xs
xsm
sm
md
lg

รวยรินกลิ่นเหมาไถ-นารีแดง / อู่วัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาชนะใส่เหล้าทองสัมฤทธิ์สมัยโจวตะวันตก
ค.ศ.1915 ชาวจีนได้พาเหล้าเหมาไถ เหล่าเจี้ยว แล้วเหล้าเหลืองเส้าซิง อันเลื่องชื่อของประเทศ ไปร่วมจัดแสดงที่ปานามา แต่ด้วยรูปร่างภาชนะที่เรียบง่าย ไม่สะดุดตาสะดุดใจ ทำให้ไม่ค่อยได้รับการต้อนรับนัก แต่ในตอนนั้นเองก็มีชาวจีนหัวหมอแกล้งทำไหเหล้าตกแตก ทำให้กลิ่นหอมหวนของเหล้าจีนกำจายไปทั่วห้องจัดแสดงสินค้า ในที่สุดงานครั้งนี้เหล้าจีนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดเหล้ามาได้ถึง 4 เหรียญทองเลยทีเดียว

กำเนิดเมรัยมังกร

ในประวัติศาสตร์จีนมีเรื่องเล่าขานมากมายเกี่ยวกับต้นกำเนิดสุราจีน บ้างว่าจักรพรรดิเหลือง (หวงตี้) บ้างว่าอี๋ตี้ เป็นผู้รังสรรค์น้ำเมานี้ขึ้นมา แต่ตำนานที่เล่าลือกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวบ้านได้แก่เรื่อง “ตู้คังผลิตเหล้า” เล่ากันว่า ตู้คังเป็นหนุ่มเลี้ยงแพะสมัยราชวงศ์โจว (1100-771 ปีก่อนประวัติศาสตร์) วันหนึ่งระหว่างที่ต้อนแพะไปกินหญ้า เขาทำกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุโจ้กหล่นหาย หลังจากนั้นครึ่งเดือนเขาพบกระบอกใส่โจ้กลำนั้นอีก แต่โจ้กในกระบอกบัดนี้ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นเหล้ากลิ่นหอมกำจายไปเสียแล้ว

ตู้คังรู้สึกประหลาดใจกับสิ่งที่ค้นพบเป็นอย่างยิ่ง นับจากนั้นมาเขาก็เลิกเลี้ยงแพะ หันมาเปิดโรงกลั่นเหล้าและร้านเหล้าแทน ต่อมา “ตู้คัง” ก็กลายเป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของเหล้านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว หลักฐานของการมีอยู่ของสุรานั้นได้ปรากฏก่อนหน้าตำนานข้างต้นยาวนานนัก
ภาชนะใส่เหล้าทองสัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์ซาง
เหล้าเป็นเครื่องดื่มที่เกิดจากการหมักผลไม้หรือธัญพืช เหล้าไม่เพียงแต่เป็นผลผลิตจากน้ำมือมนุษย์ แต่ตามธรรมชาติก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ดังเช่น หากผลไม้สุกงอมตกลงมากองรวมกัน จะเกิดกระบวนการหมักตามธรรมชาติ และเกิดเป็นเหล้าขึ้น

ตั้งแต่ยุคสังคมกสิกรรมเป็นต้นมา มนุษย์ก็รู้จักวิธีหมักผลไม้ทำเหล้าแอลกอฮอล์ต่ำแล้ว นักโบราณคดีได้มีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะใส่เหล้าและผลิตเหล้ายุควัฒนธรรมต้าเวิ่นโข่วและหลงซัน (ปลายยุคหินใหม่) จำนวนไม่น้อย เป็นหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่าชาวจีนนั้นสามารถผลิตเหล้าแอลกอฮอล์ต่ำได้ตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนแล้ว

กระทั่งถึงสมัยราชวงศ์ซาง (1700-1100 ปีก่อนประวัติศาสตร์) และโจว (1100-771 ปีก่อนประวัติศาสตร์) ธุรกิจผลิตเหล้ากลายเป็นธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ชาวบ้านสามารถกลั่นเหล้าดีกรีต่ำได้หลายประเภท โดย “อักษรจารบนกระดูก” (甲骨文) ของสมัยซาง ซึ่งเป็นอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนได้ปรากฏอักษร “酒” (จิ่ว-เหล้า) แล้ว นอกจากนี้ยังค้นพบภาชนะใส่เหล้าทองสัมฤทธิ์มากมาย สะท้อนสภาพสังคมในสมัยนั้น

ชาวจีนสมัยราชวงศ์ซางนิยมดื่มเหล้า โดยเฉพาะนักปกครองในยุคหลังๆ ดื่มเหล้าถึงขั้นบ้าระห่ำเลยทีเดียว พวกเขาดื่มเหล้ากันตลอด ไม่สนใจบ้านเมือง คนยุคหลังจึงมีคำพูดว่า “ราชวงศ์ซางสิ้นเพราะสุรา”

นอกจากภาชนะใส่สุราแล้ว ยังมีการขุดพบเครื่องกลั่นเหล้า ซึ่งนับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์จีน เมื่อเหล้าผ่านการกลั่น ส่วนที่เป็นน้ำจะค่อยๆ ลดลง ดีกรีของเหล้าจะเพิ่มสูงขึ้น เหล้าที่ผ่านกระบวนการกลั่นแล้วจะกลายเป็นเหล้าดีกรีสูงที่เรียกว่า “เหล้าขาว” กว่าจะมีเหล้าขาวนั้นก็ล่วงเลยเข้าสู่ยุคราชวงศ์ซ่งแล้ว (ค.ศ.960-1127)
ภาพวาดหลี่ไป๋ จิบเหล้า ชมจันทร์
หลากประเภทเหล้าแดนมังกร

เหล้าเหลือง (黄酒) – เป็นเหล้าที่เก่าแก่มาก มีดีกรีต่ำ ใช้ข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบ ผ่านกระบวนการย่อยสลายจนกลายเป็นน้ำตาล หมัก และคั้นน้ำ หลังจากคั้นน้ำแล้วก็ต้องเก็บไว้หลายปีจึงนำออกมาลิ้มรส สีของเหล้าเป็นสีเหลือง ดีกรีเหล้าค่อนข้างต่ำ โดยทั่วไปอยู่ที่ระดับ 10-20% เหล้าเหลืองขึ้นชื่อของจีนได้แก่ เหล้าฮวาเตียว จอหงวนแดง และเจียฟั่น ของเส้าซิง

เหล้าขาว (白酒) – เป็นเหล้าที่ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศจีนก็ว่าได้ มีดีกรีที่สูงทั่วไปอยู่ที่ 40% ขึ้นไป หรืออาจสูงถึง 65% เหล้าขาวมีแป้งตะกอนเป็นวัตถุดิบ ไม่มีสี เหล้าขาวขึ้นชื่อได้แก่ เหล้าเหมาไถของกุ้ยโจว เหล่าเจี้ยว ของเสฉวน เฝินจิ่วในซันตง เป็นต้น

นอกจากเหล้าที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในประเทศจีนก็ยังมีน้ำเมาอื่นๆ อีกเช่น ไวน์ ยาดองเหล้า และเบียร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในประเทศจีน เหล้าสามารถพบได้ทุกที่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในวงการเมือง เศรษฐกิจ ศิลปะ การทหาร การแพทย์ ล้วนมีเงาของเหล้าแฝงอยู่

นักเลงกลอนสมัยก่อนใช้เหล้าดึงอารมณ์ความรู้สึกออกมาถ่ายทอดเป็นบทกลอนที่ไพเราะเสนาะหู ในยุคสามก๊ก โจโฉชื่นชมการร่ำสุรา และเคยแต่งคำกลอนเกี่ยวกับสุราไว้ว่า “หาทางดับทุกข์ มีเพียงตู้คัง” (ตู้คังในที่นี้หมายถึง “สุรา”) แม้แต่กวีเอกสมัยถัง หลี่ไป๋ ก็ยังชื่นชมการดื่มสุรา ถึงขนาดมีคนกล่าวว่า ในบทกวีของหลี่ไป๋สามารถได้กลิ่นหอมหวนของเหล้า

นอกจากนี้ ไม่ว่างานมงคล งานโศกเศร้า เหล้าล้วนเข้ามามีบทบาทในสังคมจีนอย่างแนบแน่น

มีคำกล่าวว่า “พบผู้รู้ใจ พันจอกยังน้อย” เวลาที่ชาวจีนเลี้ยงอาหารนั้น เจ้าภาพมักจะรินเหล้าให้แขกเต็มจอกเต็มแก้ว เติมเต็มแล้วเต็มอีก เพื่อเป็นเชิงให้แขกดื่มมากๆ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเหล้าจะอยู่คู่สังคมจีน รวมทั้งสังคมไทยมานานแล้วก็ตาม แต่ก็มิอาจปฏิเสธความจริงได้ว่า เหล้าเป็นเครื่องดื่มให้โทษ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ยิ่งหากดื่มจนเมามาย อาจเป็นโทษแก่ชีวิตตนเองและผู้อื่นได้ แม้แต่โกวเล้ง นักเขียนนิยายกำลังภายในชื่อดัง ผู้ได้สมญาว่า “ปีศาจสุรา” ยังเคยเขียนไว้ว่า “สุราไม่อาจคลี่คลายความคับแค้นของผู้ใดได้ แต่สามารถดลบันดาลให้ท่านหลอกตัวเองได้”…..ทางที่ดีเลี่ยงได้เป็นดี




เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น