xs
xsm
sm
md
lg

เคราะห์ซ้ำกรรมซ้อน มังกรผจญภัยพิบัติไม่หยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ถึงกับต้องนำเรืออกมาใช้สัญจรบนถนนแทนรถยนต์ เนื่องจากน้ำท่วมหนัก - เอเอฟพี
วอชิงตันโพสต์ / เอเอฟพี – 2008 ปีแห่งการต่อสู้กับภัยธรรมชาติของพญามังกร เจอศึกหนักทั้งพายุหิมะกระหน่ำ, แผ่นดินไหว ล่าสุดอุทกภัยครั้งใหญ่ซ้ำเติมอีก ความเสียหายสุดประมาณ ทั้งชีวิตและทรัพย์สินละลายไปกับภัยธรรมชาติไม่หยุด

ก่อนที่จะผ่านพ้นปี 2007 เข้าสู่ปี 2008 รัฐและประชาชนจีนต่างตั้งความหวังว่า ปี 2008 จะเป็นปีแห่งความปลาบปลื้มปิติสุข เนื่องด้วยปักกิ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกสุดอลังการ ซึ่งเป็นการเปิดตัวสู่โลกภายนอกครั้งใหญ่ ทว่าเมื่อย่างเข้าสู่ปี 2008 เข้า ภัยพิบัติทางธรรมชาติกลับโหมกระหน่ำใส่แผ่นดินใหญ่ไม่หยุดยั้ง จนเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนต้องง่วนอยู่กับการบรรเทาสาธารณภัย จนฝันโอลิมปิกเกือบจะกลายเป็นประเด็นรอง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝนที่เทลงมาอย่างไม่หยุดยั้งในบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ ได้เพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำหลายสาย กระทั่งน้ำเอ่อท่วมล้นตลิ่งใน 20 มณฑล กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากได้พัดพาดินโคลนไหลท่วมพื้นที่นา, โรงงาน และถนนหนทางต่างๆในเมือง ล่าสุดเมื่อวันอังคาร (17 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่จากศูนย์ควบคุมอุทกภัยและบรรเทาภัยแล้งประมาณว่า “มีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญรวมมากกว่า 220 ราย ประชาชนราว 1.6 ล้านคนต้องละทิ้งถิ่นฐานเดิม โดยรวมแล้วชาวจีนประมาณ 40 ล้านคนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอุทกภัยครั้งนี้”

นอกจากชาวบ้านที่ต้องเผชิญศึกหนักแล้ว ทั้งทหารและตำรวจที่เพิ่งปฏิบัติหน้าที่บรรเทาภัยพิบัติจากกรณีแผ่นดินไหวที่ซื่อชวน (เสฉวน) มาหมาดๆ ยังต้องแบกรับภาระ เหนื่อยเพิ่มอีก ด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบอุกทกภัยอย่างไม่มีทางเลือก

ชะตากรรมที่เลวร้าย และความเหนื่อยล้าที่ไม่จบสิ้น ดูเหมือนจะยังไม่ยุติ ผลการพยากรณ์อากาศระบุว่า เร็วๆนี้อาจจะมีฝนตกหนักอีก โดยเฉพาะบริเวณ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ทางเหนือของฮ่องกง ซึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกใหญ่ของจีน ด้านเจ้าหน้าที่จากสำนักงานชลประทานมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) เผยว่า ระดับน้ำในมณฑลขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 50 ปี โดยเฉพาะที่แม่น้ำซีเจียง และเป่ยเจียง ซึ่งไหลมาบรรจบกันที่เมืองฝอซัน ห่างจากกว่างโจว (กวางเจา) เมืองเอกของมณฑลกว่างตงไม่ไกล

ขณะนี้มีการประมาณค่าความเสียหายจากอุทกภัยว่า น่าจะสูงเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯแล้ว พ่อค้าเนื้อแช่แข็งรายหนึ่ง ในเมืองตงก่วน ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญเผยว่า ข้าวของในร้านของเขา ทั้งรถและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ล้วนเปียกปอนจมเสียหายอยู่ใต้น้ำ ส่วนเจ้าของสวนลิ้นจี่ ผู้เคราะห์ร้ายอีกรายหนึ่งก็คร่ำครวญอย่างหมดหวังว่า “น้ำพัดพาลิ้นจี่ของฉันไปหมด ฉันไม่รู้แล้วว่าจะทำอะไรต่อ รายได้หลักทั้งหมดหายไปแล้ว บางทีฉันอาจต้องไปสมัครทำงานในโรงงานเพื่อส่งเสียให้ลูกๆได้เรียน”

ย้อนดูความสียหาย เคราะห์ซ้ำกรรมซ้อน

หากพลิกดูประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 5,000 ปีของจีน แผ่นดินมังกรต้องเผชิญกับอุทกภัยอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่า “อุกทกภัยปีนี้แรงกว่าปีอื่นๆ” เนื่องจากพื้นที่ประสบภัยรุนแรงอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร สำหรับเลี้ยงชีวิตประชาชนแดนมังกร นอกจากนี้อุทกภัยร้ายแรงนี้ยังเกิดขึ้น หลังจีนประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ถึงสองครั้ง

พญามังกรต้องผจญศึกหนักนับแต่เปิดศักราชปี 2008 ศึกแรกคือ ภัยพายุหิมะกระหน่ำครั้งรายแรงช่วงเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม ทำเอาประชาชนจำนวนมากต้องติดแหง็กอยู่ตามสถานีขนส่ง ขณะพยายามกลับบ้านเพื่อฉลองตรุษจีนร่วมกลับครอบครัว อุณหภูมิที่หนาวเหน็บทำเอาสายไฟฟ้าถูกแช่ กลายเป็นเส้นน้ำแข็ง ดึงเสาไฟล้มระเนระนาด พืชผลการเกษตรถูกทำลาย การจราจรเป็นอัมพาตเพราะพื้นถนนกลายเป็นลานน้ำแข็ง

หลังจากนั้นวันที่ 12 พฤษภาคม แผ่นดินไหวรุนแรงที่ซื่อชวนก็คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 70,000 ชีวิต ผู้คนจำนวนมากกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในเต๊นท์ที่ทางการจัดให้ เนื่องจากบ้านของพวกเขาถล่มเหลือแต่ซาก ทั้งประธานาธิบดี หู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ต่างออกมาปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันเพื่อบรรเทาสาธารณภัย ที่กลายเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ สะเทือนขวัญชาวจีน จนต้องจัดให้มีการไว้อาลัยแก่เหยื่อแผ่นดินไหวทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม นับจากแผ่นดินไหวครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พ.ค. อาฟเตอร์ช็อคก็ตามมาอีกหลายระลอก จนชาวบ้านขวัญหนีดีฝ่อ แถมแผ่นดินไหวยังทำให้ ดินถล่มขวางทางเดินน้ำจนบางพื้นที่กลายเป็นทะเลสาบ ชาวบ้านต่างกังวลว่า ฝนตกหนักไม่หยุดอาจทำให้ปริมาณน้ำในทะเลสาบเหล่านี้ เพิ่มสูงขึ้นจนไหลทะลักสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) ศูนย์บรรเทาภัยแผ่นดินไหวของคณะมุขมนตรีได้ออกมาเตือนว่า “ภัยพิบัติทางธรณีครั้งใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องจากมีปัจจัยจากอาฟเตอร์ช็อคผสานกับปริมาณฝนที่ตกหนัก”

พ้นจากพายุหิมะกระหน่ำ และธรณีพิบัติภัย ที่ถูกซ้ำเติมด้วยอุทกภัยแล้ว ทางการจีนอาจต้องเจอศึกหนักกับโรคภัยอีกอย่างหนึ่ง ไชน่า เดลี่ระบุว่า อากาศช่วงฤดูร้อนในแผ่นดินจีนจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้เกิดโรคระบาดในหมู่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เฉิน จู๋ ได้ออกมายืนยันข่าวเกี่ยวกับความกังวลดังกล่าว “ความชอกช้ำทางกายและใจจากแผ่นดินไหว ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์อ่อนแอลง โดยเฉพาะเด็กและคนชราซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เราได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อให้บริการฟื้นฟูสุขอนามัยของผู้ประสบภัย” เฉินกล่าว

ก่อนหน้านี้ทางโฆษกของกระทรวงได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จะไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นแน่นอน” ทั้งนี้ในช่วง 10 วันแรกของเดือนมิถุนายน เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีกว่า 500,000 คนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดอาทิ ตับอักเสบ เอ และสมองอักเสบ บี
 
สภาพน้ำท่วมมิดหลังคาในกว่างตง - เอเอฟพี
ภาพถ่ายมุมสูงจากฉงชิ่ง เผยให้เห็นน้ำจากแม่น้ำเอ่อล้นมาอยู่ระดับเดียวกับสะพานข้ามแม่น้ำ - เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น