xs
xsm
sm
md
lg

ผลผลิตอุตสาหกรรมจีนเติบโตน้อยที่สุดในรอบเจ็ดปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานในโรงงานผลิตเหล็ก ถงหลิง เมทัลกรุ๊ป ทั้งนี้การผลิตเหล็กของจีนตกต่ำลงเพราะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก
เอเจนซี่ – ผลผลิตอุตสาหกรรมจีนเติบโตน้อยที่สุดในรอบเจ็ดปี อุตสาหกรรมทั้งเหล็ก รถยนต์ ไฟฟ้า ต่างโดนวิกฤตเศรษฐกิจโลกซัดถ้วนหน้า นักเศรษฐศาสตร์เชื่อ รัฐบาลต้องลงมาช่วยอัดฉีดเต็มที่

กรมสถิติแห่งชาติจีน ประกาศเมื่อวันพุธ(11 พ.ย.)ว่า กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเพิ่มขึ้น 8.2% จากปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นที่น้อยที่สุดในรอบเจ็ดปี ทั้งนี้การชะลอตัวลงครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณให้ธนาคารกลางจีนต้องลดดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่สี่ในรอบสองเดือน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 580,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่รัฐบาลจีนประกาศเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เมื่อวานนี้ ทางการจีนได้ลดภาษีส่งออก 28% เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ที่มีสัดส่วนเป็น1ใน4 ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

"เศรษฐกิจจีนเสียศูนย์เร็วกว่าที่คาดไว้ ธนาคารกลางต้องเข้ามาใช้มาตรการบางอย่าง เราคาดว่าไตรมาสนี้จะเป็นช่วงที่แย่ที่สุดและทุกอย่างจะฟื้นตัวกลับมาในปีหน้า เพราะแรงหนุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล” เถา ตง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ชาวเอเชีย จากบริษัทเครดิต ซูสส์ เอจี ในฮ่องกงกล่าว

โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หนึ่งปีขณะนี้อยู่ที่ 6.66% และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในไตรมาสสามอยู่ที่ 9% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบห้าปี

ค่าเงินหยวนที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ บ่ายวันพฤหัสฯอยู่ที่ 6.8301 ต่อหนึ่งดอลลาห์สหรัฐ ส่วนตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้น หลังจากรัฐบาลประกาศเพิ่มการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม

ผลผลิตเหล็กลดลง 17% จากปีที่แล้ว กำลังการผลิตไฟฟ้าลดลง 4% ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้า และรถยนต์หดตัวลงตามไปด้วย ส่วนผลผลิตปูนซิเมนต์และถ่านหินก็เพิ่มขึ้นอย่างเชื่องช้า

ความซบเซาทางเศรษฐกิจ อันมีที่มาจากยอดส่งออกที่ลดลง, ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแรง และภาวะขาดความเชื่อมั่นเนื่องจากวิกฤตการเงินโลก ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทจีน ตั้งแต่ผู้ผลิตรถยนต์ จนถึงผู้ผลิตเหล็ก

บริษัท อลูมิเนียม คอร์ป แห่งจีน หรือ Chalco ผู้ผลิตอลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดในจีนลดกำลังการผลิตลง ในขณะที่ พีเอสเอ เปอร์โย ซีตรอง ผู้ผลิตรถรายใหญ่อันดับสองจากยุโรปก็ลดคนงานลง 1,000 คน หลังจากยอดขายลดลง

หลุยส์ คุยจส์ นักเศรษฐศาสร์จากธนาคารโลก สาขาปักกิ่ง บอกว่า “ผู้ผลิตเหล็กอาจจะสามารถปิดโรงงานเลยก็ได้ เพราะมีสินค้าคงคลังเหลือมากพอ โดยไม่ต้องผลิตเพิ่มเลย”

ทางด้าน หัวเหนิง พาวเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ก็ต้องขอร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าไฟฟ้าอีกเป็นครั้งที่สามในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อช่วยลดภาระขาดทุน

ทั้งนี้รัฐบาลจีน เพิ่งจะขึ้นค่าไฟฟ้าไป 6% เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากราคาถ่านหินแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคมถึง 1080 หยวนต่อตัน โดยหัวเหนิง พาวเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ระบุว่าไตรมาสที่สาม ขาดทุนถึง 2,200 ล้านหยวน

“หุ้นของหัวเหนิงพาเวอร์ในตลาดหุ้นฮ่องกงตกลง 55 % มากกว่าดัชนีฮั่งเส็งที่ตกลง 50% เนื่องจากราคาถ่านหินเพิ่มขึ้นถึง 12% ในปีนี้” หลี่ เสี่ยวเผิง ประธานกรรมการของหัวเหนิง กล่าว

ทั้งนี้ ราคาถ่านหินที่แพงขึ้น และค่าไฟฟ้าที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาลทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้ามีภาระหนัก เพราะรัฐบาลจีนควบคุมค่าไฟฟ้าไว้ไม่ให้แพงเกินไป เพื่อป้องกันเงินเฟ้อ

ภาวะวิกฤตการเงินโลกต้องให้ยอดสั่งสินค้าจีนต้องหยุดชะงักตั้งแต่เดือนที่แล้ว แฟรงก์ ก่ง หัวหน้านักวิจัยชาวจีน จากเจพี มอร์แกน เชส กล่าวว่า “ผู้สั่งสินค้าไม่สามารถหาเงินกู้มาได้ ดังนั้นจึงต้องยกเลิกการสั่งสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อจีนมาก เพราะปกติแล้วช่วงคริสมาสจะเป็นช่วงที่คึกคักที่สุด”

ตัวเลขเศรษฐกิจจีนประจำสัปดาห์ แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อลดลง สภาพคล่องมีมากขึ้น แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับน้อยที่สุดในรอบสามปี ส่วนการนำเข้า ส่งออก และยอดค้าปีก็ยังเติบโต แต่ชะลอตัวลง ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตแค่ร้อยละ5.8 ต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี

สภาวะเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลต้องลงมาสร้างงานอย่างจริงจัง เพื่อรองรับแรงงานที่อพยพมาหางานในเมือง โดยการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคชนบท โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟ ทางหลวง และสนามบิน โดยมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลถึงปี 2010

“การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงตกต่ำลง เนื่องจากภาคส่งออกยังตกต่ำเพราะยอดสั่งสินค้าจากยุโรปรปและสหรัฐน้อยลง ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงต้องใช้การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนมาช่วย” จิง อูริค ประธานฝ่ายหลักทรัพย์ของ เจพีมอร์แกน เชส สาขาฮ่องกงกล่าว

ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุในรายงานว่า ในปี2007 จีนถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น