xs
xsm
sm
md
lg

พลังชนชั้นกลางในจีน กับปัญหาลอยแพพนักงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้คนแห่แหนกันมางานจ็อปแฟร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเทียนจิน
เฮอรัลด์ ทริบูน - หากปัญหาคนตกงานในจีนยังเสมือนเลือด ที่ไหลออกจากบาดแผลไม่ยอมหยุด จะเกิดอะไรขึ้นในสังคมของประเทศนั้น ?

เวลานี้ อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนแดนมังกรเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก2008 ที่ปักกิ่ง ดูเหมือนเป็นช่วงชีวิตในอดีตไปเสียแล้ว

คนงานอารมณ์โกรธแค้น ที่ถูกนายจ้างลอยแพ กำลังยืนหน้าเศร้าอยู่หน้าโรงงาน ซึ่งปิดกิจการ เหยื่ออีกรายของภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ กลายเป็นภาพใหม่ ที่ปรากฏขึ้นในสังคมที่นั่น

โรงงานในประเทศจีนพากันปิดกิจการระนาว และคนงานถูกลอยแพ นับเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนก แต่ตัวเลขการตกงานของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีการประกาศให้ทราบไม่มากเท่า ก็น่าตระหนกไม่แพ้กัน และอาจมีนัยสำคัญกว่า นั่นก็คือพวกพนักงานในบริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง

หลังจาก 30 ปี ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ประชาชนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน และส่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนกำลังย่ำแย่ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ยอดสินค้าส่งออกตกลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

เฉพาะในเมืองต่งกวน เขตอุตสาหกรรมในภาคใต้ มีคนงานกระจุกกันอยู่แถบนั้นราว 2 ล้านคน แม้รัฐบาลจีนเร่งจัดสรรเงินกอบกู้วิกฤตบริษัทล้มละลาย และจ่ายเงินชดเชยแก่คนงาน แต่ความช่วยเหลือยังไม่รวดเร็วทั่วถึง

จำนวนคนงานถูกลอยแพ ที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ก่อกระแสความไม่พอใจ ทว่าคนงานเหล่านี้ก็ทำได้แค่ลุกขึ้นมาประท้วงอย่างโดดเดี่ยว ยังมิได้มีการผนึกกำลังต่อสู้ร่วมกัน หรือมีการเรียกร้องให้มีตัวแทน ทำหน้าที่เป็นปากเสียงทางการเมือง

นอกจากนั้น เมื่อหันมาพิจารณาข้อเท็จจริงของการเมืองภายในประเทศจีนแล้ว จะเห็นได้ว่า คนงานโรงงานมีอำนาจจำกัดในการรวมตัวต่อสู้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยเมื่อ 5 ปีก่อน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวนา ที่เพิ่งอพยพมาอยู่ในเมืองได้ไม่นาน มีสถานภาพและการคาดหวังอยู่ในระดับล่างสุด นอกจากนั้น เครือข่ายสังคมของพวกเขาก็ ไม่ปะติดปะต่อกัน ,การศึกษาก็น้อย แถมสถานภาพทางกฎหมายยังเป็นสีเทา โดยคนงานส่วนใหญ่เป็นชาวเมือง ที่มิได้รับการขึ้นทะเบียน

คนงานจำนวนมากรู้จักอดทนกับสภาพเงื่อนไขการทำงานในระดับต่ำ, สิทธิความเป็นธรรม ซึ่งได้รับน้อยที่สุด และระเบียบการจ่ายค่าแรง ที่คลุมเครือน่าสงสัย

เมื่อถูกปิดโรงงาน พวกเขาเกิดปฏิกิริยาตอบโต้เสียงดัง แต่สิ่งที่กำลังเรียกร้องก็คือให้นายจ้างจ่ายค่าแรงย้อนหลัง ไม่ใช่การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับระบบแต่อย่างใด

มันเป็นลักษณะที่แตกต่างจากพวกชนชั้นกลางในจีน

ปัจจุบัน มีชนชั้นกลางในจีนถึงราว 100 – 150 ล้านคน ซึ่งนับเป็นพลังที่แข็งแกร่ง

หากในปี 2552 เกิดการตกงานครั้งใหญ่ของพวกพนักงานในบริษัท ซึ่งเป็นพวกที่ใช้ความคิดและวิชาชีพมากกว่าแรงงาน เศรษฐกิจและการเมืองของจีนจะเผชิญกับปัญหาท้าทาย ที่ไม่เคยมีการป่าวร้องให้ทราบมาก่อน

กลุ่มชนชั้นกลางของจีนเป็นคนประเภท ที่เติบโตมาพร้อมกับการมีโอกาสเลือกมากขึ้น และมีระดับการครองชีพ ที่สูงขึ้น จนเคยชิน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชนชั้นกลางมิได้ออกมาร้องทุกข์อะไรมากนัก แต่เมื่อถูกยั่ว ก็อาจสวนหมัดกลับเข้าให้บ้าง

การรวมพลังของชนชั้นกลาง เพื่อพยายามกดดันนโยบายของประเทศ ปรากฏตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดเมื่อปี 2547 เครือข่ายนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและนักกฎหมาย ได้อาศัย “กฎหมายการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นของกรุงปักกิ่งเอง ชี้ข้อถูกข้อผิด ให้รัฐบาลได้เข้าใจ เพื่อระงับแผนการก่อสร้างเขื่อนที่แม่น้ำนู่เจียง ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำธรรมชาติ ที่ยังบริสุทธิ์แห่งสุดท้ายของจีน
จตุรัสเทียนอันเหมินในวันนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจีน
เหตุการณ์ที่คนชั้นกลางออกมาป่วนประเทศของแท้เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2532 เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน หลังจากเกิดวิกฤตเงินเฟ้อในประเทศผ่านไปได้หนึ่งปี พวกนักศึกษาเรียกร้องให้เอาผิดกับคนที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ

แต่เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านมา 2 ทศวรรษ หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป บรรดานักบริหารด้านการเงินมีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานมากขึ้น มีการทำโครงการประกันสังคมและการจ้างงานฉบับใหม่ออกมาหลายโครงการ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วเป็นการเสนอหลักประกันความปลอดภัยที่ดีขึ้นให้แก่คนงานในเมืองที่ตกงาน

แต่นักวิเคราะห์เห็นว่า โครงการ ซึ่งเพิ่งจัดทำขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังอยู่ในขั้นของเด็กกำลังหัดเดิน

นอกจากนั้น รัฐบาลจีนยังเสนอทางเลือก ที่กว้างขวางกว่าเดิมให้แก่ประชาชนผู้ครุ่นแค้น ขณะเดียวกัน ก็ได้ออกกฎข้อบังคับ เพื่อจำกัดขอบเขตเวทีแสดงความคิดเห็นของพลเมือง เช่น การนำกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนบางฉบับ มาลงในเว็บไซต์ของรัฐบาล และประชาชนเปิดเข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็นได้

ทว่าจนถึงขณะนี้ เวทีแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ยังเงียบเหงา แต่หากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจยังยืดยาวต่อไป เวทีดังกล่าวก็อาจได้รับความสนใจมากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว ยังไม่ทราบได้ว่า ชนชั้นกลางของจีนจะพุ่งความสนใจไปที่โครงการสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่รัฐบาลเสนอ หรือให้ความสนใจกับปัญหาที่กำลังวิตกกัน เช่น การเรียกร้องเสรีภาพสำหรับสื่อมวลชนในการรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาของพนักงานในบริษัท

แต่ยิ่งหลุมการเงินลึกลงเท่าใด ความพึงพอใจทางการเมืองก็น่าจะยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น