xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนมอง 30 ปี ของก้าวย่างการปฎิรูปจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวจีนอยู่กันอย่างแออัดในบ้านคับแคบยุคทศวรรษที่ 1980-ไฟล์ภาพจากไชน่าเน็ต
เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำในการปฏิรูปจีนสู่ยุคใหม่ ภายใต้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ซึ่งแนวคิดนี้ยังคงเป็นแบบแผนในการปกครองและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนจวบจนวันนี้ และในเดือนธันวาคมนี้ จะครบรอบ 30 ปีแห่งการเปิดประเทศและปฏิรูปประเทศจีน ทีมงาน "มุมจีน" ได้เสนอลำดับเหตุการณ์ มองย้อนการพัฒนา เปลี่ยนแปลงต่างๆจากนโยบายดังกล่าว

ปี 1966-1976-จีนตกอยู่ในสภาพวุ่นวายใหญ่ระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมของผู้นำเหมา เจ๋อตง ที่ต้องการเปลี่ยนการเมืองและสังคมจีนอย่างถอนรากถอนโคน สู่สังคมเสมอภาคแบบยุคพระศรีอาริย์ เติ้ง เสี่ยวผิง เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดล้างทางการเมือง



ภาพเมื่อปี พ.ศ. 2517 (1974) ประธานเหมา เจ๋อตง(ซ้าย) ผู้นำการปฏิวัติสร้างจีนใหม่ กำลังจับมือกับผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้สืบทอดการนำนาวารัฐจีนต่อจากประธานเหมา

ธันวาคม ปี 1978 ภายหลังผู้นำเหมา เจ๋อตง อสัญกรรม เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำจีน และได้ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาด ค่อยๆสลายระบบนารวมของเหมา เจ๋อตง ที่สร้างความเสียหาย โดยในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 11 เต็มคณะ ครั้งที่ 3 ได้รับผ่านร่างข้อเสนอนโยบายเปิดและปฏิรูปประเทศของเติ้ง เสี่ยวผิง

ปี 1979- 1980 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และคณะมุขมนตรี ได้ผ่านระเบียบว่าด้วยการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น ในมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของจีนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก ต่อมา ก็ขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นที่เมืองจูไห่, เซี่ยเหมิน และซ่านโถว(ซัวเถา) ระหว่างนั้น เซินเจิ้นเป็นจุดสาธิตทดลองนโยบายปฏิรูปของเติ้ง และดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศ

1979-
จีน-สหรัฐอเมริกา สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต,  ดำเนินนโยบายลูกคนเดียว


1982-
ประชากรจีน มีจำนวนเกิน 1,000 ล้านคน

ช่วงต้นทศวรรษ 1980
นับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในแผ่นดินจีนเริ่มเติบโต และยังกลายเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีให้หลัง ขณะเดียวกัน ก็สร้างผลข้างเคียงด้านลบ ได้แก่ เงินเฟ้อ คอรัปชั่น และความป่วยไข้ทางสังคมอื่นๆ



ชาวจีนยุคทศวรรษที่ 1980 กินข้าวปริมาณมาก กินกับแต่น้อย


1986- เติ้งผลักดันนโยบาย “เปิดประตู” เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

1988- เงินเฟ้อควงสว่าน และคอรัปชั่น ทำให้จีนจำกัดยั้งกระแสเงิน และการลงทุนจากต่างประเทศ


เดือนเมษายน- เดือนมิถุนายน ปี 1989 มีชุมนุมการประท้วงของกลุ่มนักศึกษา และผู้เรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งอยู่ในปลายยุคของผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง โดยกลุ่มนักศึกษามองว่านโยบายเปิดและปฏิรูปประเทศของเติ้ง ควรที่จะรวมถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองด้วย แต่ทว่าเหตุการณ์ก็จบลงอย่างน่าเศร้าเมื่อทางการจีนปราบปรามผู้ประท้วงด้วยกำลังทหารอย่างนองเลือด

กลางทศวรรษ 1990
เริ่มปรับโครงสร้างหรือปิดรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ หันมาใช้ระบบไม่ทำไม่มีกิน ส่งผลให้คนงานนับล้านคน สูญเสีย “ชามข้าวเหล็ก” จากระบบการจ้างงานตั้งแต่นอนเปลยันฝังศพ

พฤศจิกายน ปี 1990 ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (SSE) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการอีกครั้ง นับตั้งแต่ปิดตลาดปิดตลาดไปในปี 1949 หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามามีอำนาจและบริหารประเทศ ในเดือนถัดมา ก็เปิดตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น

ปี 1992
ขณะที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเปิดและปฏิรูปประเทศจากกลุ่มอนุรักษ์กำลังร้อนแรง เติ้ง เสี่ยวผิง วัย 88 ปี ได้เดินทางไปตรวจงานทางภาคใต้ อาทิเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ,เขตเศรษฐกิจพิเศษจูไห่ และเซี่ยงไฮ้ ลั่นวาจายืนยันการปฏิรูป ด้วยคำพูดที่ทิ่มแทงหัวใจกลุ่มผู้นำคอมมิวนิสต์หัวเก่า ว่า “ความมั่นคั่งเป็นเกียรติภูมิ”

1994 จีนเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ต

1996
ค่าเงินจีน เหรินหมินปี้ หรือหยวน สามารถแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินต่างประเทศ

กุมภาพันธ์
1997-
เติ้ง ถึงแก่อสัญกรรม เจียง เจ๋อหมิน ขึ้นครองอำนาจแทน 

กรกฎาคม ปี 1997
เกาะฮ่องกงกลับคืนสู่อ้อมอกการปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ หลังอยู่ภายใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักร มาตั้งแต่ปีค.ศ.1842 (สมัยราชวงศ์ชิง ค.ศ.1644-1911) หลังจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น(ค.ศ.1840-1842) ตามสนธิสัญญานานกิง ที่ราชสำนักราชวงศ์ชิงทำกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรแห่งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย

1998-
จีนอัดฉีดเงิน 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ภาคธนาคารที่กำลังซวนเซ

1999- จีนประกาศห้ามกลุ่มลัทธิฝ่าหลุนกง เป็นลัทธินอกกฎหมาย

กรกฎาคม ปี 2001 จีนได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ปักกิ่ง 2008

11 ธันวาคม ปี 2001 จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ





ปัญหาท้าทายจีนในการปฏิรูปยุคต่อไป คือช่องว่างในสังคมจีนนับวันยิ่งถ่างกว้าง ในภาพ :มุมหนึ่งในกรุงปักกิ่งระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปักกิ่ง-เอเอฟพี


2002-ผู้นำคอมมิวนิสต์ รับรอง “หลักทฤษฎีสามตัวแทน” ไฟเขียวให้กลุ่มผู้ประกอบการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์”


2003-
หู จิ่นเทา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แทน เจียง เจ๋อหมิน ,

- โรคทางเดินหายใจฉับพลัน หรือซาร์ส ระบาดในประเทศจีน และลุกลามไปยังประเทศต่างๆ สังหารผู้คน ราว 800 รายทั่วโลก,


- จีนส่งปฏิบัติการอวกาศที่มีมนุษย์อวกาศไปด้วย ส่งให้จีนกลายเป็นจ้าวอวกาศชาติที่สาม รองจากสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย


2004-
สหประชาชาติ ประมาณว่า ชาวจีน 1 ล้านคน ติดเชื้อ เอชไอวี

2005-
เศรษฐกิจจีนขยายใหญ่ เป็นอันดับสี่ของโลก, รัฐบาลยกเลิกการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนหยวนกับดอลลาร์สหรัฐฯ ปล่อยให้ค่าเงินลอยตัวแบบมีการจัดการ

ธันวาคม ปี 2005
รัฐบาลจีนยกเลิกระบบตรึงอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว ระหว่างค่าเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐฯ

กุมภาพันธ์ ปี 2006 ทุนสำรองสกุลเงินตราระหว่างประเทศของจีนสูงเป็นอับดับหนึ่งของโลก ด้วยมูลค่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แซงหน้ามหาอำนาจเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่น



จีนใช้เวที โอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 ประกาศจีนยุคใหม่ ทันสมัย มั่งคั่ง ผุดตึกที่มีการออกแบบล้ำสมัยนับสิบหลัง จนกลายเป็นสนามประลองฝีมือของสถาปนิกมือหนึ่งของโลก ในภาพ สนามกีฬาแห่งชาติ ที่มีชื่อตามแบบว่า “รังนก”


2006- เขื่อนสามโตรก หรือซันเสีย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเส้นทางรถไฟสู่ทิเบต แล้วเสร็จในปีนี้ 

2007-
จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก เท่ากับ 210 ล้านคน  จีดีพีต่อหัวประชากร แตะระดับ 18,900 หยวน (2,760 เหรียญสหรัฐฯ)

พฤษภาคม 2008
แผ่นดินไหวเสฉวน สังหารคน ราว 70,000 คน

สิงหาคม ปี 2008
ผู้คนทั่วโลกจับตามองปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีนในฐานะเจ้าภาพโอลิมปิก ปักกิ่ง เกมส์ 2008



เสื้อผ้าชาวจีนยุคทศวรรษที่ 1980 ส่วนใหญ่ เป็นรูปทรงแบบนี้ สีเขียว-ไฟล์ภาพจากไชน่าเน็ต
ยานพาหนะบนท้องถนนในเมืองจีน ยุคทศวรรษที่ 1980 ส่วนใหญ่เป็นแบบไม่มีเครื่องยนต์-ภาพจากไชน่าเน็ต
จีนยุค ทศวรรษที่ 1980 มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเท่านั้น ที่ได้นั่งรถเก๋ง-ภาพจากไชน่าเน็ต
หลังจีนเปิดประเทศ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมส่งออก สร้างการเติบโตอย่างมหัศจรรย์-ภาพเอเอฟพี
หลังจีนเปิดตลาดหลักทรัพย์ ก็เฟื่องฟู เป็นกระทิงคึก จนถึงปีที่แล้ว ในภาพ: ระฆังใหญ่ผูกโบว์แดงที่ตลาดหุ้นเซินเจิ้น ซึ่งกำลังเตรียมฉลอง 30 ปี การปฏิรูป เปิดประเทศ-ภาพเอเอฟพี
รถไฟความเร็วสูงหัวกระสุน บริการการเดินทางระหว่างเมืองและมณฑลต่างๆในจีน เริ่มเข้าสู่ชีวิตคนจีน ปี ค.ศ. 2007-ภาพเอเอฟพี
เซี่ยงไฮ้ นำรถไฟฟ้าลอยตัวระบบคลื่นแม่เหล็ก “แมกเลฟ” จากเยอรมนี มาใช้ ในเชิงพาณิชย์ เป็นแห่งแรกของโลก ปี ค.ศ. 2004-ภาพเอเอฟพี
สะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก ข้ามอ่าวหังโจว ช่วยประหยัดการเดินจากเซี่ยงไฮ้ และหนิงโบ มณฑลเจ้อเจียง ในเดือนพ.ค. 2008-ภาพเอเอฟพี
จีนส่งเที่ยวบินอวกาศ ที่มีนักบินอวกาศโดยสารไปด้วย ครั้งที่สาม ในเดือนตุลาคม ปี 2008 และเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศได้ออกมานอกยานฯ ปฏิบัติการเดินอวกาศ ทั้งนี้ จีนกลายเป็นจ้าวอวกาศอันดับสาม รองจากรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา หลังส่งปฏิบัติการมนุษย์อวกาศครั้งแรกไปกับเซินโจว 5 ปี 2003 ในภาพ :จรวดขนส่งฉางเจิง และยานเซินโจว 7 ที่สถานียิงจรวดในกันซู่ เตรียมพร้อมยิงขึ้น-ภาพเอเอฟพี
เซี่ยงไฮ้ เวิร์ล ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์” ตึกสูงระฟ้าที่สูงที่สุดในประเทศจีน ผุดกลางมหานครเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2008-ภาพเอเอฟพี
 จีนพัฒนาเครื่องบินโดยสารขนาดกลาง ARJ21 และทดลองบินสำเร็จเมื่อเดือนที่แล้ว (พ.ย. 2008) เป็นก้าวแรกของการผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ในอนาคต หวังชิงเค้กส่วนแบ่งตลาดกับ ยักษ์ใหญ่ผลิตเครื่องบินโลก โบอิ้ง และ แอร์บัส -ภาพซินหัว
จีนมีทุนสำรองมากสุดในโลก มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่า 585,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แซงหน้าญี่ปุ่นเช่นกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 ในภาพ: ตึกสำนักงานใหญ่วาณิชธนกิจแห่งสหรัฐฯ มอร์แกน สแตนลีย์ ที่กองทุนความมั่งคั่งจีน (ซีไอซี) ถือหุ้น อยู่ร้อยละ 9.9 -ภาพเอเอฟพี
เมื่อชนชั้นกลางขยายตัว ความมั่งคั่งที่เบ่งบาน จีนกลายเป็นตลาดสินค้าหรู ราคาแพงที่เย้ายวนที่สุดในโลก ยอดขายรถหรูมาแรง ยักษ์ค้าปลีกจากอังกฤษ Mark & Spenser ก็รุกเข้าเจาะตลาดจีน ในภาพ : M&S เปิดร้านสาขาร้านแรกในเซี่ยงไฮ้ เดือนต.ค. ปี 2008-ภาพเอเอฟพี
วงการแฟชั่นไม่น้อยหน้าใคร ในภาพ: เฟนดิ แฟชั่นโชว์ จัดแสดงแฟชั่นที่กำแพงเมืองจีน เดือนตุลาคม ปี 2007-ภาพเอเอฟพี
จีนกำลังพัฒนาเขตเมืองรอบชนบทขนานใหญ่ ในการปฏิรูปภาคชนบทขณะนี้ ซึ่งจะทำให้จีนมีเขตเมืองขนาดใหญ่สุดในโลก ถึง หนึ่งพันล้านคน-ภาพเอเอฟพี
บทเรียนใหญ่ การพัฒนาเศรษฐกิจด้านเดียว สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่จีนอย่างหนัก หมอกมลพิษบริเวณเวิร์ดเทรด เซ็นเตอร์ ศูนย์กลางพาณิชย์ กรุงปักกิ่ง -ภาพเอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น