เอเจนซี่ – ค่าเงินหยวนลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนต้องการสนับสนุนการส่งออก ขณะที่สหรัฐอเมริกา เตรียมใช้เวทีหารือหารือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ กดดันจีนเพิ่มค่าเงินหยวน
ธนาคารกลางจีนประกาศอัตราอ้างอิงในการแลกเปลี่ยนเงินหยวนวันนี้ ที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ที่ 6.8527 หยวนต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเมื่อวาน 0.72% และถือเป็นการลดลงมากที่สุด หลังจากธนาคารกลางจีนประกาศยกเลิกการผูกติดค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาห์สหรัฐฯ เมื่อปี 2005
ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนได้ยกเลิกการผูกติดค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาห์สหรัฐฯ มาเป็นระบบตะกร้าเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธนาคารกลางจีนยังคงเข้าจัดการบริหารค่าเงิน เพื่อรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
"ธนาคารกลางจีนตั้งใจจะกดค่าเงินหยวนให้อ่อนลงไปอีก เเต่ก็มีความกังวลเหมือนกันว่าตลาดจะตอบรับแรงเกินไป ซึ่งการเคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบเเคบๆในช่วงนี้ก็เป็นสัญญาณว่าจีนไม่ต้องการให้ค่าเงินหยวนลดลงรวดเร็วเกินไป” หยาว เซิงคุน นักวิเคราะห์จากธนาคารซิติค ในกรุงปักกิ่ง กล่าว
ทางการจีน มีแนวโน้มจะรักษาค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าต่อไป เพื่อสนับสนุนการส่งออกในยามที่เศรษฐกิจโลกซบเซาเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ย่อมส่งผลให้คู่ค้า โดยเฉพาะชาติยุโรป และสหรัฐอเมริกา ไม่ค่อยพอใจนัก
นายบารัก โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยระบุในจดหมายถึง สภาอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งชาติสหรัฐฯ ในวันที่ 24 ต.ค. ว่า เขาจะกดดันให้จีนเลิกแทรกแซงค่าเงินหยวน
ทั้งนี้ คาดหมายว่า สหรัฐฯ จะใช้โอกาสในการประชุมหารือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ (Strategic Economic Dialogue) ที่จะมีขึ้นในอีกสองสามวันข้างหน้านี้ กดดันจีนเรื่องค่าเงินหยวน
“ประเด็นเรื่องการปฏิรูปค่าเงินมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา แต่เราก็ยังไม่ได้รับสัญญาณจากทางฝ่ายจีนว่าจะตกลงอย่างไรในเรื่องนี้” เดวิค แม็กคอร์มิค ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยอมรับในการแถลงข่าวที่กรุงวอชิงตัน ดีซี
อย่างไรก็ตาม ผู้นำการประชุม อย่าง เฮนรี่ พอลสัน รมว.คลัง สหรัฐฯ กลับแสดงท่าทีประนีประนอม โดยเขาหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวหาว่า จีนแทรกแซงค่าเงินหยวน ทั้งนี้ ท่าทีที่แข็งกร้าว กลับมาจากฝ่ายพรรคเดโมแครต โดยนายชาร์ล ชูเมอร์ สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐนิวยอร์ก เรียกร้องให้คว่ำบาตรจีน จนกว่าจีนจะผ่อนคลายการควบคุมค่าเงินหยวน
การหารือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 – 5 ธันวาคมนี้ที่กรุงปักกิ่ง ถูกคาดหมายว่าทางสหรัฐฯจะเดินหน้ากดดันจีนให้เพิ่มค่าเงินหยวน เนื่องจากสหรัฐฯกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตการเงิน ที่ต้องทุ่มเงินมหาศาลไปอุ้มสถาบันการเงิน
ส่วนทางฝ่ายจีน ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้เช่นกัน โดยยอดสั่งซื้อสินค้าจีนลดลงอย่างมาก จนโรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง ดังนั้น จีนจึงต้องกดค่าเงินหยวนไว้เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก สรุปก็คือ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างถูกกระทบจากวิกฤต และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลัก
นายจู กวางเหยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจีน กล่าวว่า รัฐบาลจีนยืนยันที่จะรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ถึงแม้ว่ามีกระแสกดดันในการประชุมร่วมของจีน-สหรัฐฯ ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้เอง นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง ก็มองว่า การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐฯคงไม่สามารถแสดงบทบาทอะไรได้มากนัก เนื่องจากผู้แทนการประชุมล้วนแต่เป็นคนที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับรัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช นอกจากนี้ทางฝ่ายจีนก็สามารถอ้างได้ว่า ค่าเงินหยวนได้เพิ่มค่าขึ้น 6.1 % หากนับตั้งแต่ต้นปี และเพิ่มค่าขึ้น 20 % หากนับจากที่ทางการจีนยกเลิกการผูกติดค่าเงินหยวนกับดอลลาห์สหรัฐฯ ในปี 2005 ดังนั้น สหรัฐฯจะอ้างไม่ได้เลยว่าจีนไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ประกอบด้วย นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลัง, นายเอ็ด ชาฮาเฟอร์ รัฐมนตรีเกษตร, นางเอลีน เชา รัฐมนตรีแรงงาน, นายไมค์ เลวิส รัฐมนตรีสาธารณสุขและสวัสดิการ, นางซูซาน ชวาป ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ส่วนทางผู้จีน จะนำทีมโดยรองนายกรัฐมนตรี หวัง ฉี ซัน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ
ทั้งนี้นายเดวิด แม็กคอร์มิค ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่า ไม่มีผู้แทนจากฝ่ายของว่าที่ประธานาธิบดี โอบามา เดินทางไปร่วมประชุมที่จีนครั้งนี้ เพียงแต่บอกว่า นายเฮนรี่ พอลสัน ได้หารือถึงห้อข้อการปรชุม และบอกข้อมูลสำคัญทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ให้กับนายทีโมธี ไกธ์เนอร์ ว่าที่รัฐมนตรีคลังของรัฐบาลโอบามา ได้รับทราบแล้ว