เอเอฟพี-เรื่องอื้อฉาวนมปนเปื้อนเมลามีนในจีน ไม่มีวันเกิดขึ้นในยุคสมัยของผู้นำเหมา เจ๋อตง และเติ้ง เสี่ยวผิงแน่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์นมเพิ่งจะมีวันได้ขึ้นโต๊ะอาหารของชาวจีนในยุคที่จีนเริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอกเมื่อไม่กี่ 10 ปีมานี้
ชาวตะวันตกได้กลับมาเหยียบแผ่นดินจีนอีกครั้งเมื่อ 20 หรือ 30 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับเสียงเรียกร้องหาผลิตภัณฑ์นม ตอนนั้น พวกเขาเพียงได้ดื่มโยเกิร์ตจากหม้อหินที่แกะสลักตัวอักษรจีน ที่ยังหลงเหลืออยู่ในจีน
แต่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตก็เต็มไปด้วยกล่องกระดาษหรือกระป๋องบรรจุนมผง เครื่องดื่มประเภทนม โยเกิร์ต ไปถึงนมแบบเก่าของจีน
ปัจจุบัน ชาวจีนดื่มนมกันเป็นล่ำเป็นสัน สำนักสถิติแห่งชาติระบุตัวเลขเมื่อปีที่แล้วว่า ชาวจีนดื่มนมเฉลี่ยต่อคน เท่ากับ 26.7 กก. เทียบกับยุค 1980 ที่ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง สถาปนิกการปฏิรูป เปิดประเทศรับวัฒนธรรมต่างชาติ ตอนนั้น ชาวจีนดื่มนมเฉลี่ยต่อคน เท่ากับ 1.2 กก.
อย่างไรก็ตาม อัตราดื่มนมของชาวจีน ก็ยังจัดว่าน้อยกว่าถึง 10 เท่า เทียบกับการบริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย “นมเป็นรองเครื่องดื่มแบบประเพณี อย่างเช่น ข้ามต้ม โจ๊ก น้ำเต้าหู้ และก๋วยเตี๋ยวน้ำ” โหยว ซิ่วเจิน หญิงชาวจีนวัยปลดเกษียณที่จับจ่ายของที่ Wonderful Supermarket ในปักกิ่งกล่าว
เพิ่งจะในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ที่ชาวจีนตามเมืองใหญ่ๆเริ่มซื้อผลิตภัณฑ์นมกัน การซื้อนมเป็นลิตรๆ ยังเป็นการโชว์ความมั่งคั่ง หรูหราอีกด้วย และต่อมา กองทัพนมยี่ห้อต่างๆ อันรวมถึงเหล่ายักษ์ใหญ่ผู้ผลิตนม 3 ราย ที่มีเรื่องอื้อฉาวนมปนเปื้อน ก็ยาตราทัพเข้าตลาดเปิดศึกช่วงชิงผู้บริโภคกันอย่างดุเดือด ซูเปอร์สตาร์กีฬา และดาราภาพยนตร์ หน้าตาเปล่งปลั่งมีราศีสุขภาพแข็งแรง ชูกล่องนมกันเชิญชวนผู้บริโภค ร่วมดื่มนมตรา...ยี่ห้อ...
หลี่ จินเซี่ย หญิงชาวจีนวัยปลดเกษียณอีกผู้หนึ่งเล่า “เมื่อ 30 ปีที่แล้ว พวกผู้ใหญ่ไม่ดื่มนมกัน เนื่องจากไม่มีเงินเหลือเฟือสำหรับสิ่งของที่ไม่จำเป็น แต่ตอนนี้เราหันมาดื่มนมกันเพราะความสะดวก เพราะโฆษณาที่บอกว่าจะช่วยเพิ่มแคลเซียม และโปรตีน อีกทั้งยังย่อยง่ายอีกด้วย”
แม้ว่าระบบการย่อยอาหารของชาวจีนทั่วไป จะไม่ค่อยรับสารแล็คโทสในนม แต่ยอดขายนมก็พุ่งกระฉูด ที่ร้อยละ 128 เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา นมผงสำหรับทารก เพิ่มร้อยละ 185 จากตัวเลขของ Euromonitor International โดยอัตราเติบโตของยอดขายนมในจีน มาแรงที่สุดในช่วงปี 2002 และ 2004 ด้วยอัตราขยายตัวต่อปี มากกว่าร้อยละ 20 หยาง ฟ่าน เศรษฐกรประจำบริษัทวิจัยตลาดในเซี่ยงไฮ้ กล่าว พร้อมกับบอกว่าอุตสาหกรรมนมเติบโตอย่างไม่น่าเชื่อเช่นนี้ ก็เพราะแรงสนับสนุนของรัฐบาล
ในปี 2006 นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ประกาศว่า “ผมมีความฝันว่า ชาวจีนทุกๆคน โดยเฉพาะเด็กๆ จะสามารถดื่มนม 1 กก. ทุกวัน”
และ “เหมิ่งหนิว” ขาใหญ่แห่งอุตสาหกรรมนมแผ่นดินใหญ่ ก็กระโจนลงมาอยู่ใต้แสงสปอร์ตไลท์หน้าเวที ออกโครงการบริจาคนมแก่ประชาชนในเขตชนบทด้วยแรงหนุนจากหน่วยงานของรัฐบาล “ดื่มนมวันละลิตร ช่วยให้ชาวจีนแข็งแรงขึ้น”
จีนปิดตัวอยู่โดดเดี่ยวหลังม่านไม้ไผ่มาหลาย 10 ปี ภายใต้ธงนำค้อนเคียว ไม่แวะข้องวิถีทุนนิยม กระทั่งการเปิดประเทศได้ช่วยขับดันการบริโภคผลิตภัณฑ์นมพุ่งสูง “สื่อได้นำแนวคิดต่างประเทศมาสู่ครัวเรือนจีน ชาวจีนได้เห็นสินค้า และวิถีชีวิตของต่างชาติ โดยที่ยังไม่อาจเดินทางไปต่างประเทศ” การศึกษาผลิตภัณฑ์นมจีน ปี 2005 โดย มหาวิทยาลัย ไอโอวา ระบุ
กรณีอื้อฉาวนมผงปนเปื้อนเมลามีน ที่ได้สังหารทารกไปอย่างน้อย 4 คนแล้ว นั้น ยังเป็นเครื่องพิสูจน์อิทธิพลโฆษณาผลประโยชน์สุขภาพอย่างได้ผลสุดเสวี่ยง
ในเซี่ยงไฮ้ บรรดาแม่แม่ร้อยละ 50 เลี้ยงลูกด้วยนมผง ตี๋หมวยก็ไม่บริโภคข้าวต้มหรือน้ำเต้าหู้อีกแล้ว นมผงกลายเป็นของขวัญยอดนิยมสำหรับวันแรกเกิดของทารก
ขณะที่ คุณแม่ทั้งในเมืองใหญ่น้อย ไม่ว่าเขตตัวเมืองหรือชนบท ก็อาศัยนมผงเป็นหนทางปรับรูปร่างสู่สภาพเดิมหลังคลอดได้อย่างรวดเร็วกว่า สิ่งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างหนึ่งว่า วิกฤตขณะนี้ ดูจะไม่สะเทือนลัทธิบริโภคนมที่เพิ่มหยั่งรากในสังคมจีนมาไม่กี่ 10 ปีนี้.