เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล – ปัญหาต้นทุนการผลิตในจีนอันเกิดจากกฎหมายค่าแรง เงินหยวนแข็งค่า นโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผนวกกับออเดอร์จากต่างชาติที่ลดลง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการควบคุมวีซ่าช่วงโอลิมปิกของจีนกำลังสร้างวิกฤตให้กับผู้ประกอบการส่งออกของจีน และอาจจะเริ่มสะท้อนเป็นความกดดันให้กับรัฐบาลในเร็วๆนี้
เมืองหงเหอ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเมืองผลิตขนสัตว์ชื่อดังอยู่ห่างจะเซี่ยงไฮ้เป็นระยะทางประมาณ 90 นาที เป็นเมืองที่ที่มีความรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด ชาวบ้านกว่า 100,000 คนในเมืองมีกว่าครึ่งที่ทำงานอยู่ในโรงงานชุดขนสัตว์กว่า 100 แห่งและร้านค้าเสื้อผ้าอีก 8,000 แห่ง แต่ละปีมียอดการผลิตและจำหน่ายชุดขนสัตว์กว่า 200 ล้านชุด โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ระบุว่า แต่ละปีธุรกิจต่างๆสามารถสร้างรายได้มากกว่า 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทว่าในปัจจุบัน ผู้ส่งออกจำนวนมากกับโรงงานหลายแห่งกำลังต้องปิดกิจการลง ในขณะที่ผู้ประกอบการอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องพยายามปรับตัวด้วยการลดต้นทุน และชาวจีนจากต่างถิ่นจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาทำงาน ก็กำลังถูกส่งตัวกลับไป
ผู้ประกอบการรายหนึ่งได้สะท้อนปัญหาออกมาว่า “เนื่องจากต้นทุนด้านวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กำไรของเราลดลงอย่างมาก บวกกับเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินค้าของเราที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯเป็นหลักนั้นมีราคาแพงมากขึ้น”
จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ระบุว่า เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ราคาของสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 4.6% เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประเทศที่เริ่มเคยชินกับการใช้สินค้าราคาถูกของจีน ผนวกกับความกังวลกับเศรษฐกิจภายในที่เริ่มซบเซา ทำให้ผู้นำเข้าในนานาประเทศปฏิเสธที่จะรับสินค้าจีนที่ราคาสูงขึ้นไปกว่านี้
มิเพียงเท่านั้น นโยบายต่างๆที่จีนได้ออกมาก่อนหน้านี้ ยังเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมให้ผู้ประกอบการมีกำไรหดหายลงไป บริษัทแห่งหนึ่งได้เปิดเผยว่า การที่ทางการจีนต้องการที่จะเพิ่มความคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม ได้ทำให้ต้นทุนในการพัฒนาธุรกิจของเราเพิ่มมากขึ้น” ในขณะที่ผู้นำเข้าจากต่างชาติได้ชี้ว่า การที่จีนอนุมัติวีซ่ายากขึ้นในช่วงก่อนโอลิมปิก ทำให้มาชมงานแสดงสินค้า ชมโรงงาน รวมถึงติดต่อธุรกิจลำบากขึ้น
ไม่เพียงแต่ธุรกิจชุดขนสัตว์ในเมืองหงเหอเท่านั้น แต่วิสาหกิจผู้ผลิตสินค้าราคาถูกจำนวนไม่น้อยของจีนที่ตอบสนองต่ออุปทานมหาศาลในแหล่งต่างๆของโลกไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตของเล่น เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า เสื้อผ้า ก็กำลังพบเจอกับแรงกดดันอย่างหนัก การที่ต้นทุนในการผลิตของสินค้าราคาถูกเหล่านี้จะทำให้ผลกำไรลดลงและทำให้ศักยภาพในการแข่งขันถดถอย
ความเปลี่ยนแปลงทางด้านต้นทุนดังกล่าว ได้ส่งผลโดยตรงและชัดเจนต่อบรรดาผู้ผลิตที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการประกอบธุรกิจสินค้าราคาถูก จากหัวหนันในมณฑลกวางตุ้ง ไปจนถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ที่กำลังประสบกับวิกฤตจนผู้บริหารหลายคนต่างพูดกันว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แค่สมาชิกในศูนย์ผู้ผลิตสินค้าก็มีผู้ประกอบการหลายร้อยแห่งปิดตัวลง ในขณะที่โรงงานสินค้าแปรรูปที่น่าจะปิดตัวไปแล้วนับพันแห่ง ด้านเขตตงก่วนของมณฑลกวางตุ้งก็มีธุรกิจของเล่น รองเท้า แปรง ที่กำลังปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เมืองเซิ่งโจวที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ผลิตเนคไทคิดเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของโลก ผู้ผลิตเองก็กำลังรวมตัวที่จะพยายามขึ้นราคาสินค้า ส่วนในตงก่วนของมณฑลกวางตุ้งก็มีโรงงานของเล่น โรงงานรองเท้า โรงงานผลิตแปรงปิดตัวลงไปตามๆกัน
บริษัทผลิตเสื้อผ้าเจียซิงอี่ ที่ได้ผลิตเสื้อผ้าส่งให้กับห้างสรรพสินค้าดังอย่างวอลมาร์ท ที่เดิมนั้นกิจการเคยดีวันดีคืน ในขณะนี้ก็มีเครื่องจักรกว่า 10 ตัวที่มีผ้าปิดคลุมไว้ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาไม่มีออเดอร์มาจากห้างสรรพสินค้าชื่อดังนี้ ต่อกรณีดังกล่าวเหยา เหอหรง ประธานบริษัทได้ระบุว่า “โชคชะตามันเปลี่ยนผันรวดเร็วจนเกินไป”
ส่งออกฮวบกดดันรัฐบาล?
ชะตากรรมของจีนก็ไม่ต่างจากหลายๆประเทศในโลก ที่เมื่อใดที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้น ผู้ส่งออกก็จะเดือดร้อน หลังจากมีการปฏิรูปค่าเงินใหม่ เงินหยวนในช่วงแรงยังแข็งค่าช้ามาก แต่ทว่านับแต่ปีที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯก็แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดมาจนถึงตอนนี้ได้แข็งค่าไปถึง 20%แล้ว ทว่าในอีกด้านหนึ่งเงินหยวนกับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโร ทำให้ราคาสินค้าของจีนในยุโรปยังคงถูกอยู่ ทว่าสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกนั้น ประโยชน์ที่ได้จากยุโรปนี้ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยกลบปัญหาในยุคที่วิกฤตนี้ได้
ตัวเลขจากศุลกากรจีนเมื่อไม่นานมานี้ได้เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าของจีนในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 127,530 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทว่าตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงจากอัตราการเพิ่มในเดือนพ.ค.ของปีนี้ที่มากถึง 28% แต่ในทางกลับกัน ตัวเลขการนำเข้ากลับเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วถึง 31% หรือคิดเป็นมูลค่า 100,180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทำให้ยอดเกินดุลในเดือนมิ.ย.ลดลงถึง 1 ใน 5 ทีเดียว
เหตุการณ์เหล่านี้ได้ทำให้ทางการจีนรายงานว่า การออกไปตรวจงานทางเขตริมชายฝั่งทางภาคตะวันออกนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เป็นการไปตรวจตราและดูแลปัญหาและอุปสรรคที่วิสาหกิจทอผ้ากำลังประสบอยู่เป็นพิเศษ
นักวิชาการหลายคนได้วิเคราะห์ว่า การที่ผู้นำจีนให้ความสำคัญถึงเพียงนี้ แสดงให้เห็นถึงว่ารัฐบาลจีนกำลังจะเปลี่ยนเป้าหมายจากการควบคุมเงินเฟ้อมาเป็นการสนับสนุนหรือกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางคนก็มองว่า การให้ความสำคัญของผู้นำนั้น สามารถตีความเป็นการเปลี่ยนแปลงจนมีการประกาศนโยบายใดๆได้
อย่างไรก็ตามนายแบรี นอชตันจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เป็นหนึ่งในผู้ที่จับตาเศรษฐกิจจีนมาตลอดได้ระบุว่า “หากจีนมีความกังวลต่อปัญหาการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯลดลง บวกกับต้นทุนสินค้าในประเทศเพิ่มสูง และเงินร้อนไหลเข้ามหาศาล เช่นนี้จีนก็จะเลือกที่จะหยุดให้เงินหยวนแข็งค่าต่อ ”
นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้มองว่า การที่ยอดเกินดุลมหาศาลของจีนกำลังเติบโตลดลงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจสำหรับจีน ทว่า เนื่องจากการส่งออกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือเป็นหัวรถจักรสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ทำให้มีคนเป็นจำนวนมากที่กังวลว่าการส่งออกที่ลดลง จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวไปด้วย
ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนมองว่า ที่ผ่านมาจีนได้พึ่งพาการอาศัยสินค้าราคาย่อมเยา มีต้นทุนถูก และการผลิตสินค้าที่ไม่ซับซ้อนเพื่อมาผลักดันการส่งออก นายสีว์ หย่งติ้งเจ้าหน้าที่วิจัยของหนึ่งในมันสมองของจีนอย่างบัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์ของจีนประจำปักกิ่งได้ระบุว่า “การพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากขนาดนี้ไม่ใช่สิ่งดีนักสำหรับจีน เพราะจีนมียอดการซื้อขายกับสหรัฐฯและญี่ปุ่นเท่ากับราว 20% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทีเดียว