xs
xsm
sm
md
lg

ทะยานสู่ฝันโอลิมปิก...เป่ยจิงดรีม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายสัญลักษณ์โอลิมปิกปักกิ่ง 2008ในสนามบินปักกิ่ง
ในที่สุด ประเทศจีนก็เดินมาจนถึงวันแห่งการเปิดม่านมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่รอคอยมานาน แต่ต้องยอมรับว่าแม้ในห้วงเวลา 30 ปีหลังเปิดประเทศจีนจะสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทว่าสำหรับบทบาทใหม่ล่าสุดกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 นี้จัดว่าเป็นงานที่โหดหินและท้าทายต่อพญามังกรไม่น้อย

ในโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 ทางมหาวิทยาลัยประชาชนจีน ได้รับการไหว้วานจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ให้จัดทำวิจัยว่าด้วยผลกระทบ ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆอย่างไรกับเมืองและประเทศที่เป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะกับประเทศจีนในขณะนี้ที่เริ่มก้าวสู่ความเป็นโลกาภิวัตน์ ความเป็นประเทศแห่งธุรกิจ เป็นนิติรัฐ ซึ่งได้เริ่มต้นดำเนินการวิจัยไปแล้วตั้งแต่ปี 2002 และมีกำหนดเสร็จสิ้นในปี 2010

เหยา หย่งหลิงเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ทำวิจัยด้านผลกระทบจากโอลิมปิก 2008 ระบุว่า “เมื่อ 7 ปีก่อน ขณะนั้นยังเป็นช่วงเวลาที่ระบบสาธารณูปโภคทุกด้านของปักกิ่งยังอ่อนแอ พวกเราต้องอาศัยพื้นฐานที่มีอยู่เพื่อพัฒนาและพุ่งไปสู่เป้าตามข้อเรียกร้องของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล” ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างจีน การต้องจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกด้วยมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วจึงนับว่าไม่ใช่เรื่องหมูๆเลยทีเดียว

เป็นที่รู้กันว่า ภายในช่วงเวลาสั้นๆเพียง 7 ปี ปักกิ่งได้บรรลุภารกิจในการสร้างสนามกีฬาแห่งต่างๆขึ้นมากมาย มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในมหานครที่เป็นเมืองหลวงแห่งนี้ถึง 51% ขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินขึ้นหลายสาย มีความพยายามย้ายอุตสาหกรรมหนักออกไปจากเขตเมือง เปลี่ยนให้รถโดยสารประจำทางและรถแท๊กซี่มาใช้ก๊าซธรรมชาติ การสร้างคลองขุดผันน้ำ เปลี่ยนความเคยชินปรับปรุงมารยาทที่ไม่ดีบางอย่างของประชากร ผลงานที่มากมายขนาดนี้ต่อให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่แน่ว่าจะสามารถจะทำให้ลุล่วงในระยะเวลาสั้นๆได้

“แม้ว่าคุณภาพทางด้านสิ่งแวดล้อมของปักกิ่งจะไม่อาจเทียบแฟรงก์เฟิร์ตหรือซิดนีย์ แต่ปักกิ่งก็ไม่ได้เลวร้ายกว่ากันจนเกินไปนัก อย่างน้อยที่สุดก็ยังสามารถเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)ได้” เหยาระบุ

จิน หยวนผู่ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโอลิมปิกของจีนระบุว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับคำที่ว่าจีนได้ทุ่มเทกำลังทั้งประเทศไปกับโอลิมปิก แต่อย่างน้อยผมเชื่อว่ารัฐบาลจีนได้ดำเนินงานและทุ่มเทผลักดันอย่างที่ยากจะเห็นรัฐบาลใดมาเทียบได้”

ความเชื่อมั่นที่มาพร้อมความเป็น “เจ้าภาพ”

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส ได้ตีพิมพ์ข้อความที่ระบุว่า “ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อการเป็นเจ้าภาพที่ดี สิ่งนี้ได้ทำให้ชาวจีนจำนวนมากมีความเชื่อมั่นในประเทศของตนมากขึ้น และถึงกับมองว่าโอลิมปิกครั้งนี้คือโอกาสที่ใช้เปิดม่านเข้าสู่เวทีโลกอย่างเต็มตัวของจีน”

ความเชื่อมั่นในทำนองเดียวกันนี้ยังปรากฏให้เห็นได้อีกมากมายหลายมุม อย่างเช่นในช่วงที่การวิ่งคบเพลิงของจีนกำลังประสบกับอุปสรรค แล้วมีนักข่าวไปถามรองประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิงที่กำลังไปเยือนประเทศกาตาร์ว่ารู้สึกอย่างไร สีได้ตอบไปด้วยความมั่นใจว่า “ต่ออุปสรรคเหล่านี้ เราควรมองด้วยจิตใจที่เป็นปกติ เพราะสิ่งที่สำคัญคือเราต้องทำสิ่งที่ควรทำให้ดีที่สุด” นอกจากนั้นสี ยังได้ทำการเปรียบเทียบเรื่องดังกล่าวว่า “ในกรงแห่งหนึ่งที่มีนกหลากหลายประเภท หากเราไล่ตัวที่ร้องโหวกเหวกเสียงดังออกไป เช่นนี้ในกรงแห่งนี้คงจะไม่คึกคักแน่” และท่าทีดังกล่าวของสีได้ถูกมองจากสื่อในสหรัฐว่า “มุมมองต่อเรื่องเสียงรบกวนของของสี จิ้นผิงสอดรับกับท่าทีของรัฐบาลจีนในขณะนี้”

หรืออีกด้านที่สะท้อนให้เห็นผ่านท่าทีของชาวจีนที่มีต่อคอลัมน์หนึ่งของเดอะ ไทมส์ในอังกฤษ ที่ได้ตีพิมพ์ว่า “หลิว เสียงกำลังแบกความหวังของคนชนชาติหนึ่งเอาไว้ และหากเขาล้มเหลวในโอลิมปิก ก็จะกลายเป็นฝันอันเลวร้าย” หลังบทความนี้ออกมา ได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างมากในอินเทอร์เน็ต โดยคนส่วนใหญ่ระบุว่าแพ้ชนะเป็นเรื่องปกติของการแข่งขัน และพร้อมเป็นกำลังใจให้กับหลิว เสียง โดยขอให้หลิว เสียงไม่ต้องกดดัน มองมันเป็นแค่การแข่งขันกีฬาอย่างหนึ่งก็พอ”
เหรียญรางวัลในโอลิมปิกปักกิ่งที่มีการใช้หยกเป็นส่วนประกอบ
ก้าวไปด้วยจุดเด่นของตน

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก นอกจากจะเป็นเวทีแล้ว ยังจัดว่าเป็นกระจกที่จะสะท้อนลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมและระบบการปกครองของจีนให้ปรากฏอีกด้วย

อย่างเช่นในครั้งนี้ที่จีนได้นำหยก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนประกอบในเหรียญรางวัล โดยทางการมณฑลชิงไห่ได้นำหยกคุนลุ้นสีขาวและเขียวมามอบให้กับคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิก เพื่อเอาไปผลิตเหรียญรางวัล ซึ่งได้บริษัทเอกชนอย่างบีเอชพี บิลลิตันรับหน้าเสื่อในการออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิกและพาราลิมปิก ทำให้เหรียญรางวัลในปีนี้ นอกจากมีอารมณ์ความเข้มแข็งจากโลหะแล้ว ยังมีอารมณ์ของความอ่อนโยน กลิ่นอายวัฒนธรรมและความเป็นมงคลจากหยกของจีนประกอบเข้าไปด้วย

จาง จี๋หลงผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาของคณะกรรมการโอลิมปิกปักกิ่ง ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ว่า “พวกเราอยากฝากมรดกสำหรับชาวจีนไว้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ อย่างน้อยก็อยากให้เป็นการสร้างนักกีฬาและบุคลากรให้กับประเทศ”

ในขณะที่จาง เจิ้นเหลียงรองผู้อำนวยการฝ่ายอาสาสมัครได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เนื้อแท้ของโอลิมปิกก็คือการศึกษาเรียนรู้ จะต้องรู้จักใช้โอกาสที่จัดมหกรรมกีฬาเช่นนี้ ในการที่จะสร้างการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพของประชาชน”

“ผมหวังว่าหลังจากจบโอลิมปิกแล้ว พวกเราจะสามารถยกระดับคุณภาพและความสามารถของประชากรให้ดีขึ้น อาศัยโอลิมปิกในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ นำพาชาวจีนไปสู่อารยธรรมและการเปิดกว้างที่ดีขึ้น” จางระบุ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโอลิมปิกในครั้งนี้จะเป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาดหวังมากน้อยเพียงใด และไม่ว่าผลสรุปสุดท้ายในรายงานของมหาวิทยาลัยประชาชนจีนปี 2010 จะออกมาในรูปแบบไหน อย่างน้อยที่สุดหากวันนี้เราได้กลับมาเหยียบที่ปักกิ่งอีกครั้ง สิ่งที่หลายคนจะสัมผัสได้ก็คือ โอลิมปิก...ได้ทำให้ปักกิ่ง “ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”




แปลและเรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์หนันฟัง โจวม่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น