xs
xsm
sm
md
lg

โจ๊ก...นมพันธุ์มังกร / อู่วัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนไปเมื่อครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาในยุคผู้นำเหมา เจ๋อตง และเติ้ง เสี่ยวผิง ช่วงนั้นนมยังไม่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนจีน เพิ่งจะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เองที่ผลิตภัณฑ์นมหลั่งไหลเข้าตีตลาดมังกรจากเสียงเรียกร้องของผู้บริโภคตะวันตกที่เข้ามาเหยียบจีนเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้าที่นมจะเข้ามา ชาวจีนเขามีเครื่องดื่มดั้งเดิมที่เชื่อกันว่าเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงอยู่แล้ว นอกจากจะมี ข้าวต้ม น้ำเต้าหู้ ก๋วยเตี๋ยวน้ำ และน้ำแกงแล้ว โจ๊กก็ขึ้นทำเนียบเป็นอาหารเพื่อสุขภาพด้วย....

โจ๊ก ในภาษาจีนเรียกว่า “粥” (โจว) หรือ “糜” (หมี) เป็นหนึ่งในเมนูอาหารชั้นนำในวัฒนธรรมการกินของจีน พบปรากฏอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์จีนย้อนไปเมื่อ 4,000 ปีก่อน โดยตัวอักษรจีนของคำว่า “โจ๊ก” นั้น พบครั้งแรกในบันทึก “โจวซู” (周书) ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ระบุว่า บรรพกษัตริย์สมัยบรรพกาล จักรพรรดิเหลือง (หวงตี้) เป็นผู้ริเริ่มนำธัญญพืชมาทำเป็นโจ๊ก

ชาวจีนเมื่อ 4,000 ปีก่อนนั้นถือว่าโจ๊กเป็นอาหารประเภทหนึ่ง เพิ่งจะมาเมื่อราว 2,500 ปีที่ผ่านมาที่โจ๊กมีบทบาทในฐานะยาด้วย โดยในบันทึกประวัติศาสตร์ 《史记》 ได้บันทึกไว้ว่าในสมัยฮั่นตะวันตกมีหมอชื่อดังนาม ฉุนอี๋ว์ อี้ ได้ต้ม “โจ๊กหั่วฉี” 《火齐粥》 รักษาอาการป่วยของฉีอ๋อง หรือย้อนไปก่อนหน้านั้นในตำรา 52 โรค 《五十二病方》 ยุคชุนชิว-จั้นกว๋อ มีบันทึกไว้ถึงวิธีการนำ “โจ๊กข้าวเขียว” 《青梁米粥》 มารักษาอาการบาดเจ็บจากงูกัด

นอกจากนี้ โจ๊กซึ่งเป็นอาหารที่พบได้ทั่วไปในประเทศจีน ในอดีตยังเคยเป็นตัวแทนของอำนาจและอิทธิพล ดังเช่นภายใต้การปกครองของฮ่องเต้ถังมู่จง ในสมัยราชวงศ์ถัง เนื่องจากไป๋ จีว์อี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่น ฮ่องเต้จึงได้พระราชทาน “โจ๊กฝางเฟิง” (防风粥) (ฝางเฟิง หรือ ห่วงฮวง เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งของจีน) ให้แก่เขาเป็นรางวัล เล่ากันว่าแม้เวลาจะผ่านไปถึง 7 วันแล้วแต่รสชาติความหอมหวานของโจ๊กก็ยังติดอยู่ที่ลิ้น นี่จึงนับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่หาได้ยากยิ่งในสมัยนั้น

หรือในราชวงศ์ซ่งหยวน กำหนดให้ทุกวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 ของทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ ทางราชสำนักจะมีธรรมเนียมมอบโจ๊กให้แก่บรรดาข้าราชบริพาร โดยสีสันของโจ๊กยิ่งมากเท่าไร ก็เท่ากับว่าขุนนางผู้นั้นยิ่งเป็นที่โปรดปรานและมีอำนาจบารมียิ่ง

สำหรับประเภทของโจ๊กนั้นก็มีด้วยกันหลายอย่าง ถ้าหากจะนับทั้งหมดทั่วประเทศแล้วก็คงมีราวๆ 1,000 ชนิด แต่หากแบ่งเป็นประเภทใหญ่ล่ะก็สามารถแบ่งได้กว่า 10 ประเภท เช่น โจ๊กข้าว, โจ๊กลูกเดือย, โจ๊กถั่ว, โจ๊กข้าวโพด, โจ๊กผัก, โจ๊กใส่เนื้อ, โจ๊กยา เป็นต้น และด้วยวิถีการกินอยู่ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ก็ส่งผลให้มีวิธีการรับประทานโจ๊กมีหลากหลายรูปแบบด้วยเช่นกัน

ในประวัติศาสตร์ของจีนมีคำพูดที่ว่า “อาหารก็คือยา” คนสมัยก่อนค่อนข้างพิธีพิถันกับการ “อาหารบำบัด” อย่างมาก และในจำนวนอาหารบำบัดทั้งหมด โจ๊กก็เป็นอาหารบำบัดที่พบเห็นมากที่สุด ในประวัติศาสตร์จีนมีผู้เชี่ยวชาญการแพทย์จำนวนมากที่ศึกษาค้นคว้าและปรุงโจ๊กออกมาหลากหลายชนิด แต่ละชนิดก็ให้ประโยชน์กับร่างกายแตกต่างกัน
โจ๊กล่าปา
อย่างเช่นโจ๊กข้าว บำรุงม้าม เคลือบกระเพาะ แก้กระหาย ส่วนโจ๊กลูกเดือยช่วยเสริมพลัง ช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับ พลังชี่ไม่เพียงพอ ส่วนโจ๊กประเภทอื่นอย่างเช่น โจ๊กถั่ว โจ๊กผัก โจ๊กเนื้อ ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพแตกต่างกัน นอกจากนี้โจ๊กยังดีต่อสุขภาพของหญิงที่เพิ่งคลอดบุตรด้วย

เห็นได้ว่าในเมืองหรูเกา มณฑลเจียงซู ซึ่งมีประชากรทั้งสิ้น 1,450,000 คน มีคนชราอายุ 100 ปีขึ้นไปประมาณ 172 คน และอายุ 90 ปีขึ้นไปมากกว่า 4,000 คน! ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับบริเวณนี้มีวัฒนธรรมการกินโจ๊กที่เหนียวแน่น ผู้สูงอายุ 100 ปีประมาณ 74% ทานโจ๊กทุกวันเช้าเย็น เพราะว่าการกินโจ๊กสามารถลดความร้อนในร่างกาย ยับยั้งไขมัน ช่วยลดปัญหาการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และเบาหวาน

นอกจากมีประโยชน์แล้ว โจ๊กยังเป็นเครื่องเซ่นและอาหารที่มีความเกี่ยวข้องทางศาสนาด้วย ดังเช่นโจ๊กล่าปา ซึ่งเป็นโจ๊กที่รับประทานกันในช่วงวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีตำนานเล่าว่าวันที่ 8 เดือน 12 เป็นวันตรัสรู้ของพระศากยมุนี หรือพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะทรงตรัสรู้ ทรงลองปฏิบัติทุกข์กิริยาวิธีต่างๆ มากมาย ทั้งอดข้าวจนร่างกายผ่ายผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก และตอนนั้นเองก็มีหญิงสาวเลี้ยงแพะคนหนึ่งได้นำข้าวต้มมาถวาย ทำให้พระองค์กลับมามีกำลังวังชาบำเพ็ญตบะต่อไป และในที่สุดก็ทรงตรัสรู้ในวันที่ 8 เดือน 12 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น บรรดาพุทธศาสนิกชนก็จะต้มโจ๊กกับถั่วชนิดต่างๆ เพื่อบูชาพระองค์นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น