เอเชี่ยน วอลสตรีท เจอร์นัล – คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟต์ คอร์ป ออฟ ไชน่า ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของจีนได้คว้าออเดอร์สั่งซื้อเครื่องบินสัญชาติมังกร ARJ21จากเจเนอรัล อิเล็คทริกเป็นจำนวน 5 ลำ พร้อมสัญญาให้สิทธิซื้อเพิ่มอีก 20 ลำ นับเป็นออเดอร์แรกจากต่างประเทศ และเป็นก้าวสำคัญของจีนในความพยายามรุกเจาะตลาดการบินโลก ซึ่งมีบริษัทโบว์อิ้งและแอร์บัสครองตลาดอยู่
เมื่อวันอังคาร (4 พ.ย.) ในระหว่างงานนิทรรศการไชน่า แอร์โชว์ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของประเทศจีน บริษัท จีอี คอมเมอร์เชียล เอวิเอชั่น เซอร์วิส ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจให้บริการลิสซิ่งเครื่องบินในเครือจีอีได้ลงนามสัญญาซื้อเครื่องบินขนาดกลางออกแบบโดยจีนรุ่น ARJ21-700 จากบริษัท คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟต์ คอร์ป ออฟ ไชน่า หรือ ซีเอซีซี เป็นจำนวน 5 ลำ พร้อมคว้าสัญญาให้สิทธิซื้อเพิ่มอีก 20 ลำ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 750 ล้านเหรียญสหรัฐหลังจากลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยบริษัทกำหนดจัดส่งให้ในปี 2013
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นก้าวย่างสำคัญของจีนในการรุกตลาดการบินโลกซึ่งโบอิ้งและแอร์บัสของยูโรเปี่ยน แอโรนอติก ดีเฟนส์ แอนด์ สเปซ ครองตลาดอยู่
ส่วนสิทธิในการซื้อเครื่องบินเพิ่มนั้น ทางเจ้าหน้าที่จากบริษัทออกแบบและวิจัยเครื่องบินในเครือซีเอซีซีกล่าวว่า ทางบริษัทจีนจะให้สิทธิจีอีซื้อเครื่องบิน ARJ21 เพิ่มอีก 20 ลำ โดยแต่ละลำจะจำหน่ายในราคา 20-30 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้านไมค์ วิลกิ้ง หัวหน้าฝ่ายขายเครื่องบินของจีอีประจำประเทศจีนเปิดเผยว่า จีอีวางแผนให้บริการลิสซิ่งเครื่องบินแก่บริษัทสายการบินจีนเพื่อใช้บินภายในประเทศ สำหรับเครื่องบินจีนรุ่น ARJ21 นี้จีอีก็เป็นผู้จำหน่ายเครื่องยนต์ให้ด้วย
ขณะที่ จิม เอ็กซ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอินโดสวิส เอวิเอชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมการบินกล่าวว่า เครื่องบิน ARJ21 ขนาด 70 ที่นั่งถือเป็นก้าวสำคัญของจีนในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในประเทศให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตเครื่องบินในตลาดโลกได้ ขณะที่ข้อตกลงซื้อเครื่องบินครั้งนี้อาจช่วยให้จีอีคว้าสัญญาขายเครื่องยนต์ในตลาดจีนได้เช่นกัน
โดยเอ็กซ์กล่าวว่า “จีอีกำลังทำธุรกิจในจีน ดังนั้นหากจีอีไม่ทำสัญญาซื้อเครื่องบินกับจีน บริษัทก็จะพลาดโอกาสขายเครื่องยนต์ให้กับจีน"
ทั้งนี้ เครื่องบินเจ็ทหรือเครื่องบินโดยสารขนาดกลางรุ่น ARJ21-700 สิทธิบัตรของประเทศจีน 100% นี้ มีชื่อย่อมาจาก “Avanced Regional Jet for the 21st Century” (เครื่องบินเจ็ทแห่งศตวรรษที่ 21 ) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 70-90 ที่นั่ง บินได้ไกล 3,700 กม. และรับใช้เส้นทางบินจีนร้อยละ 60 นับเป็นความคืบหน้าก้าวใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลกได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนเริ่มต้นด้วยการผลิตเครื่องบินขนาดกลาง ขณะนี้จึงยังไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งในตลาดเดียวกับโบอิ้งและแอร์บัส แต่จะแข่งขันในตลาดเครื่องบินขนาดกลางที่มีคู่แข่งหนาแน่น อาทิ Empresa Brasileira de Aeronautica SA ของบราซิล รวมทั้งบริษัทในรัสเซีย และญี่ปุ่น ที่เดินเครื่องพัฒนาโครงการเครื่องบินขนาดกลาง แต่ในอนาคตภายในปี 2020 จีนตั้งเป้าผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ 150 ที่นั่ง เพื่อประกาศศึกกับโบอิ้งและแอร์บัสโดยตรง