xs
xsm
sm
md
lg

เวทีหารือปัญหา ศก.โลก-ระดับทวิภาคี “จีน-สหรัฐฯ” เริ่มแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



การประชุมหารือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 5 (SED V) เริ่มต้นขึ้นแล้วเช้าวันนี้ (4 ธ.ค.) ที่กรุงปักกิ่ง ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยหนักในรอบ 80 ปี โดยที่สหรัฐฯ เป็นต้นตอปัญหา ขณะที่จีนก็ได้รับผลกระทบหนักไม่น้อย


ASTVผู้จัดการออนไลน์ (ปักกิ่ง) - การประชุมหารือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 5 เริ่มแล้ววันนี้ที่ปักกิ่ง รองนายกฯจีน-รมว.คลัง สหรัฐฯ นำคณะระดมสมองแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกตกต่ำ การค้า มาตรฐานสินค้า ค่าเงินหยวน สิ่งแวดล้อม เชื่อแม้สหรัฐฯ จะเปลี่ยน ปธน. เป็น “โอบามา” การประชุมลักษณะนี้ก็จะมีต่อไป

การประชุมหารือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 5 (5th Strategic Economic Dialogue หรือ SED V) เริ่มต้นขึ้นแล้วในช่วงเช้าวันนี้ (4 ธ.ค.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม สวนฟังเฟย เรือนพักรับรองเตี้ยวอี๋ว์ไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ท่ามกลางกระแสวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีจุดเริ่มมาจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อในสหรัฐอเมริกา โดยหัวหน้าคณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายประกอบไปด้วย นายหวัง ฉีซาน รองนายกรัฐมนตรี และ นายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การนำคณะผู้แทนสหรัฐฯ ร่วมประชุมหารือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของนายพอลสันครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ใกล้ที่จะเปลี่ยนคณะผู้บริหารจากของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช มาเป็นของนายบารัค โอบามา เต็มทีแล้ว

“การประชุม SED ครั้งนี้คงจะเป็นครั้งสุดท้ายของผม และเพื่อนร่วมงานของผม เราคาดหวังว่าจะเป็นการเจรจาที่ประสบผลสำเร็จ และเราตั้งใจว่าจะทำให้การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือที่มีประสิทธิภาพและเป็นความร่วมมือที่ดีที่สุด” พอลสันกล่าวในแถลงการณ์เปิดการประชุม

สำหรับประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามองในการประชุมครั้งนี้ คือ ความร่วมมือของสองประเทศมหาอำนาจของโลกเพื่อที่จะร่วมกันแก้ไขวิกฤตการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยประเทศจีนถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาของโลก ขณะที่สหรัฐฯ ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในหมู่ประเทศที่พัฒนาแล้วของโลก

การประชุมหารือทางเศรษฐกิจในครั้งนี้มีกำหนดสองวันคือ 4-5 ธ.ค. นี้ โดยมีหัวข้อหลักร่วมกันคือการ “สร้างรากฐานที่ยั่งยืนให้ความสัมพันธ์แบบคู่ค้าทางเศรษฐกิจระหว่างอเมริกากับจีน” โดยจะเน้นหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางด้านการดูแลความเสี่ยงของเศรษฐกิจระดับมหภาคและผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีดุลยภาพ เพิ่มความร่วมมือทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ขานรับการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันให้มีการเปิดเสรีในการลงทุนมากขึ้น รวมทั้งปัญหาด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีบุคคลสำคัญด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง ทั้งในด้านการคลัง การเงิน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม โดยทางฝั่งจีนนั้น ประกอบด้วย นายเซี่ย ซี่ว์เหริน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จาง ผิง ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูป นายหยิน เหว่ยหมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม นายโจว เซิงเสียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม นายเจิ้ง ไฉ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉิน จู๋ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายโจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี) เป็นต้น

ส่วนคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เข้าประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายคลาก ที แรนดท์ จูเนียร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศจีน นายแดน ไพรซ์ ผู้ช่วยประธานาธิบดีและรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นายเอ็ดเวิร์ด ที แชฟเฟอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร นางอีเลน แอล เชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไมค์ เลวิตต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขและการบริการสาธารณะ

ค่าเงินหยวน : สหรัฐฯ อยากให้แข็ง จีนอยากให้อ่อน

ขณะเดียวกันประเด็นสำคัญที่เชื่อว่าทางสหรัฐฯ น่าจะหยิบยกมาพูดถึงมากก็คือ ประเด็นเรื่องค่าเงินหยวน (เหรินหมินปี้) ที่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาทางรัฐบาล สหรัฐฯ พยายมกดดันให้จีนเลิกแทรกแซงค่าเงินหยวนและปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้รัฐบาลของนายโอบามาน่าจะรับไม้ต่อจากรัฐบาลบุชอย่างแน่นอน เพราะในปี 2550 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าให้กับจีน มากเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 163,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในทางตรงกันข้าม จีนกลับพยายามทำสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการคือ กดให้ค่าเงินหยวนอ่อนตัวลงไป โดยวานนี้ (3 ธ.ค.) หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนได้ตีพิมพ์ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของจีนที่ระบุว่า ค่าเงินหยวนจะต้องอ่อนค่าลงกว่านี้เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกชาวจีนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ และเพื่อบรรเทาภาวะการถูกเลิกจ้างของแรงงานในภาคการผลิตด้วย

“ถ้าเงินดอลลาร์ยังแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเงินยูโร พวกเราก็คงต้องปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนของเงินเหรินหมินปี้” นายเผย ฉางหง ผู้อำนวยการสถาบันการเงิน การค้าและเศรษฐกิจ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีนกล่าว พร้อมระบุว่าการผูกติดค่าเงินหยวนไว้กับเงินดอลลาร์มากเกินไป ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเงินยูโรแล้วเงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับการประชุมหารือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ถูกริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปี 2549 โดยประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศคือ นายหู จิ่นเทา และ นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเวทีในการหารือเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกและประเด็นทางเศรษฐกิจในแบบทวิภาคี ทั้งนี้กำหนดไว้ว่าการประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นปีละสองครั้ง โดยสถานที่ประชุมและเจ้าภาพจะสลับกันระหว่าง กรุงปักกิ่ง และ กรุงวอชิงตัน ดีซี

การประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา นายพอลสัน ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐฯ มาตลอด ขณะที่ทางจีนก็ส่งผู้บริหารระดับรองนายกรัฐมนตรีมาเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเช่นกัน โดยสามครั้งแรกหัวหน้าคณะของฝั่งจีนคือนางอู๋ อี๋ ส่วนครั้งที่ 4 และ 5 คือ นายหวัง ฉีซาน

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ทั้งจากจีนและสหรัฐฯ ต่างคาดหมายกันในอนาคต เมื่อสหรัฐฯ เปลี่ยนคณะผู้บริหารสูงสุด โดยนายโอบามาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว นายโอบามาน่าจะยังคงลักษณะการประชุมหารือทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีเช่นนี้ไว้อยู่ แต่อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบโดยยกระดับการเจรจาให้สูงขึ้น อีกทั้งอาจจะมีการเปลี่ยนชื่อจาก SED เป็นชื่ออื่นด้วย

หวัง ฉีซาน รองนายกรัฐมนตรีจีน กับ เฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐฯ ชักภาพร่วมกัน

หวัง ฉีซาน รองนายกรัฐมนตรีจีนในฐานะเจ้าภาพกล่าวเปิดงาน

คีย์แมนด้านเศรษฐกิจของจีนมากันพร้อมหน้า คนกลางภาพที่นั่งโดดออกมาคือโจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน

เฮนรี พอลสัน รมว.คลัง สหรัฐฯ ที่นำคณะผู้แทนมาประชุม SED เป็นครั้งสุดท้ายก่อนสหรัฐฯ จะเปลี่ยนผู้นำ


พอลสัน สนทนากับ แดน ไพรซ์ ผู้ช่วยประธานาธิบดีบุช โดยมีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีนนั่งมองอยู่ข้างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น