xs
xsm
sm
md
lg

เผยปัญหาสิทธิมนุษยชนจีน “ก้าวหน้า” แบบ “จำกัด”

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์

ผู้พิการในปักกิ่งร่ายรำอย่างสนุกสนาน ทั้งนี้การต่อสู้เรียกร้องขององค์กรต่างๆภายใต้สภาพการณ์ที่รัฐผ่อนปรนมากขึ้น ทำให้สิทธิของผู้พิการได้รับการเหลียวแลจากรัฐ - เอเยนซี
เอเยนซี – นิวยอร์ค ไทมส์เผยสิทธิมนุษยชนจีนก้าวหน้า แต่ยังมีข้อจำกัดอีกมาก ระบุการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้รัฐต้องผ่อนปรนมากขึ้น

ระหว่างมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ข่าวคราวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจีนในด้านลบถูกขุดคุ้ย ตีแผ่อย่างมาก ทว่าหากพิจารณาในภาพรวมแล้ว นับว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจีนมีความก้าวหน้ากว่าก่อน แม้ปัจจุบันรัฐบาลอาจจะคุมเข้มอยู่บ้าง

ถึงประชาชนจะยังถูกจำกัดมิให้รวมตัว แสดงความเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย, ชาวทิเบตและอุยกูร์ในซินเจียงถูกรัฐควบคุมอย่างเข้มงวด แถมการตัดสินใจทางการเมือง ก็ตกอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์แต่ผู้เดียว ทว่าหากพิจารณาจากภาพรวมแล้ว ชาวจีนในยุคนี้ค่อนข้างมีเสรีภาพพอตัว

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลก็ได้รับการสนับสนุนคุ้มครองจากรัฐมากกว่าเดิม นอกจากนี้ผู้คนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อาทิ อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ แม้ว่าการเข้าถึงขั้อมูลนั้นจะถูกจำกัดอยู่บ้าง แต่ก็นับว่าดีกว่าเมื่อก่อนที่ถูกปิดหูปิดตา

“บางคนอาจบอกคุณว่ารัฐมีบทบาทควบคุม จำกัดสิทธิเสรีภาพมาก ขณะที่บางคนอาจบอกคุณว่าเดี๋ยวนี้เรามีสิทธิเสรีภาพขึ้นเยอะ ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง” นิโคลาส เบ็กลิน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนของฮิวแมน ไรทส์ วอทซ์กล่าว

ชาวจีนที่อาจหาญท้าอำนาจรัฐเผยว่า เดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่รัฐมีน้ำอดน้ำทนน้อยกว่าช่วงปี 1980 ปัจจุบันการชุมนุมในบางกรณีอาทิ การชุมนุมเรียกร้องสิทธิทางกฎหมาย และการต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม มักถูกปราบปรามอย่างรุนแรง เนื่องจากถูกมองว่าท้าทายอำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งดูเหมือนว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนลดลงไปมาก เนื่องจากรัฐไม่ได้เข้ามาควบคุมความคิดทางการเมือง และชีวิตส่วนตัวของประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จรอบด้านเหมือนแต่ก่อน ทำให้การชุมนุมเรียกร้องต่างๆลดลง

องค์การนิรโทษกรรมสากลรายงานว่า ในช่วงใกล้เปิดม่านมหกรรมกีฬาโอลิมปิก สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจีนย่ำแย่ลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามข้อมูลจากอีกแหล่งหนึ่ง กลับขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างขององค์การนิรโทษกรรมสากล ผลสำรวจทัศนคติของชาวจีนโดยโครงการ พิว โกลบอล แอดติจูด ซึ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วระบุว่า “ชาวจีนกว่า 86% พอใจกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่” เมื่อนำตัวเลขนี้ไปเทียบกับชาวอเมริกันพบว่า “มีชาวอเมริกันเพียง 23% เท่านั้น ที่พอใจสภาพการณ์ในสหรัฐอเมริกา”

ความเปลี่ยนแปลงในจีนเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วจนส่งผลให้สังคมมีพลวัต เคลื่อนไหวตามไปด้วย ความร่ำรวยที่กระจายไปยังคนกลุ่มต่างๆทำให้พวกเขาเริ่มมีอำนาจต่อรอง นำมาซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน

ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ การกร่อนสลายของระบบ “ฮู่โค่ว” (ระบบทะเบียนประชากร ที่ผูกมัดมิให้ประชากรย้ายถิ่นจากภูมิลำเนาเดิม) ที่ทำให้ผู้คนมีเสรีภาพในการเดินทาง, ท่องเที่ยว และย้ายถิ่นฐานมากขึ้น

แม้รัฐมิได้ยกเลิกระบบฮู่โค่วอย่างเป็นทางการ แต่ปัจจุบันระบบดังกล่าวก็แทบไม่เหลือความศักดิ์สิทธิ์แล้ว การขยายตัวของเศรษฐกิจเมืองมณฑลชายฝั่งทะเลตะวันออก ทำให้เกิดความต้องการแรงงานมหาศาล ส่งผลให้ประชากรที่ยากจนอพยพสู่เมืองใหญ่เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
ปัจจุบันซ่ง ต้าชิง แรงงานอพยพจากมณฑลซื่อชวน ประกอบอาชีพขายผักอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ชีวิตของเขาดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก หลังรัฐผ่อนปรนให้แรงงานอพยพสามารถอยู่อาศัยและทำงานในเมืองอื่นๆได้ - เอเยนซี
เมื่อทุนอาละวาดสะเทือนอำนาจ

การควบคุมสิทธิเสรีภาพของมวลชนด้วยกฎระเบียบ ที่ครั้งหนึ่งศักดิ์สิทธิ์ราวพระบัญชาของจักรพรรดิ ได้ถูกลดทอนสถานะลงเหลือเพียงข้อความที่จารึกอยู่บนแผ่นกระดาษเท่านั้น “พัฒนาการของเศรษฐกิจจีนขึ้นอยู่กับการหลั่งไหลของแรงงานราคาถูกจากภาคชนบท ประเทศของเราต้องอาศัยพวกเขา” เหวย เหว่ย ผู้ก่อตั้งองค์กรลิตเติ้ล เบิร์ด ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานอพยพกล่าว

ทั้งนี้การปรากฏตัวขององค์กรเอ็นจีโออย่างลิตเติ้ล เบิร์ดก็สะท้อนถึงการปฏิรูปและเปิดกว้างของจีน ปัจจุบันเอ็นจีโอในจีนมีอยู่อย่างมากมายครอบคลุมปัญหาทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม ถึงแม้รัฐบาลจะขีดเส้นจำกัดบทบาทขององค์กรเหล่านี้ แต่การที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ซึ่งครั้งหนึ่งเผด็จอำนาจ ผูกขาดการจัดการทุกอย่าง ยอมเปิดทางให้มีองค์กรเอ็นจีโอขึ้นก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า “รัฐเปิดใจรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนมากขึ้น” เมื่อปี 2004 องค์กรต่างๆได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิของคนพิการ กระทั่งรัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องบางประการในปีนี้

ในส่วนของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น แม้ว่าสื่อจะถูกปิดกั้น และบางทีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐก็ถูกจับกุม ทว่าข้อความวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิรัฐบาลก็สามารถพบเห็นได้บนอินเตอร์เน็ต

เทคโนโลยีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายไปทั่ว ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงสิทธิที่พวกเขาควรได้รับ ทั้งนี้ประชาชนในเซี่ยงไฮ้และฉงชิ่งได้อาศัยเทคโนโลยีการสื่อสาร ต่อต้านการเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขา กระทั่งประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ในบางพื้นที่การแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสาร ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นเหยื่อของการตรวจสอบเสียเอง

อย่างไรก็ตาม สิทธิและเสรีภาพของชาวจีนก็ยังถูกจำกัดโดยรัฐ ที่กำหนดว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง ในขอบเขตแค่ไหน โดยเฉพาะในช่วงใกล้มหกรรมกีฬาโอลิมปิกนี้ รัฐบาลได้กลับมาควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ได้เข้าประจำพื้นที่ชุมนุมในปักกิ่ง ที่ประชาชนจากทั่วประเทศมักเดินทางมาชุมนุมร้องเรียนเกี่ยวกับความอยุติธรรมที่พวกต้องเผชิญ

นอกจากนี้นิตยสารฟีนิกส์จากฝั่งฮ่องกงยังรายงานว่า รัฐบาลได้จ้างอันธพาลให้ข่มขู่ หรือลักพาตัวผู้ที่เดินทางมาชุมนุมร้องเรียน นักวิเคราะห์ระบุว่า “การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ในทางอ้อมรัฐบาลก็ตระหนักถึงพลังของการชุมนุม”

เจียง ฉีเซิง อดีตนักโทษการเมือง และผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์เทียนอันเหมินแสดงทัศนะว่า “ปัจจุบันสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎี เมื่อก่อนประชาชนร้องเรียนเรื่องความอยุติธรรม แต่พวกเขาไม่ได้มุ่งปกป้องสิทธิด้วยลำแข้งของตนเอง พวกเขามาร้องเรียนแล้วก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่ตอนนี้พวกเขาชุมนุมเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ”

ทั้งนี้ก่อนที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มขึ้น ทางรัฐบาลได้ฉวยโอกาสจับกุมบรรดานักรณรงค์ตัวฉกาจอาทิ หู เจีย นักรณรงค์ชื่อดัง พร้อมกันนี้ยังมีรายงานข่าวว่า นักรณรงค์และชนกลุ่มน้อยชนชาติทิเบตกับอุยกูร์ยังถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
การจลาจลที่อำเภอเวิ่งอัน มณฑลกุ้ยโจว - เอเยนซี
สื่อตัวกลางแผ่สำนึกทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปมาก ทำให้ประชาชนสามารถต้านทานอำนาจ และพลิกกลับกลายเป็นผู้จับตาสอดส่องรัฐ ณ เมืองกุ้ยโจว ปลายเดือนมิถุนายนการเสียชีวิตอย่างลึกลับของเด็กสาวและลุงของเธอ ทำให้ชาวบ้านลือกันไปทั่วว่าตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้อง กระทั่งเกิดการประท้วงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนใหม่ จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นจลาจลเผาโรงพัก

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพยายามปิดข่าวการประท้วงที่กลายเป็นการจลาจล โดยแถลงว่าเหตุการณ์จบลงอย่างสงบ ปราศจากความรุนแรง ทว่ามือดีรายหนึ่งได้แอบนำภาพเหตุการณ์ที่ตำรวจยิงกระสุนยาง และใช้กระบองไล่ฟาดประชาชนใส่ไว้ในเวบไซต์ YouTube.com กระทั่งข่าวฉาวนี้กลายเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป

ซุน จิงผิง บรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในปักกิ่งกล่าวว่า “สื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับแต่ทศวรรษ 1980 ถ้าเป็นเมื่อก่อนเหตุการณ์จลาจลในกุ้ยโจวคงเงียบหายไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น”

เหอ เว่ยฟาง ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งระบุว่า “ข่าวสารเกี่ยวกับต่างประเทศทำให้ผู้คนมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1979 จีนแทบไม่ต่างอะไรจากเกาหลีเหนือ ชาวจีนต่างเชื่อว่าตนเองเป็นชาติที่ดีที่สุดในโลก แต่วันนี้แม้แต่ชาวนาชนบทยังมีโทรทัศน์ดาวเทียมใช้ และเมื่อพวกเขาได้เห็นข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาทิในปากีสถานที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน พวกเขาก็เริ่มสงสัยว่า ทั้งที่สภาพเศรษฐกิจของจีนกับประเทศอื่นก็ใกล้เคียงกัน แต่ทำไมเราถึงไม่สามารถเลือกผู้นำได้ด้วยตนเอง แม้แต่ผู้นำท้องถิ่นระดับอำเภอยังเลือกไม่ได้เลย ผมคิดว่าสำนึกทางการเมืองได้แผ่ขยายไปมาก”

แม้แต่ระบบตุลาการของจีนซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้กุมอำนาจยังถูกสั่นสะเทือนด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงข้างต้น ปัจจุบันจีนมีผู้ประกอบอาชีพทนายทั้งสิ้น 165,000 คน เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปี 1990 ผู้ที่พอมีรายได้ก็มักจ้างทนาย ทำการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ บางครั้งศาลก็พิพากษาให้ความคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และผลประโยชน์ทางธุรกิจของประชาชน แม้ว่าคู่ความฝ่ายตรงข้ามจะมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงของระบบตุลาการค่อนข้างเป็นไปอย่างช้าๆ โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับคดีอาญา เหยียน หรูอี้ว์ อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจปักกิ่ง ซึ่งผันตัวมาเป็นทนายหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินกล่าวว่า “ไม่มีใครคิดจะฟ้องรัฐในกรณีเทียนอันเหมินหรอก ฟ้องไปก็แพ้ ระบบกฎหมายและศาลจีนมีพัฒนาการที่ดี แต่ก็เป็นพัฒนาการที่ช้าเหลือเกิน การมีคณะผู้พิพากษาที่มีอิสระจากอำนาจพรรคเป็นเรื่องที่ต้องหวังกันอีกยาว”

อย่างไรก็ตามเหยียนระบุว่า “การที่รัฐมีอำนาจควบคุมเหนือศาล ทำให้คนส่วนมากมองว่า การตัดสินคดีอาญาเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ดังนั้นเราจึงมีโอกาสและกำลังใจที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น