ข่าวเชิงวิเคราะห์ "ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย" โดย ..... ทีมข่าวพิเศษ
(5) ปตท.ขูดค่าส่งก๊าซฟันกำไรปีละ 2 พันล้าน
ASTVผู้จัดการรายวัน - เปิดโปงกระบวนการประเคนผลประโยชน์ให้ ปตท.ขึ้นค่าส่งก๊าซฯ ล้วงกระเป๋าชาวบ้านหวานๆ ปีละ 2 พันล้าน แฉกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานช่วยกันอุ้มสุดฤทธิ์ รวบรัดเพียง 2 เดือนผ่านฉลุย
การสวมหมวกหลายใบของข้าราชการระดับสูงช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เป็นคำกล่าวอ้างอย่างลอยๆ แต่มีตัวอย่างแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นจริง
คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี รสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน ได้ศึกษาและตรวจสอบกรณีการปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ (ค่าผ่านท่อก๊าซฯ) ของ ปตท. โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงานมาให้ข้อมูล เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกรมธุรกิจพลังงาน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
ผลศึกษาและตรวจสอบโดยสรุป พบว่า กระบวนการขึ้นค่าบริการส่งก๊าซฯ ซึ่งที่สุดแล้วกลายมาเป็นภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ประชาชนต้องจ่ายนั้น กระทรวงพลังงาน และ กกพ. มีการเอื้ออำนวยประโยชน์ตามข้อเสนอของ ปตท. แทนที่หน่วยงานของรัฐ จะทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภคเป็นด้านหลัก
กมธ. ได้สรุปข้อมูล ข้อเท็จจริงว่า ปตท. จัดทำแผนขยายลงทุนโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ ตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544-2554 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยแผนแม่บทดังกล่าวได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2550 และวันที่ 19 มิ.ย. 2550 ตามลำดับ เป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 265,077 ล้านบาท
การขออนุมัติแผนแม่บทดังกล่าว ปตท. ได้อ้างความต้องการใช้ก๊าซฯที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชาชน ภาคการผลิต ภาคขนส่ง และภาคบริการในขณะนั้น รวมทั้งเพื่อให้สอดรับกับความต้องการก๊าซฯ เพื่อการผลิตไฟฟ้าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2550 - 2564 หรือแผนพีดีพี (PDP) (ซึ่งแผนนี้ได้ปรับปรุงลดกำลังผลิตไฟฟ้าลงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ)
ขณะเดียวกัน ภาครัฐในขณะนั้นได้ยกเหตุผลถึงความจำเป็นในการลงทุน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวต่อต้นทุนราคาก๊าซฯ ที่จะเป็นต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชน ภาคการขนส่ง ภาคบริการ ภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรม
ต่อมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงมีมติเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2550 เห็นชอบหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติที่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจและการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
กพช. ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำ "คู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ" เพื่อใช้เป็นกรอบในการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติใหม่ และมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ใหม่ของการคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าว โดยให้มีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
*ต่อมา คู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ที่ สนพ. จัดทำขึ้น ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2551 โดยใช้เวลาในกระบวนการนี้อย่างรวบรัดเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น
หลังจากนั้น ปตท.จึงได้จัดทำข้อเสนอขอปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติใหม่ตามคู่มือดังกล่าว และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2551 โดยขอปรับอัตราค่าบริการฯ เพิ่มขึ้นจาก 19.744 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 22.572 บาทต่อล้าน บีทียู คือเพิ่มขึ้น 2.827 บาทต่อล้านบีทียู หรือคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.32
กกพ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการพลังงาน ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการฯว่า ในการพิจารณาข้อเสนอขอปรับอัตราค่าบริการฯ ของ ปตท. เป็นไปตาม "คู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ"
นอกจากนี้ กกพ. ยังอ้างว่ามีการพิจารณาถึงผลกระทบต่อประชาชน ภาคการผลิต ภาคขนส่ง และภาคบริการ ตลอดจนคำนึงถึงศักยภาพและความสามารถของ ปตท. ในการลงทุนและการขยายระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติควบคู่ไปด้วย
ในที่สุด กกพ.จึงได้อนุมัติให้ ปตท. ปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจาก 19.7447 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.7665 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 2.0218 บาทต่อล้านบีทียูเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2552 ที่ผ่านมา โดยไม่สนใจเสียงท้วงติงจากองค์กรผู้บริโภคแต่อย่างใด
การปรับอัตราค่าบริการดังกล่าวมีผลให้ค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 22,000 ล้านบาทต่อปีโดยทันที และทำให้ ปตท.มีผลกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2552 เป็นจำนวน 2,000 ล้านบาท จากการได้รับอนุมัติให้ขึ้นราคาค่าผ่านท่อ ในท้ายที่สุด ค่าบริการที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดนี้จะถูกผลักภาระมายังประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทั้งนี้ กกพ. ระบุว่า อัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติใหม่นี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าพลังงานและค่าบริการแล้ว ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนผู้บริโภค อาทิ ผู้แทนสภาหอการค้าไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และนักวิชาการอิสระ เป็นต้น
อีกทั้งยังมีการรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 3 สัปดาห์คือ ตั้งแต่ วันที่ 24 ก.พ. - 16 มี.ค. 2552 ตามมาตรา 67 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ผ่านทางเว็บไซต์ของ กกพ.แล้ว
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน พบว่าราคาก๊าซในตลาดโลกได้มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้หลายประเทศทั่วโลก เช่น มาเลเซีย เป็นต้น ได้ดำเนินมาตรการลดค่าสาธารณูปโภคเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐบาลซึ่งคือผู้ดูแลทุกข์สุขแก่ประชาชนได้ดำเนินมาตรการลดภาระค่าสาธารณูปโภคเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยการใช้เงินของรัฐมาอุดหนุน ทว่า กกพ. ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระที่จัดตั้งภายใต้ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กลับอนุมัติให้ขึ้นค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ การอนุมัติดังกล่าวจึงอาจก่อให้เกิดการขัดกันกับนโยบายของรัฐบาลได้
ปตท.ได้-ประเทศชาติ-ประชาชนเสีย
การขึ้นค่าส่งก๊าซฯผ่านท่อ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน มีแต่ ปตท. ที่ได้ ประโยชน์ ส่วนประชาชนและประเทศชาติโดยรวม มีแต่ต้องรับภาระค่าครองชีพ ต้นทุนสินค้าก็เพิ่มสูงขึ้น ภาระของรัฐบาลที่ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนก็เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น กมธ.วุฒิสภา จึงเห็นว่าการขึ้นค่าส่งก๊าซฯ ไม่เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ กล่าวคือ
ประการแรก การขึ้นค่าผ่านท่อจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ราคาสินค้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
ผลทางตรง คือ ค่าผ่านท่อที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาก๊าซที่จำหน่ายแก่ผู้ใช้ทุกประเภทเพิ่มขึ้น ทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ผู้ใช้ทั่วไป ประการสำคัญที่สุดคือ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งสุดท้ายต้นทุนนี้จะถูกส่งผ่านไปให้ประชาชนทั้งประเทศผ่านการขึ้นค่าไฟ
ทั้งนี้ แม้ กกพ. จะมีมติไม่ขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรโดยอัตโนมัติ (Ft) ในช่วงเดือนพ.ค. - ส.ค.2552 โดยให้ กฟผ. เป็นผู้รับภาระ แต่มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการชั่วคราว เพราะสุดท้าย กกพ. คงต้องอนุมัติให้ขึ้นค่า Ft ในระยะต่อไป เพราะค่าผ่านท่อที่เพิ่มขึ้นเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างถาวร
นอกจากนี้ การให้ กฟผ. เป็นผู้รับภาระจะทำให้รายได้ของ กฟผ. ลดน้อยลงและส่งผลให้รายได้ที่ กฟผ. นำส่งรัฐลดลงตามไปด้วย
ผลทางอ้อม ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทุกประเภทเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตอาจจะต้องขึ้นราคาสินค้าที่ขายให้กับผู้บริโภค หรือผู้ผลิตบางรายที่ไม่ขึ้นราคาสินค้าก็จะเผชิญภาวะรายได้ที่ลดลง
ผลของการขึ้นค่าผ่านท่อจะทำให้ราคาสินค้าและต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งสองส่วนจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศลดลง และส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะตกต่ำและการว่างงานเพิ่มขึ้น
ประการที่สอง รัฐบาลมีภาระด้านงบประมาณเพิ่มขึ้นในการดำเนินนโยบายลดค่าใช้จ่ายประชาชนเพราะค่าไฟฟ้าที่อาจเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายลดรายจ่ายให้กับประชาชนโดยการชดเชยค่าสาธารณูปโภคสำคัญ เช่น ค่าไฟฟ้า และค่ารถประจำทาง ดังนั้น การปรับขึ้นค่าผ่านท่อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซในอนาคตที่อาจเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้รัฐต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นในการดำเนินนโยบายลดรายจ่ายดังกล่าว ซึ่งเป็นการซ้ำเติมฐานะทางการคลังของประเทศที่มีการขาดดุลการคลังในระดับที่สูง
นอกจากนี้ การอนุมัติให้ขึ้นค่าผ่านท่ออาจถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายของรัฐที่ขัดแย้งกันเอง ด้านหนึ่งรัฐต้องการลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคของประชาชนผ่านมาตรการอุดหนุน แต่อีกด้านกลับอนุมัติให้เพิ่มค่าบริการส่งก๊าซซึ่งทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น
ประการที่สาม หากมีการขึ้นค่าผ่านท่อและต้นทุนพลังงานของไทยสูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนพลังงานของไทยมีการเปลี่ยนแปลงสวนทางกับประเทศคู่แข่ง
ทั้งนี้เพราะปัจจุบันราคาพลังงานทุกประเภทลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ และในท้ายที่สุดอาจกลายเป็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งเนื่องจากต้นทุนพลังงานในระยะยาวของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย” โดย...ทีมข่าวพิเศษ
(1) ปตท.โก่งราคาน้ำมัน-ก๊าซ สูบกินถึงติดรวยสุดในโลก
(2) บิ๊ก ขรก.เอื้อ ปตท.ขัด รธน.-ผิดอาญา ม.157
(3)"ขรก.เพื่อ ปตท."รวยอู้ฟู่ โบนัส-เบี้ยประชุม
(4)"บิ๊กไฝ ปตท."ถ่างขาควบ 6 บริษัทฟันปีละ 22 ล้าน