายที่ร้อยละ 6.1 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการณ์ระดับกลางคือร้อยละ 6.2 ที่กลุ่มเศรษฐกร 13 คน ระบุในการสำรวจของสำนักข่าวบลูกเบิร์ก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆของจีนก็ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัว อันเป็นผลมาจากกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลตั้งงบฯไว้ถึง 4 ล้านล้านหยวน (585,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ได้แก่ การขยายตัวของสินเชื่อจากกลุ่มธนาคาร ซึ่งดันดัชนีหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต อินเด็กซ์ ทะยานสูงในรอบ 8 เดือน อัตราขยายตัวในภาคลงทุน และผลผลิตอุตสาหกรรม ที่สดใสขึ้นในเดือนมีนาคม และรายได้ที่กระเตื้องขึ้นในไตรมาสแรก

ซึ่งสตีเฟน กรีน หัวหน้าสำนักวิจัยเรื่องจีน ประจำสแตนดาร์ท ชาร์ทเตอร์ด ในเซี่ยงไฮ้ ชี้ มองว่า ตัวเลขหลายชุดที่ปรากฏออกมา ช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ สำหรับปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ วิธีการส่งเสริมการบริโภค และสนับสนุนภาคลงทุน ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนที่กระเตื้องขึ้น ได้แก่ การขยายตัวในผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม ที่ร้อยละ 8.3 เทียบกับปีก่อนหน้า และสูงจากระดับร้อยละ 3.8 ในช่วงสองเดือนแรกของปี, การลงทุนภาคสินทรัพย์ถาวรในเขตเมือง ก็ขยายร้อยละ 30.3 ขณะที่ยอดค้าปลีกสูงขึ้นที่ร้อยละ 14.7 ในเดือนมีนาคม ขณะที่รายได้สุทธิในเขตเมือง ขยายร้อยละ 11.2 โดยไม่คิดรวมอัตราเงินเฟ้อ ส่วนรายได้เงินสดในภาคชนบท ไต่ขึ้นมาที่ร้อยละ 8.6

อย่างไรก็ตาม อัตราเติบโตเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ก็ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เทียบกับตัวเลขการเติบโตทั้งปีของปี 2551 ที่ร้อยละ 9, และร้อยละ 13 ในปี 2550 ขณะนี้องค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี คาดการณ์การเติบโตทั้งปีของจีนปี 2552 นี้ ที่ร้อยละ 6.3 เทียบกับตัวคาดการณ์การเติบโตปีนี้ของสหรัฐอเมริการ้อยละ 4, และของญี่ปุ่นร้อยละ 6.6

ส่วนภาคบรรษัทต่างๆ ในจีน ก็ได้อานิสงค์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกันบ้างแล้วเช่น เจนเนอรัล สตีล โฮลดิ้งส (General Steel Holdings Inc.) ซึ่โรงงานใหญ่ที่เมืองฮั่นเฉิง มณฑลส่านซี ได้ลงนามสัญญา ขายเหล็ก 560,000 เมตริกตัน ในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเหล็กเหล่านี้ จะนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

สำหรับปัจจัยที่ทำจีดีพีจีนไตรมาสแรกตกสู่ระดับต่ำเช่นนี้ ก็คือภาคส่งออก ที่เกิดจากพิษภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกซึ่งหั่นความต้องการในภาคสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้โรงงานหลายพันแห่งต้องปิดกิจการ ทำให้แรงงานอพยพตกงานมากกว่า 20 ล้านคน นับเป็นปัญหาน่ากลัวสุดของผู้นำจีน เพราะอาจก่อความวุ่นวายทางสังคม หากแก้ไขปัญหาไม่ทันการณ์

โดยนักวิชาการเเละนักวิเคราะห์ต่างพากันคาดการณ์ว่า “การส่งออกจะฉุดรั้งการเติบโตไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นอย่างน้อย” ซึ่งรายงานสภาพการณ์เศรษฐกิจจีนครั้งล่าสุดนี้ เป็นสภาพที่กลับตาลปัตรกับปีที่แล้ว โดยปีที่แล้ว เศรษฐกิจโตที่ร้อยละ 10.6 รัฐบาลเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่บวมขึ้นมากกว่าร้อยละ 8

ขณะที่ดัชนีผู้บริโภค หรือซีพีไอในเดือนมีนาคม ตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากปีก่อนหน้า และยังเป้นระดับที่ลดลงจากร้อยละ 1.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ การที่เงินเฟ้อลดระดับลงเช่นนี้ เป็นเงื่อนไขดีในการระดมเครื่องมือทางการเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารกลาง ลดดอกเบี้ยกู้ยืมระยะเวลา 1 ปี ลงอีก 216 จุด อยู่ที่ร้อยละ 5.31 เมื่อปีที่แล้ว และลดอัตราเงินสดสำรองของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 2 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 15.5

นอกจกานี้ธนาคารยังได้ขยายเพดานการปล่อยกู้ในช่วงถึงปลายปี 2551 ส่งผลให้ยอดปล่อยกู้ก้อนใหม่สูงขึ้น 6 เท่าตัว เท่ากับ 1.89 ล้านล้านหยวน (277,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในเดือนมีนาคมจากปีก่อนหน้า จนมีกลุ่มเศรษฐกรจำนวนหนึ่ง ออกมาแสดงความวิตกว่าเงินสดที่ปล่อยสู่ระบบเศรษฐกิจจะกระตุ้นฟองสบู่ในสินทรัพย์ และเกิดการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลือง

ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯเองก็แสดงท่าทีอ่อนต่อนโยบานค่าเงินจีน โดยรัฐมนตรีว่าการคลัง นาย ทิโมธี ไกธ์เนอร์ กล่าว ว่าจีนมิได้แทรกแซงค่าเงิน สลายแรงกดดันการแข็งค่าเงินหยวนที่สหรัฐฯเรียกร้องมาตลอด ซึ่งการขึ้นค่าเงินหยวนนี้ เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการฟื้นภาคส่งออก ซึ่งจากวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงสิ้นปีที่แล้ว ค่าเงินหยวนต่อเหรียญสหรัฐฯ สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 และนับจากต้นปีนี้มา ค่าเงินก็เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

เศรษฐกิจจีนฟื้นเเน่ ยอดจับจ่ายผู้บริโภคสูงลิ่ว
โดยตัวเลขการจับจ่ายของผู้บริโภคแดนมังกรดีดตัวขึ้น แตกต่างจากสหรัฐฯ และยุโรปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาจช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกได้เร็วขึ้น โดยเศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโตมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรกปีนี้ แต่ยอดการขายปลีกในช่วงเดียวกันกลับพุ่งถึงร้อยละ15.9 แม้ลดลงจากร้อยละ 17.7 ในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว แต่ก็เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ หากดูจากการว่างงาน ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องในประเทศ

นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ระบุว่า การบริโภคขยายตัวรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาคกลางและตะวันตก ซึ่งมีความเจริญน้อยกว่าภาคอื่น พร้อมกับย้ำว่า “ความมั่นใจมีความสำคัญยิ่งกว่าเงินทอง” และการจับจ่ายของผู้บริโภคในระดับนี้แสดงว่าความพยายามของรัฐบาลในการปลุกขวัญประชาชนกำลังทำงานได้ผล

อุตสหกรรมรถยนต์รับอานิสงค์
อัลริช วอล์กเกอร์ ประธานและซีอีโอของเดมเลอร์ในฝ่ายปฏิบัติการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
ระบุ ประชากรในประเทศจีนยังมีเงินซื้อรถเมอร์ซีเดสกันอยู่ โดยทางบริษัทคาดการณ์แนวโน้มตลาดแดนมังกรจะเติบโตต่อไป โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เป็นกลุ่ม ที่ได้รับประโยชน์มากเป็นพิเศษจากแนวโน้มที่สดใสดังกล่าว โดยยอดขายรถในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 แตะสถิติใหม่ 1,110,000 คันในเดือนมีนาคม หลังจากตกฮวบฮาบช่วงฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว ส่วนยอดขายของผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติได้แก่รถเมอร์ซีเดส-เบนซ์ของบริษัทเดมเลอร์, บริษัทออดี้ และเจเนอรัล มอร์เตอร์ ซึ่งลงทุนร่วมกับผู้ผลิตท้องถิ่นของจีน ผลิตรถบูอิก, เชอวี และคาดิลแล็ก ต่างพุ่งสูงสุดในเดือนมีนาคม

ขณะเดียวกัน รถมินิแวนขนาดเล็ก หรือไมโครมินิแวน ซึ่งผลิตในจีน กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในท้องถิ่นชนบท อันเป็นผลมาจากรัฐบาลออกมาตรการให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรในการซื้อรถคันใหม่ ทำให้รถอู่หลิง รถไมโครมินิแวน ซึ่งผลิตโดยบริษัทสาขาของเจเนอรัล มอเตอร์ ซึ่งปกติมีราคาถูกอยู่แล้ว คือคันละประมาณ 30,000-40,000 หยวน (4,400-5,500 ดอลลาร์) ยิ่งน่าสนใจ

จีนยังเป็นตลาดที่สดใส แม้แต่กับบริษัท ที่ยังไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ตาม โดยพร็อกเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่มองว่า ยอดขายของบริษัทในจีนยังเติบโต ทว่าด้วยอัตราชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 6 ปี อย่างไรก็ตาม ยอดขายในตลาดอื่น ๆ นั้น มีแต่หดลง

ด้านหลุยส์ วิตตอง ระบุว่า ยอดขายยังคงทรงตัวสม่ำเสมอในปีที่แล้ว เทียบกับรายได้จากการขาย ที่ตกลงร้อยละ 4 และร้อยละ 5 ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นตามลำดับ ขณะที่เมโทร เอจี ผู้ค้าปลีกรายใหญ่อันดับ 2 ของยุโรป รายงานยอดขยายสินค้าในจีน พุ่งขึ้นร้อยละ 15 แตะ 1,100 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

จากผลการศึกษา โดยบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ชี้ว่า ผู้บริโภคในจีนถึง 3 ใน 4 มีแผนคงระดับการใช้จ่าย หรือเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้นในปีหน้า อันเป็นจำนวนผู้บริโภค ที่สูงกว่าในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเกือบ 2 เท่า ซึ่งผู้บริโภคแดนมังกรยังวิตกกังวลเรื่องการเงินของตนน้อยกว่าอีกด้วย โดยมีเพียงร้อยละ 23 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะย่ำแย่ลงอีกในปีนี้ เทียบกับร้อยละ 32 ในสหรัฐฯ , ร้อยละ 49 ในยุโรป และร้อยละ57 ในญี่ปุ่น ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขี้น และเศรษฐกิจจีนที่เติบโตมาตลอด 3 ทศวรรษ ทำให้คนรุ่นใหม่ในประเทศ ไม่มีความทรงจำที่เลวร้ายอยู่ในหัวเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น