“ไหม” เป็นเส้นใยโปรตีนธรรมชาติที่ได้มาจากหนอนไหมที่ชักใยออกมาพันรอบตัวขณะเป็นดักแด้ เส้นใยเหนียวๆ นี้มีความทนทานและมันวาว และเมื่อนำมาทอเป็นผืนก็จะได้ผืนผ้าที่มีความงดงามและใช้งานได้เป็นอย่างดี ประวัติศาสตร์ของผ้าไหมนั้นมีความเป็นมาที่ยาวนาน และมีความน่าสนใจไม่แพ้สิ่งประดิษฐ์อื่นใดในโลก
“จีน” ต้นกำเนิดผ้าไหม
ในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดของผ้าไหม มีการค้นพบหลักฐานต่างๆ ที่ยืนยันความเป็นแหล่งกำเนิดอยู่หลายชิ้นด้วยกัน โดยแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดที่พบหลักฐานวัฒนธรรมการเลี้ยงไหมและทอผ้าในประเทศจีนนั้น ก็คือที่เหอหมู่ตู้ อำเภอหยีเหยา มณฑลเจ้อเจียง บริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดยพบหลักฐานงาช้างแกะสลักเป็นตัวดักแด้ไหม รวมทั้งพบเข็มกระดูกและแวดินเผาสำหรับกรอไหม อายุประมาณ 7,000 ปี
อีกทั้งในเมืองซูโจว ซึ่งถือเป็นเมืองผ้าไหมของจีน ก็ได้พบหลักฐานวัฒนธรรมการทอผ้าที่เก่าแก่จากแหล่งโบราณคดี 3 แห่ง คือ ที่ภูเขาเฉ่าเสซาน ตำบลอุ๋ยถิง เขตหยวนชวี พบซากแผ่นสิ่งทออายุ 6,000 ปี แห่งที่สองที่ แหล่งโบราณคดีเฉียนซานย่าง หมู่บ้านไห่เนี่ยนหมู่ เมืองอู๋ซิง ชานเมืองทางใต้ของเมืองหูโจว เป็นแหล่งกำเนิดผ้าไหมเนื้อบางที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุ 4,800 ปี เป็นผ้าไหมทอลายขัดในตะกร้าไม้ไผ่ ส่วนแห่งที่สาม พบที่เหมยย่าน เมืองอู่เจียง พบเข็มที่ทำจากกระดูกสัตว์ ล้อของเครื่องทอผ้า และเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายทำจากเส้นไหม และตัวไหมเป็นจำนวนมาก อายุประมาณ 4,000 ปี
และในตำนานจีนนั้นก็มีกล่าวถึงผ้าไหมว่า ผู้ที่ค้นพบผ้าไหมนั้นคือมเหสีชีเลงสี เป็นมเหสีของจักรพรรดิเหลือง (หวงตี้) การค้นพบนั้นก็มาจากการที่ตัวดักแด้ไหมได้ตกลงไปในถ้วยน้ำชาในสวนนั่นเอง โดยพระนางเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงไหม นำใยไหมมาทอเป็นผ้าแพรใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม และมีการย้อมสีผ้าแพรไหมโดยการใช้ดอกไม้มาตำและคั้นเป็นน้ำเพื่อย้อมให้สีสดงดงาม
ต่อมาอีกหลายพันปีและหลายราชวงศ์ ก็มีการผลิตผ้าไหมตลอดมา โดยชนิดของผ้าไหมนั้นโดยหลักๆแล้วมีสามชนิดด้วยกัน ได้แก่ จวน (ผ้าไหมบาง) ฉี (ผ้าไหมปานกลาง) และ จิ่น (ผ้าไหมชนิดหนาที่มีลาย) การผลิตผ้าไหมแบบจิ่นนั้นต่อมาก็เป็นเหมือนหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์ผ้าไหมในจีน เพราะได้นำใยไหมมาผสมผสานกับวิจิตรศิลป์ ทำให้ผ้าไหมไม่เพียงแต่เป็นผ้าตัดชุดเครื่องแต่งกายที่ทรงคุณค่าเท่านั้น แต่ยังถือเป็นงานศิลปะด้วย
ผ้าไหมจากจีนยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกผ่าน “เส้นทางสายไหม” หรือเส้นทางที่ชาวจีนใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศตะวันตก ผ้าไหมก็ถือเป็นสินค้าหนึ่งที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ โดยผ้าไหมนั้นมีราคาแพงเทียบเท่ากับทองคำเลยทีเดียว ชาติตะวันตกหลายชาติจึงพยายามขโมยความลับเกี่ยวกับการเลี้ยงไหมของจีน จึงมีเรื่องเล่ากันว่า บาทหลวงชาวตะวันตกผู้หนึ่งได้ไปแอบเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไหม และได้เรียนรู้ว่าต้นหม่อนปลูกด้วยเมล็ด
ส่วนตัวไหมนั้นก็เกิดมาจากไข่ เมื่อได้รับความอบอุ่นเพียงพอแล้วก็จะเติบโตขึ้นเป็นหนอนไหมแล้วจึงเป็นดักแด้ แต่เมื่อบาทหลวงขโมยไข่หนอนไหมและเมล็ดหม่อนแล้วก็เกิดความสับสน กลับนำเมล็ดต้นหม่อนมาเก็บไว้บริเวณหน้าอกเพื่อให้ความอบอุ่น และนำไข่หนอนไหมไปปลูกลงดิน จึงไม่เกิดผลอะไรเลย
สำหรับคนที่สนใจอยากจะเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ผ้าไหมของประเทศจีน ที่เมืองหางโจว ก็มีพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมแห่งประเทศจีน ซึ่งมีเรื่องราวของไหมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันให้ได้ชมกัน เริ่มตั้งแต่การรู้จักกับตัวไหม และรังไหม และใบหม่อน รู้จักวงเวียนชีวิตของตัวไหม และยังได้ทราบตำนานที่มาของผ้าไหม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดพบในประเทศจีน
ที่น่าสนใจก็คือเส้นใยไหม อายุกว่า 4,800 ปี ที่ยังคงรักษาสภาพของเส้นใยไว้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้นก็ยังได้รู้เรื่องราวของเส้นทางสายไหม และชมผ้าไหมเก่าแก่งดงามอีกหลายผืนด้วยกัน หรือหากใครอยากเห็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งก็คือผ้าไหมแบบบางขนาด 1x2 ซม. ก็ต้องไปชมที่พิพิธภัณฑ์แห่งมณฑลเจ้อเจียง
“คนไท” รู้จักผ้าไหมเป็นพวกแรก
แม้หลักฐานประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ค้นพบจะบอกเราว่าผ้าไหมนั้นมีต้นกำเนิดจากประเทศจีน แต่ผู้ที่รู้จักและใช้ประโยชน์จากไหมจริงๆ แล้วนั้นคือคนไท
อาจารย์อรไท ผลดี ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งได้รับรางวัลเพชรสยาม ด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (อนุรักษ์ผ้าไทย) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มอบให้เพื่อประกาศเกียรติคุณบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และส่งเสริมผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ได้เสนอผลงานวิจัยเรื่อง “จากต้นกำเนิดผ้าไหมไท 7,000 ปี สู่วัฒนธรรมผ้าเผ่าไทในประเพณีแต่งงาน” โดยในเนื้อหานั้นแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ผู้ที่ค้นพบผ้าไหมเป็นคนแรกนั้น คือคนไทต่างหาก
ชนเผ่าไทนั้น เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สืบเชื้อสายมาจากมนุษย์ตะวันออก อันเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุราว 2,500,000 ปี พบหลักฐานที่หยวนโหว มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเขตเก่าแก่ที่สุดที่มีร่องรอยมนุษย์ดึกดำบรรพ์อาศัยอยู่สืบมาจนถึงยุคหินใหม่ เมื่อประมาณ 7,000 ปีมาแล้ว และพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากในยุคหินใหม่ คือเครื่องปั้นดินเผาแบบลายกด ขวานหินมีบ่า และขวานหินขัด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมไป่เยว่สมัยโบราณ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนชาติไท
และแม้ตำนานจีนจะกล่าวถึงผู้ที่ค้นพบผ้าไหมเป็นคนแรกว่าคือมเหสีชีเลงสี เป็นมเหสีของจักรพรรดิเหลือง (หวงตี้) แต่จักรพรรดิเหลืองเป็นจักรพรรดิจีนองค์แรกในยุคปรัมปรานั้น ยังไม่ใช่เชื้อสายพวกฮั่นซึ่งเป็นจีนแท้ โดยตามประวัติระบุว่า พระองค์เป็นบิดาของพระเจ้าเหา ซึ่งเป็นต้นตระกูลของชนเผ่าไท
และยังมีหลักฐานใหม่ที่สนับสนุนว่า ผ้าไหมเป็นภูมิปัญญาไท โดยปรากฏในนิตยสารภาพจีน ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ.2537 ระบุว่า ผ้าไหมมีแหล่งกำเนิดที่แคว้นเสฉวน ซึ่งเป็นแคว้นที่พวกเหล่า (ลาว) อยู่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ชนเผ่าจีนจะเข้ามาครอบครอง ดังนั้นการเลี้ยงไหมทอผ้าจึงเป็นภูมิปัญญาไท ไม่ใช่ของจีน
อีกทั้งหลักฐานที่สะท้อนภูมิปัญญาของบรรพชนเผ่าไทว่ามีความสามารถในการทอผ้าด้วยเทคโนโลยีระดับสูงมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก็คือการพบผ้าไหมอายุ 2,100 ปี ที่สุสานนางพระยาเผ่าไท ที่ตำบลหม่าหวังตุย นครฉางซา มณฑลหูหนาน โดยสิ่งที่พบคือผ้าไหมบาง ผ้าไหมโปร่ง ผ้าไหมยกดอกชนิดซับซ้อน ผ้าใยกัญชา ผ้าพิมพ์ดอก ผ้าไหมปักลวดลาย และผ้าไหมที่วาดลวดลายเป็นเรื่องราว
ศาสตราจารย์เตอเรียน เดอ ลา คูเปอรี ระบุว่าชนเผ่าไทนั้นมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในหุบเขาระหว่างแคว้นเสฉวน และแคว้นเชนซี (เซียมไซ) ตอนกลางประเทศจีน ระหว่างแม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำแยงซีเกียง
แต่ต่อมาก็โดนรุกไล่จากอาณาจักรต่างๆ จนต้องถอยร่นลงมาเรื่อยๆ และแบ่งออกเป็นสองสายด้วยกัน คือสายไทใหญ่ อพยพไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปทางลุ่มน้ำสาละวิน และต่อมาไทใหญ่ได้แตกเป็นสองพวก พวกหนึ่งไปทางทิศใต้เข้าสู่ดินแดนพม่า ตั้งแคว้นชาน มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองตะโก้ง (หรือท่ากุ้ง) ส่วนไทใหญ่อีกพวกอพยพไปในแคว้นอัสสัม อินเดียตอนเหนือ ได้แก่ พวกไทอาหม ไทคำตี่ ไทพาเก และไทหลวง
ทางด้านสายไทน้อยก็อพยพไปทางทิศใต้ทางลุ่มแม่น้ำโขงมาอยู่ที่มณฑลยูนนาน ตั้งอาณาจักรอ้ายลาว ชนชาติไทในยูนนานได้สร้างเมืองสำคัญหลายเมือง คือเมืองเชียงรุ้งในสิบสองปันนา เมืองเชียงตุงในพม่า เมืองเชียงแสนตามลำดับ และเมื่ออาณาจักรอ้ายลาวถูกทำลาย ชนชาติไทได้อพยพมาตั้งหลักแคว้นสิบสองจุไท ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย ตามลำดับ
ดังนั้น หากจะกล่าวว่าบรรพบุรุษของเราซึ่งเรียกว่าเป็นชนเผ่าไทนั้น เป็นผู้ที่รู้จักใช้ประโยชน์จากไหมเป็นพวกแรกจึงไม่ผิดจากความจริง อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของเราอีกด้วย
ชมผ้าไทในพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมผ้าเผ่าไท
การเลี้ยงไหมทอผ้าซึ่งสืบทอดกันมาในชนเผ่าไทนั้น ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมของชนเผ่าไทที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นมาจนปัจจุบันในรูปแบบของการแต่งกาย โดยแต่ละเผ่านั้นก็มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่า ซึ่งหากใครอยากจะเห็นเครื่องแต่งกายของชนเผ่าเหล่านี้ ก็ต้องมาชมที่สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร ที่จะมีทั้งเครื่องแต่งกายของชาวไทเหนือ (ไทยวน) ไทพวน ไทโซ่ง (ไททรงดำหรือลาวโซ่ง)ไทครั่ง ไทภาคกลาง ไทลาว (เวียงจันทน์และหลวงพระบาง) ภูไท (ผู้ไทย) ไทอีสาน ไทลื้อ ไทปาเก้ (พาเก) และไทถิ่นใต้ ซึ่งก็มีรายละเอียดและความงดงามแตกต่างกันไป
อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ทางสำนักพิพิธภัณฑ์ฯ ก็เพิ่งเปิด “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมผ้าเผ่าไทในประเพณีแต่งงาน” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่อลังการไปด้วยชุดแต่งงานอลังการของชนเผ่าไทต่างๆ ที่ได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ผ้าที่มีชื่อเสียงนำมาจัดแสดง เช่น พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงา พิพิธภัณฑ์คำปุน พิพิธภัณฑ์อูบคำ พิพิธภัณฑ์บ้านประนอม พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ พิพิธภัณฑ์ผ้าไทครั่ง กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองไททรงดำ กลุ่มทอผ้าไตลื้อ กลุ่มทอผ้าไทยวน กลุ่มแพรวาผู้ไทย กลุ่มทอผ้าบ้านทัพคล้าย กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี เป็นต้น
หากใครอยากเห็นเครื่องแต่งกายในวันแต่งงานอันงดงามและทรงคุณค่าเหล่านี้ ก็ขอเชิญมาชมได้ที่สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
*****************************