xs
xsm
sm
md
lg

จีนสร้างงานในชนบท แก้ปัญหานศ.ว่างงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวจีนหลายพันคนสนใจเข้าร่วมงานจ๊อบ แฟร์เพื่อหาตำแหน่งงานว่างให้กับตัวเอง โดยในภาพเป็นบรรยากาศของจ๊อบ แฟร์ในเมืองต่างๆ ได้แก่ นครฉงชิ่ง ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้(ภาพบนซ้าย) ,กรุงปักกิ่ง (บนขวา) และเมืองหนันจิง มณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 7ก.พ. - ภาพ เอเอฟพี
เอเจนซี -หลิว หย่งเฉียน เด็กหนุ่มจากมณฑลซันตง ที่กำลังมองหาความมั่นคงในชีวิตจากงานในโครงการพัฒนาชนบทของรัฐบาล คิดว่าปริญญาด้านวิศวกรรมผสมโลหะจะทำให้เขาหางานได้ง่ายขึ้น แต่การฝึกงานก็ไม่ได้ช่วยให้เขารู้จักคนมากขึ้น แถมยังไม่ได้ประสบการณ์จากการทำงานจริง ดังนั้น หลังจบการศึกษาในปี 2550 เขาจึงมุ่งหน้าสู่ตำบล เหล่าจวงฮู้ อำเภอซีจี้ ที่ชานกรุงปักกิ่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ คอยส่งคำเตือนเรื่องกฎหมายและสุขภาพให้ชาวบ้าน และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน

“ผมไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองปักกิ่ง งานนี้จึงเปรียบเสมือนใบอนุญาตให้ผมพักอยู่ที่นี่ได้ และประสบการณ์จากชีวิตในชนบทก็ช่วยให้ผมสอบผ่านการบริการประชาชน ผมลืมความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ไปหมดแล้ว เพราะงานนี้ไม่ต้องใช้ทักษะด้านอาชีพอะไร ขอแค่คุณมีความอดทนและระมัดระวังก็เพียงพอ”

วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัว และยังเกรงกันว่านักศึกษาที่จบใหม่จะตกงานถึง 1.5 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ ทางการจีนจึงได้สนับสนุนโครงการพัฒนาชนบทเพื่อช่วยให้เด็กจบใหม่มีงานทำ

สถิติของรัฐบาลจีนระบุว่า ปัจจุบันอัตราว่างงานของนักศึกษาจบใหม่อยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อสิ้นเดือนธันวาคมที่ 4.2 เปอร์เซ็นต์แล้ว จะเห็นว่าอัตราว่างงานในจีนขณะนี้มีเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว และยังถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี ทำให้รัฐบาลจีนประกาศว่า การหางานให้นักศึกษาที่จบใหม่ทำถือเป็นภารกิจเร่งด่วนในขณะนี้ ประกอบกับเดือนมิถุนายนนี้จะครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ที่รัฐบาลจีนได้ปราบปรามนักศึกษาและกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ทำให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสนใจกับปัญหาของนักศึกษามากขึ้น
แรงงานอพยพที่ตกงานในเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สนใจเข้าร่วมฝึกทักษะอาชีพการดูแลเด็กเล็กกับโครงการของทางการ ที่ส่งเสริมให้แรงงานมีคุณภาพ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. โดยโครงการนี้จะใช้เวลาทั้งสิ้น 30 วัน - ภาพ เอเอฟพี
นศ.แห่สมัครโครงการพัฒนาชนบท

โครงการพัฒนาชนบทที่รัฐบาลเปิดรับนักศึกษาจบใหม่ไปทำงานในชนบท เริ่มขึ้นเมื่อปี 2549 จนถึงขณะนี้มีนักศึกษาเซ็นสัญญาเป็นเวลา 3 ปีเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว 78,000 คน และปีนี้ก็มีนักศึกษามาสมัครมากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังประกาศว่า จะขยายแผนการจ่ายหนี้เงินกู้ที่นักศึกษากู้ยืมมาจ่ายค่าเทอม แทนนักศึกษาที่เข้าทำงานในโครงการนี้ด้วย

พร้อมกันนี้ ในนครใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ นายกเทศมนตรี หาน เจิ้ง ก็ได้ประกาศแผนจ้างงานนักศึกษาจบใหม่จำนวน 213,000 คน โดยจะจ่ายเงินค่าฝึกอบรมอาชีพ และยังจะช่วยหาที่ฝึกงานให้นักศึกษาที่ยังไม่มีงานทำด้วย

ด้านผู้บริหารเทศบาลนครปักกิ่งได้ประกาศว่า ในปีนี้มีนักศึกษาที่จบการศึกษาเพิ่มขึ้น 3,000 คน และนักศึกษาทั้งหมดนี้จะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในเขตชนบท ขณะที่ทางมณฑลกว่างตง ประกาศว่า นักศึกษาที่ต้องการทำงานกับรัฐบาลจะต้องผ่านการฝึกงานในเขตชนบทก่อน

โครงการพัฒนาชนบท นอกจากจะช่วยหางานให้เด็กจบใหม่แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างองค์กรท้องถิ่นของพรรค และยังช่วยเพิ่มอำนาจการควบคุมของพรรคด้วย ทั้งนี้ เยาวชนที่เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตจะช่วยเพิ่มคุณภาพงานบริหารในท้องถิ่น และเด็กที่จบใหม่ยังจะช่วยสกัดกั้นความวุ่นวายที่เกิดจากความไม่พอใจของชาวนา ที่ต้องสูญเสียที่ดินจากการแย่งชิงอย่างผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุนพัฒนาที่ดิน

“เราต้องการเจ้าหน้าที่รัฐที่มาจากคนรากหญ้ามากขึ้น เพราะพวกเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชน สามารถช่วยให้ชาวนาร่ำรวยขึ้น และทำให้พื้นที่ชนบทมั่นคงขึ้นด้วย” รองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง บอกถึงผลดีของการให้เด็กที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยไปทำงานในชนบท

แม้การส่งนักศึกษาไปทำงานในชนบทจะมีผลดี แต่ก็เป็นการยากที่รัฐบาลจะสั่งเยาวชนนับพันคนได้ เพราะพวกเขาไม่ได้เกิดมาในยุคที่นักศึกษายังมีอุดมการณ์เพื่อสร้างชาติ หากแต่คนเหล่านี้เติบโตมาพร้อมๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และพวกเขาก็คาดหวังว่าจะได้ทำงานดีๆ

การขาดโอกาสที่จะได้ทำงานในระบบเศรษฐกิจปกตินี้เอง ทำให้อัตราผู้สมัครทำงานในโครงการพัฒนาชนบทของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสื่อของรัฐรายงานว่า ในนครฉงชิ่ง อัตราส่วนผู้สมัครทำงานในชนบทของเดือนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 16 ต่อ 1 จากเมื่อปีที่แล้วที่ทั้งปีมีอัตราส่วนผู้สมัครในโครงการนี้เพียง 6 ต่อ 1
เธอคนนี้กำลังเรียนรู้การเลี้ยงเด็กให้ถูกวิธีกับโครงการฝึกทักษะอาชีพที่ทางการเฉิงตูจัดขึ้น - ภาพ เอเอฟพี
เด็กปรับตัวไม่ได้-ชาวบ้านไม่ไว้ใจ

รัสเซล เลจ โมเสส นักวิเคราะห์การเมืองในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า “นักศึกษาที่ไปทำงานในชนบทนั้นเป็นพวกที่ไม่มีงานทำ แล้วรัฐบาลก็ต้องการให้เขาไปทำงานบริการประชาชน พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระดับล่างก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับพวกเขาดี เจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้แต่พูดว่า ถือเป็นการสร้างพรรคในระดับท้องถิ่น แท้ที่จริงนี่ก็คือกลยุทธ์ทางการเมือง”

สำหรับนักศึกษาที่ไปทำงานในชนบท พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการกรอบแบบฟอร์ม พิมพ์เอกสาร กรอกแบบสำรวจทางเกษตรกรรม ให้คำแนะนำด้านสุขภาพและการใช้ถุงยางอนามัย และบ่อยครั้งที่พวกเขายังคงกังวลอยู่กับการหางานทำ

นักศึกษาและเจ้าหน้าที่หลายคนบอกว่า พวกเด็กจบใหม่เหล่านี้ทำงานด้วยความเบื่อหน่ายและไม่สนใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ในชนบท เพราะนอกจากพวกเขาจะไม่ได้รับการฝึกอบรมเตรียมตัวสำหรับมาทำงานและใช้ชีวิตที่นี่แล้ว พวกเขายังไม่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านด้วย

“ในตอนแรก ผมคิดว่าจะช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้นำตำบลได้ แต่ความจริงแล้วคุณไม่สามารถทำอย่างที่ต้องการได้ เพราะอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่เลขาธิการพรรค ผมเป็นเพียงคนใช้ที่ไม่มีอำนาจอะไรเลย” นั่นเป็นคำพูดของ เยี่ย หมิง นักศึกษาเอกวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยสหภาพปักกิ่ง (Beijing Union) ที่เข้าไปทำงานในตำบลต้าซุนเก๋อจวง ที่ชานกรุงปักกิ่งเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่เห็นความสำคัญ

ในขณะที่ ซ่ง เสี่ยวติง นักศึกษาที่จบเอกการเงินจากมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมของจีน และทำงานอยู่ที่เขตผิงกู่ชานเมืองทางตอนเหนือของนครปักกิ่ง บอกว่า “มันเป็นงานที่สบายมาก ผมทำงานเพื่อสร้างพรรค โดยจัดหาอุปกรณ์การศึกษาเพื่อสมาชิกพรรค ทำการสรุปงานทุกอย่าง เขียนคำปราศรัยและคำเตือนต่างๆ และในเวลาว่างผมก็เล่นอินเทอร์เน็ต”

ซ่ง เสี่ยวติง ยังบอกด้วยว่า สาเหตุที่ชาวบ้านไม่ไว้ใจนักศึกษาเนื่องจากนักศึกษาที่จบใหม่ขาดประสบการณ์จากการทำงาน และทางกลุ่มผู้นำคณะกรรมการบริหารตำบลไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสภาพต่างๆ ภายในตำบล

“ตอนแรกผมคิดว่าเขาจะมาปรึกษาผมเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจภายในตำบล แต่มันไม่มีพื้นที่ให้ผมได้ใช้ความสามารถเลย เจ้าหน้าที่ของตำบลบอกผมแค่ว่าเขาตัดสินใจอย่างไร และให้ผมนำการตัดสินใจนั้นไปดำเนินงาน ซึ่งการตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างเช่น การพัฒนา หรือการจัดโครงสร้างอุตสาหกรรม จะอยู่ภายใต้การคณะกรรมการตำบลและคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ พวกเขาไม่เคยถามความเห็นผมเลย”

ด้าน หยาง เจี่ย ที่จบเอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปักกิ่ง ได้พยายามที่จะสร้างเว็บไซต์สำหรับตำบลที่เธอทำงานอยู่ แต่ทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกลับเห็นว่าการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นการเสียค่าไฟโดยใช่เหตุ “ฉันไม่มีความกระตือรือร้นและความมั่นใจเหมือนเมื่อสามปีก่อนเลย” หยาง เจี่ย กำลังพยายามหางานใหม่ก่อนที่สัญญาจ้างงานของเธอจะหมดลงในเดือนมิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาที่จบใหม่กลับเป็นที่ต้องการอย่างมากในพื้นที่ยากจน โดย จ้าว เจี้ยนกวง ประธานคณะกรรมการบริหารตำบลเซียว์ชุนซึ่งอยู่ในเขตอำเภอจี้ซัน สัญญาว่านักศึกษาจบใหม่ที่เข้ามาทำงานกับเขาจะได้รับมอบอำนาจในการตัดสินใจด้วย

“เด็กจบการศึกษาจะมาช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเราได้ เพราะเขามีความสามารถในการค้นข้อมูล ชาวนาอาจเรียนรู้เรื่องนโยบายจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ แต่นักศึกษาสามารถนำข้อมูลจากอินเทอร์เนตมาช่วยเพิ่มผลผลิตในตำบล ซึ่งขณะนี้ในตำบลยังไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เนต”

ประธาน จ้าว ยังบอกด้วยว่า รัฐบาลควรเสนอตำแหน่งในคณะกรรมการตำบลและคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ให้แก่นักศึกษาที่จบใหม่ “ปัจจุบันนี้ เด็กที่จบมหาวิทยาลัยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำตำบล ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นจริงควรจะกลับกัน เพราะเด็กจบใหม่อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีการศึกษาดี และกระตือรือร้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ในตำบลและสมาชิกพรรคนั้นแก่เกินไปแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น