xs
xsm
sm
md
lg

“เวิน เจียเป่า” โต้สหรัฐฯ กล่าวหาปั่นค่าเงินหยวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน พบกับ นางแองเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี ที่รัฐสภาในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 29 ม.ค. (ภาพ-เอเอฟพี)
เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรีจีน เวิน เจียเป่า เดินทางเยือนเยอรมนี พร้อมย้ำว่า ค่าเงินหยวนในขณะนี้สมเหตุสมผล และสมดุล

หลังจากเข้าร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นายกรัฐมนตรีจีน เวิน เจียเป่า ได้เดินทางเยือนเยอรมนี โดยนายกฯจีน ได้พบกับ นางแองเกลา แมร์เคิล ผู้นำของเยอรมนี เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ผู้นำจีน ได้กล่าวถึงค่าเงินหยวนว่า สมเหตุสมผล และมีความสมดุลแล้ว โดยฝ่ายจีนไม่ได้เป็นคนกำหนดค่าเงินหยวน ค่าเงินเป็นไปตามกลไกของตลาด
“ในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ เราเห็นว่าค่าเงินหยวนอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและสมดุล ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายจีนที่ค่าเงินเป็นเช่นนี้” เวิน เจียเป่า กล่าว

นายกเวิน เจียเป่า บอกว่า ทางการจีนทราบดีว่าค่าเงินสกุลต่างๆขณะนี้ผันผวนมาก แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาของชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่า จีนจัดการให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่ากว่าความเป็นจริง เพื่อสนับสนุนการส่งออก

ผู้นำจีนและเยอรมนี ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ลัทธิกีดกันทางการค้า ไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยนานาชาติจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และระบบการเงิน เพื่อต่อสู้กับเศรษฐกิจขาลง

ผู้นำทั้ง2 ชาติยังเป็นสักขีพยานในการลงนาม ข้อตกลงที่ บริษัทซานี่ เฮฟวี่ อินดัสทรี่ Sany Heavy Industries ของจีน จะทุ่มทุน 100 ล้านยูโร (ประมาณ 131 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ขนาดใหญ่ในแคว้นนอร์ท เวสฟาเลีย ของเยอรมนี ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานของจีน ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป

นอกจากนี้ จีนและเยอรมนี ยังลงนาม บันทึกความเข้าใจ เรื่องการปกป้องสิ่งเเวดล้อม, ความร่วมมือด้านพลังงาน การวิจัย และเทคโนโลยี

ความสัมพันธ์ระหว่างจีน และเยอรมนี มีความขัดเคืองกันในปี 2007 เนื่องจากนางแองเกลา แมร์เคิล ได้พบกับ ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ซึ่งทางการจีนตราหน้าว่าเป็น ผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยเหตุครั้งนั้นทำให้ ฝ่ายจีนยกเลิกการประชุมทวิภาคี ระหว่างจีนกับเยอรมนีไป

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นางแองเกลา แมร์เคิล ระบุว่า จะระงับการพบกับ ทะไล ลามะ และ เสนอตัวว่า เยอรมนี พร้อมจะให้ความร่วมมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อรื้อฟื้นการเจรจาระหว่างทั้งสองชาติ

ทั้งนี้ในระหว่างที่ผู้นำจีนและเยอรมนี หารือกันอยู่ ได้มีกลุ่มผู้สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของทิเบต และสาวกลัทธิ “ฝ่าหลุนกง” จำนวน 50 คน รวมตัวประท้วงที่หน้ารัฐสภา ในกรุงเบอร์ลิน แต่ก็ไม่ได้ก่อเหตุรุนแรงอะไร

เยอรมนี และจีน ต่างเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ของโลก โดยทั้งสองชาติมีปริมาณการค้าระหว่างกันในปี 2008 อยู่ที่ 115,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สมาชิกกลุ่ม Tibet Initiative Deutschland” ซึ่งสนับสนุนการแยกทิเบตเป็นเอกราช ประท้วงที่หน้ารัฐสภาเยอรมนี ในระหว่างที่นายกฯเวิน เจียเป่า พบกับนางแองเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี เมื่อวันที่ 29 ม.ค. (ภาพ-เอเอฟพี)
สาวกลัทธิ ฝ่าหลุนกง ประท้วงที่หน้ารัฐสภาเยอรมนี พร้อมป้ายข้อความ “ จีน จงหยุดประหัตประหารลัทธิฝ่าหลุนกง” ในระหว่างที่ผู้นำจีนและเยอรมนีพบกัน เมื่อวันที่ 29 ม.ค.  (ภาพ-เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น