xs
xsm
sm
md
lg

มังกรลั่นทดลองใช้“หยวน”ค้ากับอาเซียน หวังหนุนเงินจีนขึ้นแท่น“สกุลเงินสากล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลจีนเปิดทดลองใช้เงินสกุลหยวนทำการค้าระหว่างประเทศในเขตมณฑลกว่างตง เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำฉางเจียง รวมทั้ง เขตปกครองตนเองของชนชาติจ้วงกว่างซี และมณฑลยูนนาน
เอเจนซี่ – รัฐบาลจีนเตรียมเปิดทดลองใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหักชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศกับฮ่องกง มาเก๊า และ 10 ชาติอาเซียน ปูทางสู่การยกระดับหยวนให้เป็น “เงินสกุลสากล” และช่วยผู้ส่งออกจีนลดความเสี่ยงต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินด้วย

ในการประชุมคณะมุขมนตรีจีน ที่มีนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เป็นประธาน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 ธ.ค.) ได้มีการเปิดเผยว่า รัฐบาลจีนจะอนุญาตให้ทดลองใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหักชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศในเขตมณฑลกวางตุ้ง และเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำฉางเจียง (บริเวณนครเซี่ยงไฮ้,มณฑลเจียงซู และมณฑลเจ้อเจียง) เพื่อทำการค้ากับฮ่องกงและมาเก๊า และอีกเขตหนึ่ง คือ เขตปกครองตนเองของชนชาติจ้วงกว่างซี และมณฑลหยุนหนัน เพื่อทำการค้ากับประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

ซึ่งการเปิดทดลองใช้เงินหยวนในการทำการค้าระหว่างประเทศนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การยกระดับเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินสากลในระยะยาว และจะช่วยผู้ส่งออกจีนและคู่ค้าบรรเทาความเสี่ยงต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินด้วย ตามที่เจ้า ซีจวิน ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินแสดงทัศนะ

ด้าน ลู่ เจิ้งเหว่ย นักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ประจำเซี่ยงไฮ้ ให้ความเห็นว่า “การทดลองใช้เงินหยวนทำการค้าระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินสากล แต่ทั้งนี้ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับเริ่มต้น เพราะจีนยังต้องมีมาตรการอีกหลายอย่าง เพื่อช่วยให้เงินหยวนมีพัฒนาการ เช่น การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาห์สหรัฐฯ กับเงินหยวนให้มีเสถียรภาพ”

ทั้งนี้ในปี 2007 จีนมีปริมาณการค้ากับฮ่องกง มาเก๊า และ10 ชาติอาเซียน สูงถึง 403,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 20% ของปริมาณการค้าต่างประเทศทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินหยวนยังไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงการค้าระหว่างประเทศ ที่นิยมใช้เงินดอลลาห์สหรัฐฯ และเงินยูโร เนื่องจาก เงินหยวนไม่สามารถใช้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในบัญชีทุนของประเทศได้ ซึ่งหมายความว่า เงินทุนจากต่างชาติไม่สามารถไหลเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้นได้อย่างเสรี

ทั้งนี้ ในรอบหลายปีมานี้มีแรงกดดันมากขึ้น ให้รัฐบาลจีนสร้างเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินสากล แต่รัฐบาลจีนยังกังวลที่จะเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากเกรงว่าหากเปิดให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศได้อย่างเสรี จะทำให้เศรษฐกิจจีนเปราะบาง และได้รับผลกระทบหากเกิดความปั่นป่วนในภูมิภาคหรือโลก

เร่งภาคชนบทจับจ่ายซื้อของ

นอกจากแผนผลักดันเงินหยวนขึ้นแท่นสกุลเงินสากลแล้ว ในการประชุมครั้งนี้คณะมุขมนตรียังได้คลอดมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจอันเลวร้ายที่เริ่มส่งผลกระทบต่อจีนอย่างมาก

โดยในส่วนของการมาตรการเพื่อส่งเสริมการส่งออกนั้น รัฐบาลยังจะเพิ่มการคืนภาษีส่งออกให้กับธุรกิจหลากหลายประเภทมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักรกล และอิเล็คทรอนิกส์จะได้รับการคืนภาษีในอัตราพิเศษ นอกจากนี้ ทางการจีนยังจะจัดระบบให้กระบวนการศุลกากรมีความรวดเร็วมากขึ้น ด่านตรวจสินค้าจะทำงานแบบ 24 ชั่วโมง และจะลดค่าตรวจสอบสินค้าให้กับสินค้าเกษตร, สิ่งทอ และเสื้อผ้า

สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศนั้นมุ่งเป้าไปที่ภาคชนบท ที่มีประชากรมากกว่า 800 ล้านคน ทั้งนี้รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนชาวชนบทซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใต้โครงการ “เจียเตี้ยนเซี่ยเซียง” นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนการสร้างตลาด ศูนย์ค้าส่งสินค้าเกษตร และศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มเติมอีกด้วย โดยกระทรวงการคลังสนับสนุนงบประมาณพิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภาคบริการในชนบท

มาตรการกระตุ้นการบริโภค ยังจะสร้างช่องทางจับจ่ายใช้สอยใหม่ๆให้กับผู้บริโภค เช่น การใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยววันหยุด รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆมากขึ้น

สาเหตุจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าของจีน ประจำเดือนพฤศจิกายน ลดลง 2.2% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบเจ็ดปี ส่วนธนาคารโลก ก็ประมาณการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปีหน้าจะเติบโตแค่ 7.5% ต่ำที่สุด นับตั้งแต่ปี 1990 ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงต้องเปลี่ยนทิศทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาใช้การลงทุนจากภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อน

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ได้ออกมาตรการหลายครั้ง เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย การแจกคูปองเพื่อใช้แทนเงินสดในการจับจ่ายซื้อสินค้า การลดภาษีและค่าธรรมเนียมในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการอัดฉีดเงิน 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4 ล้านล้านหยวน ของรัฐบาลกลาง เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการทุ่มงบประมาณครั้งใหญ่ที่สุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น