xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจจีนร่วงหลังโอลิมปิก สัญญาณอันตรายจากแดนมังกร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนเริ่มประสบปัญหาหลังเฟื่องฟูมานาน หลายฝ่ายกังวลว่าปัญหาที่เริ่มผุดออกมานี้จะเป็นสัญญาณของฟองสบู่หรือไม่? - เอเยนซี
เอเยนซี – นักวิเคราะห์ถกเครียดแนวโน้มเศรษฐกิจจีนหลังโอลิมปิก ชะลอตัวส่งสัญญาณอันตราย ฉุดเศรษฐกิจโลก หรือแค่ปรับตัวตามปกติ ต่างฝ่ายอ้างตัวเลข เผยข้อมูลทางการจีนเริ่มหวั่นเศรษฐกิจขาลง เปลี่ยนนโยบายกระตุ้นการเติบโตแล้ว หลังจากคุมเข้มหวั่นปัญหาเงินเฟ้อมานาน

นิวยอร์ค ไทมส์เผยชาวจีนเริ่มวิตกว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ขาลง และมีแนวโน้มว่าหลังโอลิมปิกจบสิ้น ภาวะเศรษฐกิจขาลงนี้จะปรากฏชัดขึ้น ทั้งนี้นับแต่เดือนกรกฏาคมยอดการส่งออกจีนได้ปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งชี้ว่า เป็นปัจจัยดันเศรษฐกิจจีนโตอย่างร้อนแรงก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยราคาอพาร์ทเมนต์ในแถบมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ปรับตัวลดลง

นิวยอร์คไทมส์ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจขาลงนี้เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลกแล้ว ที่เห็นได้ชัดคือการที่ราคาน้ำมัน และโลหะอาทิ ทองแดง, สังกะสี และอลูมิเนียมเริ่มปรับตัวลดลง เพราะอุปสงค์จากจีนปรับตัวลดลง โดยมีสาเหตุมาจากการปิดตัวและลดกำลังการผลิตของโรงงานในจีน

แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีผลบวก ในการช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ทว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจจะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก ที่ประสบปัญหาย่ำแย่อยู่แล้ว “เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมาก และคาดว่าจะชะลอตัวลงมากกว่านี้” หง เหลียง เศรษฐกรจากโกลด์แมน แซคส์ระบุ

นักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้จะลดลงจากยอด 11.4% ในปีที่แล้ว เหลือ 9-9.5% ทั้งนี้การคาดการณ์ดังกล่าวได้รับการยืนยันจากข้อมูลอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ที่ปรับตัวลดลงเหลือ 10.4%

แม้ตัวเลข 9% อาจจะดูว่าเป็นยอดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทว่าสำหรับจีนแล้วเศรษฐกิจที่โตเพียง 9% อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากทางการจีนต้องเผชิญกับปัญหาการสร้างงานให้กับประชากรนับล้านจากภาคชนบท ช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนที่โตอย่างร้อนแรงได้สร้างงานจำนวนมากให้กับแรงงานเหล่านี้ ดังนั้นภาวะเศรษกิจชะลอตัวจึงส่งผลกระทบในวงกว้าง

รัฐหวั่นชะลอ ออกมาตรการด่วน

ทางการจีนเองก็เริ่มเล็งเห็นแนวโน้มดังกล่าว และได้เริ่มออกมาตรการแก้ปัญหาอย่างทันควัน ในการประชุมของคณะกรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์หรือโปลิตปูโรเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ได้แถลงถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากการคุมเข้มเศรษฐกิจ เป็นการปล่อยให้เศรษฐกิจโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ขณะเดียวกันก็จะควบคุมอัตรเงินเฟ้อไปพร้อมกันด้วย

“เราต้องรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว สม่ำเสมอและมั่นคง พร้อมไปกับการคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเป้าหมายหลักสำหรับการปรับเศรษฐกิจมหภาค” ประธานาธิบดีจีนกล่าว

หลังจากงัดสารพัดมาตรการเพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดบรรดาผู้นำจีนได้เลิกการคุมเข้มบางมาตรการ เพื่อกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อาทิ หลังปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่ามานาน ทางธนาคารกลางจีนเริ่มเข้าแทรกแซงกดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงทีละเล็กละน้อย เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก นอกจากนี้ยังมีการปรับอัตราคืนภาษีสินค้าสิ่งทอเพิ่ม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทางการพยายามคุมเข้มอย่างมาก ในส่วนของภาคการเงินนั้นก็มีข่าวออกมาว่า ทางการได้เริ่มเคลื่อนไหวผ่อนปรนการคุมเข้มปล่อยสินเชื่อแล้ว

ทั้งนี้อุปสงค์จากสหรัฐฯและยุโรปที่ลดน้อยลง เนื่องจากเจอพิษเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจจีนพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย แม้แต่ท่าเรือที่ฮ่องกงซึ่งปกติจะคลาคล่ำไปด้วยคอนเทนเนอร์ จนแทบไม่มีที่ว่าง ก็เริ่มมีพื้นที่ว่างแล้ว เพราะปริมาณการส่งออกของจีนลดลง

การหดตัวของภาคส่งออกนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดในส่วนสินค้าขั้นต้นที่ไม่ผ่านกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน เช่น สิ่งทอ บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมในมณฑลภาคตะวันออกเฉียงใต้ แถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฉางเจียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่ง ก็ได้ลิ้มรสขมของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว
โรงงานผลิตกระเป๋าในตงก่วน มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) เจอพิษเศรษฐกิจทำยอดส่งออกลด - รอยเตอร์
ที่เมืองตงก่วน เมืองอุตสาหกรรมสำคัญของ มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) จิม เจียง ผู้จัดการฝ่ายขายของ บริษัทผลิตกระเป๋าเดินทาง “ ยูเนี่ยนแบ็ก” เผยว่า “ปีที่แล้วยอดส่งออกไปสหรัฐฯลดลง 20% เราต้องลดยอดสั่งสินค้าจากบรรดาซัพพลายเออร์ของเรา” เจียงกล่าว

อย่างไรก็ตามปัญหาที่ดูจะร้ายแรงที่สุดสำหรับเศรษฐกิจจีน คือการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง หลังจากพุ่งพรวดพราดมาหลายปี นักวิเคราะห์ระบุว่า “สัญญาณดังกล่าวอาจหมายถึงฟองสบู่ที่กำลังโป่งพองขึ้น” และปัญหานี้ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดในบริเวณเมืองชายฝั่งทางตอนใต้

หมินฮวา นายหน้าค้าที่ดินในเซินเจิ้นระบุว่า “เมื่อปีที่แล้วราคาที่พักย่านทำเลทองลดลง 10% ส่วนพื้นที่รอบนอก ราคาก็ลดลงกว่า 40% ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมมีลูกค้าเพียงไม่กี่ราย”

ทางภาคเหนือของจีนนั้นภาคการผลิตและส่งออกเมื่อเปรียบกับทางใต้แล้วค่อนข้างดีกว่ามาก ปริมาณการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ อาทิ ที่ท่าเรือเทียนจีน บรรยากาศยังคงคึกคัก อย่างไรก็ตามบางมณฑลอาทิ ซันตง และซันซีก็มีปัญหาในการผลิต เนื่องจากการขาดแคลนถ่านหินป้อนโรงไฟฟ้า ทำให้โรงงานต้องพลอยจำกัดชั่วโมงการทำงาน

แอนดี้ รอธแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน จากบริษัทซีแอลเอสเอ ฮ่องกง ระบุว่า ฤดูร้อนนี้มณฑลต่างๆของจีนรวมแล้วกว่าครึ่งมีปัญหาเรื่องไฟฟ้า อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะช่วยแก้ไขไม่ให้ปัญหานี้บานปลาย

ชะลอตัว แต่อย่ากังวลเกินเหตุ

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นในช่วงโอลิมปิกนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่ไม่ค่อยมีใครคาดหวังนัก ประชากรในปักกิ่งเองก็มีสัดส่วนเพียง 1% ของประชากรจีนทั้งประเทศ และผลผลิตทางเศรษฐกิจของปักกิ่งก็มีสัดส่วนน้อยกว่า 5% เมื่อนำไปเทียบกับผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งประเทศ ดังนั้นการจับจ่ายอย่างมโหฬารในช่วงมหกรรมโอลิมปิก จึงไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไรนัก การชะลอตัวทางเศรษฐกิจหลังโอลิมปิก กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนกังวล เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนก่อสร้างอภิมหาโครงการรองรับโอลิมปิกได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก ทว่าเมื่อโอลิมปิกปิดฉากลง ผู้คนต่างสงสัยว่า จะมีปัจจัยใดมากระตุ้นเศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งโต้ว่า กระแสวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนชะลอตัวนี้เป็นการตื่นตระหนกเกินไป แม้ปีนี้จีนจะประสบปัญหามากมาย โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก อาทิเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เมื่อเดือนพฤษภาคมก็ไม่ได้ฉุดเศรษฐกิจจีน ในทางตรงข้ามการลงทุนก่อสร้าง และการอัดฉีดงบประมาณฟื้นฟูหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวกลับช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำ

นอกจากนี้การลงทุนในเครือข่ายคมนาคมทั้งถนน, รถไฟ และท่าเรือในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มเกิดดอกออกผล กระตุ้นเศรษฐกิจจีน ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศก็ยังไหลเข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง เนื่องจากต่างชาติยังคงมั่นใจในเศรษฐกิจจีน

คริส วู้ดวาร์ด ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายจีน ของไรเดอร์ บริษัทโลจิสติกส์ซึ่งมักรับงานขนส่งชิ้นส่วนรถยนต์ระบุว่า “บริษัทอเมริกันยังคงขยายการผลิตในตลาดจีน และเน้นเจาะตลาดจีนมากขึ้น บริษัทหลายแห่งลงทุนไปมากทั้งด้านสิ่งก่อสร้างและการฝึกอบรมบุคลากร”
กำลังโหลดความคิดเห็น