xs
xsm
sm
md
lg

สื่อจีนเผยความจริงภายใต้สุขนาฏกรรม และโศกนาฏกรรม ปี 2008

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

กลุ่มคนงานอพยพผจญวิกฤตช่วงก่อนตรุษจีนเช่นเดียวกับปี 2008 โดยในปีที่แล้ว พวกเขาผจญกับพายุหิมะปิดถนน จนต้องกลับบ้านฉลองตรุษจีนล่าช้า แต่สำหรับปีใหม่นี้ วิกฤตการเงินโลก ทำให้พวกเขาได้กลับบ้านเร็วก่อนวันตรุษจีนถึงกว่า 20 วัน เพราะไม่มีงานทำ ในภาพ: ครอบครัวคนงานจากกว่างตงมาถึงสถานีรถไฟกุ้ยหยางมณฑลกุ้ยโจวกลับบ้านเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ภาพโดยเอเอฟพี
หวนนึกถึงช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน หรือปีใหม่ของชาวจีนในปี 2008 พายุหิมะได้พัดกระหน่ำปิดถนนหนทาง หยุดการเดินทางกลับบ้านเพื่อฉลองตรุษจีนของผู้คนในแดนมังกรนับแสนคน หลายคนต้องกลับบ้านล่าช้า แต่สำหรับปีนี้ ชาวจีนจำนวนมากกลับได้กลับบ้านกันเสียแต่เนินๆก่อนวันตรุษจีน ซึ่งก็เป็นแรงบีบของวิกฤตการณ์เช่นกัน การปลดคนงาน ปิดโรงงาน ทำให้แรงงานอพยพชาวจีนจำนวนมากหลั่งไหลกลับบ้านก่อนตั้งแต่ช่วงวันหยุดปีใหม่สากล ก่อนเทศกาลตรุษจีนมาถึงในวันที่ 26 มกราคม ถึง 20 กว่าวัน

กลุ่มสื่อและนักวิชาการต่างเรียกขานปี 2008 ของจีน ว่า เป็น “ปีใหญ่” (大年) หลังวิกฤตพายุหิมะในต้นปี ไม่ทันไร ในเดือนมีนาคมก็เกิดเหตุการณ์จลาจลในลาซา หลังจากนั้นกระแสความโกรธแค้นของกลุ่มประท้วงจีนกรณีขัดแย้งทิเบต ก็เริ่มถั่งโถมใส่ขบวนวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกในเดือนเมษายน เข้าสู่เดือนพฤษภาคม แผ่นดินไหวที่ซื่อชวน (เสฉวน) ก็คร่าชีวิตชาวจีนไปร่วม 90,000 คน ความเครียดขึงจากโศกนาฏกรรมไม่ทันจางหายจากใบหน้า ชาวจีนก็ได้เฉลิมฉลองสุขนาฏกรรมใหญ่ในโอลิมปิก ปักกิ่ง และการส่งยานอวกาศเสินโจว 7 ไปปฏิบัติการเดินอวกาศครั้งแรก ต่อมา ในพริบตาคลื่นวิกฤตการเงินโลก ก็เข้าจู่โจมชาวจีน

เช่นกัน ในปี 2008 รัฐบาลจีนได้เริ่มผลักดันการปฏิรูปใหม่ครั้งสำคัญ ได้แก่ การปรับโครงสร้างบริหารด้วยการจัดตั้งมหากระทรวง 5 แห่งเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของระบบรัฐที่มีปัญหา เปิดทางแก่ “การถ่ายโอนสิทธิที่ดิน” สำหรับสร้างชนบทใหม่ภายใต้ระบอบสังคมนิยม นอกจากนี้ การปฏิรูปภาษีเชื้อเพลิงก็ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน

ปลายปีวิกฤตการเงินได้ส่งผลกระทบถึงผู้คนถ้วนหน้า กลุ่มพนักงานตามสำนักงานบริษัทย่านใจศูนย์กลางพาณิชย์ใหญ่ เริ่มประหยัด สำหรับบรรยากาศในตงก่วน ที่เป็นแหล่งโรงงานโลกในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) คนงานจากต่างถิ่นก็เข้าแถวยาวถึงยามค่ำคืนเพื่อรอถอนประกันยามแก่ชรา จากนั้น ก็ตรงไปยังสถานีรถไฟเข้าแถวยาวอีกครั้ง เพื่อซื้อตั๋วที่นั่ง กลับบ้าน แรงงานอพยพหลั่งไหลออกจากหมู่บ้านทางตอนเหนือของมณฑลใหญ่อย่างเจียงซี คลื่นคนงานกลับมา กลุ่มคนหนุ่มสาวรวมแก๊งออกอาละวาดไปทั่ว ก่อกวนความสงบในท้องถิ่น

ผู้คนมักพูดกันว่า วิกฤตการณ์นำมาซึ่งโอกาส นั่นอาจเป็นจริงสำหรับคนบางกลุ่ม แต่ขณะนี้ มีเค้าลางว่าแรงงานจากชนบทจำนวนมากอาจกลายเป็นเหยื่อผู้แพ้ พวกเขาสูญเสียงานในเมืองซึ่งแม้จะเป็นชีวิตที่ลำบากแต่ก็ยังพอใจอยู่กับมัน เมื่อเกิดวิกฤตพวกเขาก็ต้องกลับสู่บ้านนาภูมิลำเนาเดิมของตน ขณะที่กว่างตงก็ต้องพัฒนาตัวเองสู่ “อุตสาหกรรมขั้นสูง” ความฝันของเหล่าแรงงานที่เคยหากินกับแหล่งโรงงงานโลกมาก่อน ก็ต้องแตกสลายไป เมื่อกลุ่มคนงานที่ขาดความรู้ทักษะเหล่านี้ ถูกโยนออกไป

คนทั่วไปมีแนวคิดที่ตายตัวว่า การปฏิรูปเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่เดินหน้าไปเรื่อยๆ แต่ในสภาพชีวิตจริงในสังคมแต่ละด้าน ก็มักมีแต่ปรากฏการณ์เลวร้ายถดถอยลง อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ขณะที่บรรดารัฐบาลท้องถิ่นกำลังซวนเซจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลกลางซึ่งมีอำนาจกว้างขวาง ก็เข้าแทรกแซง โดยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูป อ้างปัจจัยภาวะเงินเฟ้อ เข้ามาแทรกแซงด้านราคาโดยตรงหน่วยงานรัฐที่เคยซบเซาไป ก็กลับมามีบทบาทสูง

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ บรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต่างกระเสือกระสนและเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นช่วยเหลือด้านบริการแก่พวกเขามากขึ้น แต่ถึงบัดนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมยิ่งเข้าตาจนสุดทน ที่จริงแล้ว เพียงแต่ให้รัฐบาลท้องถิ่นถืออำนาจอยู่ในมือ พวกเขาจะช่วย “จัดการ” หรือว่าให้ “บริการ” ก็ไม่แตกต่างกัน

ปัญหายังคงดำรงอยู่ต่อไป เสมือนน้ำนิ่งไหลลึก การปฏิรูปเปิดประเทศผ่านไป 30 ปี แต่ตรรกะการดำเนินการของรัฐบาลก็เป็นเช่นเดิม การปฏิรูปเดินหน้าไป “บนหน้าหนังสือพิมพ์” เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างน่าตกใจ รัฐบาลก็งัดแผนมาตรการใหญ่ “ สี่ล้านล้านหยวน” ออกมาโต้ตอบ จากนั้น กระแสรัฐบาลท้องถิ่นช่วงชิงกันดันโครงการของบประมาณก็ทะยานสูง การปราบปรามคอรัปชั่นเร่งฝีพายแรงขึ้น ล่วงถึงปีใหม่ ก็จับได้เพียง “เศรษฐีใหญ่” คนหนึ่ง

จีนในปี 2008 เทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีหลายสิ่งที่คล้ายกัน ในปี 1998 “สึนามิ” การเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จุดชนวนวิกฤตการเงินโลก ตอนนั้น อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจีนรักษาระดับที่ร้อยละ 7 ได้อยู่หลายปี ภาวะเงินฝืดดันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กระแสตกงานทั้งในเมืองและชนบทยังขยายตัวต่อไป สิ่งที่ตามมาก็คือ ความแตกต่างระหว่างเขตเมืองและชนบทยิ่งเลวร้ายลง เมื่อสำรวจข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว ก็พบว่าปัญหาท้าทายจีนในตอนนั้น ก็คือสิ่งที่กลุ่มนักวิชาการร้องเตือนในตอนนี้ ได้แก่ “การปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรม” และ “ขยายความต้องการภายใน”
ปี 2008 ของจีน เป็นปีมหาศุภฤกษ์ ที่จีนได้เป็นแสดงศักยภาพของประเทศผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก และส่งยานอวกาศเสินโจว 7 ออกปฏิบัติการเดินอวกาศครั้งแรก แต่ไม่กี่เดือนต่อมา ผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกก็จู่โจมคนงาน ช็อคไปตามๆกัน ทางการจีนเผยสถิติที่รวบรวมถึงเดือนตุลาคมปี 2008 ระบุ แรงงานอพยพถึง 600,000 คน โบกมือลาแหล่งทำกินในมณฑลกวางตุ้ง เนื่องจากการส่งออกหดตัว และการปิดโรงงาน-ภาพโดยเอฟเอพี
จากช่วงทศวรรษที่ 90 ปัญหาเหล่านี้ ได้ก่อกวนการพัฒนาเศรษฐกิจจีน โชคดีที่ว่าผลกระทบจากวิกฤตการเงินในตอนนั้นอ่อนตัวลงและผ่านไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเศรษฐกิจระลอกใหม่ได้นำพาความต้องการภายนอกเข้ามา และเศรษฐกิจจีนก็กลับมาพึงพาการส่งออกเป็นสรณะ กอปรด้วยการลงทุนภาคโครงสร้างพื้นฐาน ผนึกเป็นพลังหนุนส่งจีดีพีทะยานลิ่วโลด รัฐบาลท้องถิ่นเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ก้อนโตจากการพัฒนาที่ดินกันเปรม

ระหว่าง 10 ปี ที่เศรษฐกิจจีนโชติช่วง การส่งออกคึกคัก แม้ผลกำไรจะหดลง แม้จะต้องปะทะกับศึกขัดแย้งบนเวทีการค้าอยู่เนืองๆ จีดีพีก็ยังคงเบ่งบาน ผู้นำทุกระดับชั้นต่างอิ่มอกอิ่มใจ ใครล่ะจะตระหนักถึงเสียงร้องเตือน “ขยายความต้องการภายใน”

10 ปีต่อมา เมื่อผลกระทบจากวิกฤตการเงินระบาดมาถึงภาคเศรษฐกิจจริงของจีน ปัญหาที่ซุกไว้เป็นหลายปีก็ผุดขึ้นอีกครั้ง และดูจะยิ่งพอกหนาขึ้นไม่หยุด กลุ่มนักศึกษามหาวิทยา และคนงานจากภาคชนบทหลั่งไหลเข้าสมทบกองทัพใหญ่คนตกงาน ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว การบริโภคภายในอ่อนแรง สถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศประดังเข้าบีบคั้นผู้คน ณ ปัจจุบัน ที่การบริโภคตัดสินชะตาภาคการผลิต จีนจะยังประสบโชค ถ่วงเวลาแก้ปัญหาเหล่านี้ ไปอีก 10 ได้หรือ?

เมื่อรัฐบาลเริ่มลุย “ขยายความต้องการภายใน” คลอดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ “สี่ล้านล้านหยวน” ออกมาอย่างรวดเร็ว ตลาดจึงเริ่มมีเรี่ยวแรงขึ้นมา นี่คือลักษณะพิเศษเฉพาะของการปฏิรูปจีนใน 30 ปีที่ผ่านมา คือ หากการปฏิรูปไม่ดันก็ไม่เคลื่อนไหว กลุ่มนักวิชาการได้ชี้เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ว่าจีดีพีจีนไม่ได้นำผลประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ แต่หากเศรษฐกิจหยุดชะงักลงเมื่อใด ผลประโยชน์ของคนจำนวนมหาศาลก็หายวับไป

ทว่าหนทางที่เป็นความหวังมากที่สุด ก็ยังคงอยู่ในการลงทุนอภิมหาโครงการของรัฐบาล การลงทุนภาคโครงการพื้นฐานยับคงเป็นทิศทางหลักของแต่ละท้องถิ่น

มองอย่างภววิสัยแล้ว พื้นที่ประเทศจีนกว้างใหญ่ไพศาล โครงสร้างพื้นฐานยังขาดแคลนอยู่มาก การเพิ่มงบฯลงทุนในภาคนี้เพิ่มอีกสี่ล้านล้านหยวน ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่นี่ก็ไม่เพียงรวมโครงการพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ยังต้องรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในชนบทที่แขวนมานานหลายปี สำหรับกลุ่มเกษตรกรในภาคกลางและภาคตะวันตก เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่หรูเริด มีความหมายน้อยกว่าถนนดีๆสายหนึ่งในชนบท

การ “ขยายความต้องการภายใน” จะต้องขจัดสิ่งเลวร้ายที่เป็นอุปสรรคการปฏิรูป ต้องอาศัยความเคลื่อนไหวที่ทรงพลังประสิทธิภาพ ได้แก่ ต้องทำให้ประชาชนทั่วไปมีเงิน ต้องกระตุ้นให้ประชาชนกล้าใช้เงิน ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ ขึ้นอยู่กับระบบสวัสดิการสังคมที่พร้อมมูล และการจ้างงานที่เพียงพอ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มักจะใช้เงินเอง ไม่ยอมกระจายรายได้สู่สาธารณะ การลงทุนสามารถกระตุ้นจีดีพี แต่ก็ยากที่จะกระตุ้นการบริโภคอย่างทั่วด้าน แม้กระทั่งการขยายการจ้างงาน แหล่งที่มาที่แท้จริง ก็ยังเป็นภาคบริการ

ขณะนี้ กวางตุ้งกำลังฉกฉวยโอกาสในวิกฤตนี้ ปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรม ด้านมณฑลเจ้อเจียงศูนย์กลางผลิต ก็ไร้ยอดสั่งซื้อ เจ้าของโรงงานทอผ้านอกจากปิดกิจการล่วงหน้าแล้ว ก็ไม่มีหนทางอื่น ประชากรตกลงขยายใหญ่มากขึ้นทุกวัน และกำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อสังคมที่น่ากลัวมาก

นอกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ “สี่ล้านล้านหยวน” แล้ว รัฐบาลยังต้องหาวิธีการอื่นที่มีพลังในการ “ขยายความต้องการภายใน” อาทิ ร่างกฎหมายสวัสดิการสังคม ที่เปิดทางให้ปัจเจกชนที่โยกย้ายไปตามเขตต่างๆทั่วประเทศ สามารถรับสิทธิประโยชน์จากการประกันสังคมในด้านเลี้ยงดูผู้สูงอายุ การรักษาพยาบาล และการอุดหนุนคนตกงาน ทำให้ประชาชนรายได้ต่ำสามารถรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล, การปรับเพดานรายได้ที่จะต้องเสียภาษี และการปฏิรูปอื่นๆ

สุขนาฏกรรม และโศกนาฏกรรม ปี 2008 ได้กลบความจริงเหล่านี้ และในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จะเป็นห้วงเวลาแห่งการพิสูจน์การประสบพบกันระหว่างรัฐบาลและประชาชน สื่อจีนได้ชี้ว่า “ปีใหญ่” ของชาวจีนยังมาไม่ถึง.

แปลเรียบเรียงจากหนันฟางโจวม่อ วันที่ 4 มกราคม 2009
กำลังโหลดความคิดเห็น