xs
xsm
sm
md
lg

ชี้จีนเริ่ม “ปฏิรูปครั้งที่สาม” มุ่งภาคสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเมื่อปี พ.ศ. 2517 ประธานเหมา เจ๋อตง(ซ้าย) ผู้นำการปฏิวัติสร้างจีนใหม่ กำลังจับมือกับผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้สืบทอดการนำนาวารัฐจีนต่อจากประธานเหมา เติ้งได้รับสมญาเป็น “คนตัวเล็กผู้ถือหางเสือ” อยู่เบื้องหลังการปฏิรูปสร้างจีนยุคใหม่ แม้จีนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมหัศจรรย์ แต่ก็มีปัญหาที่เป็นผลข้างเคียงมากมาย โดยเฉพาะช่องว่างในสังคม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เฝ้ามองชาติอำนาจเอเชีย ชี้ในปีฉลอง ครบรอบ 30 ปีการปฏิรูปนี้ จีนกำลังเริ่มมุ่งปฏิรูปครั้งที่สาม ที่มุ่งไปที่ภาคสังคม-ไฟล์ภาพจากเอเอฟพี
เอเจนซี-จีนเตรียมการเฉลิมฉลองใหญ่ในเดือนธันวาคมนี้ ในวาระครบรอบ 30 ปี การดำเนินนโยบายปฏิรูป เปิดประเทศ ที่พาประเทศจีนสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมหัศจรรย์ บรรลุการสร้างอำนาจทางการทูต และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยที่มิได้ลดทอนอำนาจผูกขาดของพรรคคอมมิวนิสต์

นโยบายปฏิรูป เปิดประเทศ ที่ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิงเป็นหัวหอกการผลักดัน และประกาศเป็นแนวทางพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของสมัชชาคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ 11 เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2521 (1978) มีความหมายยิ่งอย่างต่อความเป็นความตายของประเทศจีน เพราะนโยบายดังกล่าว ได้เปลี่ยนแปลงมาตรฐานชีวิตของประชาชนอย่างถอนรากถอนโคน และกำลังพาจีนสู่ชาติอำนาจ ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง

นโยบายดังกล่าวได้กอบกู้ประเทศจีนจากความมืดมน ความอดอยาก การปะทะรุนแรงทางการเมืองที่เป็นผลจากการดำเนินนโยบายซ้ายจัดระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม 10 ปี ( พ.ศ. 2510-2519) ภายใต้การนำของประธานเหมา เจ๋อตง

จีนได้เริ่มการปฏิรูปใหม่ในเขตชนบทเป็นจุดแรก โดยการปฏิรูปที่ดินค่อยๆละลายระบบนารวม และยกเลิกระบบคอมมูน การพัฒนาแผ่ลามสู่เมืองอย่างรวดเร็ว

เติ้ง เสี่ยวผิงดำเนินนโยบายเปิดประเทศ โดยกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกในปีพ.ศ. 2523 (1980) บริเวณชายฝั่งภาคใต้ ในมณฑลกว่างตง ที่เมืองเซินเจิ้น, จูไห่, ซ่านโถว(ซัวเถา), และเซี่ยะเหมิน ในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งขณะนั้น มีแต่ท้องนา ฟาร์มหมู หมู่บ้านประมงเล็กๆ ที่ล้าหลัง

“จีนเริ่มต้นการปฏิรูปด้วยวิธีการที่ธรรมดาที่สุด ทำการทดลองเล็กๆ ทิ้งคัมภีร์ลัทธิต่างๆไปสิ้น” Jean-Francois Di Meglio รองประธานศูนย์เอเชีย (Asia Centre) ที่มีฐานอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พูดถึงการปฏิรูปในยุคแรกเริ่มของจีน

จากนั้น จีนซึ่งเป็นระบบวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง ก็เริ่มเรียนรู้กลไกระบบตลาด และค่อยๆเปิดประตูรับนักลงทุนต่างชาติ

พร้อมกันนั้น ผู้นำเติ้ง ได้ดำเนินนโยบาย “สี่ทันสมัย” พลิกโฉมหน้าภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม การวิจัย และการป้องกันประเทศ

ในปี พ.ศ. 2535 (1992) เติ้งได้เดินทางเยี่ยมชมผลงานการเปิดประเทศในภาคใต้ ประกาศแนวคิดครั้งสำคัญ แก่ชาวจีนทั้งหลายว่า ความร่ำรวย เป็น “เกียรติภูมิ” และพวกเขาสามารถสร้างความมั่งคั่งจากเศรษฐกิจระบบตลาดแบบสังคมนิยม

เติ้งได้หันหลังให้กับแนวคิดการสร้างความเสมอภาคแบบยุคพระศรีอาริย์ กล่าวว่า คนจำนวนหนึ่งจะต้องรวยก่อน โดยที่กลุ่มที่ไม่อาจรวยขึ้นมาได้ก่อนนั้น จะต้องอดทนรอ
ระฆังใหญ่ผูกโบว์แดงที่ตลาดหุ้นเซินเจิ้น ซึ่งกำลังเตรียมฉลอง 30 ปี การปฏิรูป เปิดประเทศ ที่ทำให้ตลาดแห่งนี้ได้เกิดบนแผ่นดินใหญ่ เข้าสู่เดือนธันวาคม บรรยากาศการเฉลิมฉลองรำลึกครบรอบ 30 ปีการปฏิรูป เปิดประเทศ เริ่มคึกคัก ทั้งนี้ จีนประกาศนโยบายปฏิรูป เปิดประเทศ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. พ.ศ. 2521 -เอเอฟพี
ระหว่าง 30 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ผลประโยชน์กระจายไปอย่างไม่เสมอภาค

“โดยรวมแล้ว ประชาชนจำนวนมากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นระหว่าง 30 ปี จีนได้เปิดโอกาสมหาศาลให้แก่การเลื่อนชั้นทางสังคม ขณะเดียวกัน ก็ขยายความไม่เสมอภาคทางสังคม” Jean-Louis Rocca นักวิจัยของมหาวิทยาลัยชิงหัวในปักกิ่ง กล่าว พร้อมชี้ว่าจุดเปลี่ยนที่แท้จริงของการปฏิรูปนั้น เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 เมื่อจีนปิดกิจการวิสาหกิจรัฐนับพันๆแห่ง และเปิดรับทุนต่างชาติอย่างแท้จริง

ประชาชนนับสิบล้านคนตกงาน ขณะที่กิจการเล็กๆเริ่มทำเงิน เมืองขนาดใหญ่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดหน้าฝนในชั่วเวลา 2-3 ปี ขณะที่โลกตกตะลึงกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน จากปี พ.ศ. 2521 จีดีพีต่อหัวประชากร เพิ่มเป็นสองเท่าในแต่ละช่วง 9 ปี และนับจากปี พ.ศ. 2523 (1990) อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็พุ่งสูงมากกว่าร้อยละ 10 ติดต่อกันถึง 10 ครั้ง ส่งให้จีนกลายเป็นชาติอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก

ด้านเวทีการทูต จีนก็ครองอำนาจใหญ่ในชุมชนระหว่างประเทศ และได้เข้าสู่องค์กรโลกอย่างองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ ในปี พ.ศ. 2544 (2001)

ขณะที่ด้านการเมือง จีนยังใช้ “กำปั้นเหล็ก” ในการตัดสินใหญ่ๆ และรักษาเสถียรภาพทางการเมือง พรรคอมมิวนิสต์ ซึ่งยังคงรักษาอำนาจเบ็ดเสร็จ มีความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการรักษาเสถียรภาพ ถึงขนาดนำกำลังเข้าปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างนองเลือด ในปี พ.ศ. 2532 (1989)

แต่ “ความมหัศจรรย์แห่งจีน” ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสังคมอย่างไม่หยุดยั้ง สร้างกระแสบริโภค กระแสการหย่าร้าง กระแสเดินทางไปต่างประเทศ กระแสแฟชั่นเสื้อผ้าฉูดฉาดหลากสี และกระแสกินอาหารตามร้านแมคโดนัลด์

ชนชั้นกลางผุดดาษดื่นตามเมืองต่างๆ จากนั้น ก็เกิดกลุ่มเศรษฐีใหม่ มหาเศรษฐีพันล้าน ท่ามกลางความยินดีของพรรคคอมมิวนิสต์

แต่ช่องว่างระหว่างเขตเมืองและชนบท ก็ขยายกว้างอย่างน่ากลัว คอรัปชั่นระบาด สิ่งแวดล้อมถูกสังเวยแก่การพัฒนา

ขณะที่พรรคฯไม่ได้ประกัน “ชามข้าวเหล็ก” แก่ประชาชนอีกต่อไป ทั้งการจ้างงานตลอดชีวิต สวัสดิการสังคม บ้าน และการศึกษา แรงงานอพยพนับสิบล้าน กลายเป็นทาสแห่งยุคสมัยใหม่

และขณะนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพากันคาดการณ์ถึงจุดเปลี่ยนใหญ่ครั้งที่สาม สำหรับประชาชนจีน 1,300 ล้านคน คลื่นปฏิรูปลูกใหม่จะมุ่งไปที่ภาคสังคม มุ่งเป้าไปที่ระบบบำนาญและสาธารณสุข

“ปี 2008 นี้ จีนจะเริ่มปฏิรูปครั้งที่สาม ไม่ว่าจะเกิดการชะลอตัวอย่างแรงแค่ไหนก็ตาม จีนก็ไม่อาจรั้งรอ ทุกอย่างที่เคยทุ่มไปที่การพัฒนาภายนอก จะหันกลับมาสู่ภายใน” Di Meglio



รูปจำลองหอไอเฟลเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ผงาดเหนือฟากฟ้าเมืองเซินเจิ้น เมืองเซินเจิ้นแห่งลุ่มแม่น้ำไข่มุก ชายฝั่งภาคใต้จีน เฟื่องฟูขึ้นจากนโนบายปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาดระหว่าง 30 ปีที่ผ่านมา จากการเป็นใจกลางเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก-เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น