xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รัฐสั่งเก็บภาษีบ.ลิสซิ่งเทศ แต่สายการบินจีนรับเคราะห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น หนึ่งในสามสายการบินใหญ่สุดของจีน
เอเชียนวอลสตรีทเจอร์นัล – ชี้มาตรการจัดเก็บภาษีธุรกิจเช่าซื้อเครื่องบิน เพื่อหวังดึงเงินจากธุรกิจต่างชาติเข้ารัฐ อาจไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แหล่งข่าววงในเผย สายการบินจีนซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทเหล่านี้ส่อเค้ารับเคราะห์แทน

เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาทางการจีนได้ประกาศเก็บภาษีบริษัทเช่าซื้อเครื่องบิน 5% และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยมาตรการดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจต่างชาติในจีน ซึ่งตามทฤษฏีแล้ว มาตรการภาษีน่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทให้เช่าซื้อเครื่องบินระดับโลกอย่าง บริษัทจีอี คอมเมอร์เชียล เอวิเอชั่น เซอร์วิส ของเจเนอรัล อิเล็คทริก, โรยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ กรุ๊ป และบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ลีส ไฟแนนซ์ คอร์ป ของอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป

อีกทั้งมองผิวเผิน มาตรการดังกล่าวคล้ายเป็นการสร้างความเสมอภาคในการแข่งขันระหว่างบริษัทลิสซิ่งต่างชาติและจีน เนื่องจากก่อนหน้านี้ บริษัทจีนซึ่งมีขนาดเล็กกว่าต้องจ่ายภาษีธุรกิจ 5% ขณะที่บริษัทต่างชาติได้รับการยกเว้น

แต่แหล่งข่าววงในกล่าวว่า ในทางปฏิบัติภาระภาษีกลับตกใส่สายการบินในประเทศจีนเอง เนื่องจากในสัญญาเช่าซื้อโดยปกติระบุไว้ว่า สายการบินที่เช่าซื้อเครื่องบินจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาษีในประเทศทั้งหมด

“เรื่องนี้มันไม่ยุติธรรมจริงๆ” เจ้าหน้าที่อาวุโสที่รับผิดชอบด้านภาษีจาก 1 ใน 3 สายการบินยักษ์ใหญ่ของจีนกล่าว พร้อมเสริมว่า “สายการบินจีนควรจะผนึกกำลังกันเพื่อหาทางปกป้องผลประโยชน์ของพวกเราไว้”

บริษัทให้บริการข้อมูลข่าวสารและให้คำปรึกษาธุรกิจสายการบิน “แอสเซนด์ ออนไลน์ ฟลีทส์” คาดการณ์ว่ามาตรการภาษีใหม่นี้น่าจะเพิ่มต้นทุนให้แก่ทุกสายการบินรวมกัน 54-90 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเลยทีเดียว ทั้งที่ปัจจุบันสายการบินจีนต่างก็เผชิญกับภาวะวิกฤตเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูง และธุรกิจท่องเที่ยวขาลงอยู่แล้ว

ดังเช่น 3 สายการบินยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่ แอร์ไชน่า, ไชน่า อีสเทิร์น และ ไชน่า เซาเธิร์น ซึ่งรายงานผลประกอบการขาดทุนอย่างหนักหน่วงในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2008 อันสืบเนื่องมาจากปัญหาราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น และความต้องการเดินทางโดยเครื่องบินลดน้อยลง

และมีแรงคาดการณ์ว่าตลอดปี 2008 ทั้ง 3 สายการบินจะมียอดขาดทุนสุทธิรวมกันมากถึง 20,000 ล้านหยวน (2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามการณ์คาดการณ์ของสถาบันวิจัย ซิตี้ อินเวสต์เม้นท์ รีเสิร์ช

ทั้งนี้ มาตรการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนี้ดูจะขัดแย้งกับความพยายามของจีนในการช่วยเหลือสายการบินในประเทศให้พ้นวิกฤต ดังที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการจีนได้ประกาศช่วยเหลือสายการบินที่ประสบปัญหาด้วยการระงับการเก็บภาษีค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงเครื่องบิน รวมทั้งอนุมัติเงินกู้ 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯให้แก่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของประเทศ

นอกจากนี้ปักกิ่งยังได้อัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลให้แก่ไชน่า เซาเธิร์น และ ไชน่า อีสเทิร์น เพื่อบรรเทาภาวะขาดทุนจากการท่องเที่ยวขาลง ขณะที่ แอร์ไชน่าก็กำลังหวังที่จะได้รับเงินช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดว่าทำไมองค์กรด้านภาษีของจีนจึงได้เลือกปรับเปลี่ยนมาตรการทางภาษีในเวลานี้

ด้านฝ่ายธุรกิจลิสซิ่งเครื่องบินของจีอีกล่าวในแถลงการณ์ว่า “กฎระเบียบการเช่าซื้อได้เรียกร้องให้ทางสายการบินเป็นผู้รับผิดชอบภาษีภายในประเทศจำพวกนี้ ดังนั้นมาตรการภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสายการบินของประเทศจีนเอง รัฐบาลเลือกเวลาปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีได้แย่มาก ซึ่งนี่จะทำให้สายการบินจีนต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย”

ทั้งนี้ ปัจจุบันเครื่องบินพาณิชย์ของจีน 500 ลำจาก 1,275 ลำนั้นมาจากการเช่าซื้อ โดยแหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า เครื่องบินส่วนใหญ่นั้นเช่าซื้อมาจากบริษัทต่างชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นโบอิ้ง 737-800 และแอร์บัส เอ320 เนื่องจากสายการบินมักนิยมเช่าซื้อมากกว่าซื้อขาด เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนของสายการบิน และเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ทำให้สายการบินบางรายต้องพยายามบริหารจัดการเงินทุนด้วยการเลือกปล่อยให้สัญญาเช่าซื้อหมดอายุไปโดยไม่ต่อสัญญาอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น