ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง ทุ่มงบประมาณนับพันล้าน เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยง เพื่อยกระดับเป็น Transhipment Port โดยเร่งพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งแห่งใหม่ เชื่อมภาคใต้ พัฒนาโครงสร้างระบบพื้นฐาน พร้อมเร่งศึกษาโครงการท่าเรือเฟส 3 ที่จะเปิดใช้ได้ปี 2558 และก่อสร้างรถไฟรางคู่ ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง คาดปี 2556 ตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่าจะมีมากถึง 10.8 ล้านทีอียู
เมื่อเร็วๆ นี้ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) จังหวัดชลบุรี ได้จัดทำข้อมูลแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาระบบการขนส่งที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่หรือสนับสนุนท่าเรือแหลมฉบัง ในปีงบประมาณ 2551-2554 เพื่อเสนอต่อบอร์ดการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยพบว่า มีแผนพัฒนาที่สำคัญหลายรูปแบบ ที่ส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางน้ำและระบบราง เพื่อยกระดับศักยภาพการเป็น Transhipment Port ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้งบประมาณดำเนินการหลายพันล้านบาท
สำหรับโครงการพัฒนาที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย
1.โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ในปี 2553 และส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรถไฟให้มากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายที่การรองรับขบวนรถไฟที่จะเข้า-ออกท่าเรือแหลมฉบังมากถึง 70 ขบวนต่อวันและคาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2554
2.โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งแห่งใหม่ (ท่า A) ให้เป็นท่าสำหรับขนส่งสินค้าภายในประเทศ ทางน้ำจากภาคกลางมายังท่าเรือแหลมฉบังและภาคใต้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าทางถนน โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทางลำน้ำ และคาดว่าโครงการนี้จะใช้งบประมาณจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2554 นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนในโครงการพื้นฐานที่จำเป็น ประกอบด้วย การขุดลอกแอ่งจอดเรือ ก่อสร้างท่าเทียบเรือ อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และยังลงทุนด้านเครื่องมือต่างๆ อีกไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
3.จ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยโครงการนี้จะดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555-2557 และจะแล้วเสร็จในปี 2558 ขณะที่ในปี 2556 โครงการก่อสร้างต่างๆของท่าเรือแหลมฉบังในเฟสที่ 2 จะแล้วเสร็จทั้งหมด จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปีดังกล่าวท่าเรือแหลมฉบังจะมีจำนวนตู้สินค้ามากถึง 10.8 ล้านทีอียู
4.งานปรับปรุงสิ่งก่อสร้างและออกแบบพร้อมจัดหาระบบการควบคุมจราจร และความปลอดภัยทางทะเล ระยะที่ 1 ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นแรงจูงใจให้เรือสินค้าต่างๆ หันมาใช้บริการของท่าเรือแหลมฉบังมากยิ่งขึ้น
5.การก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าทางรถไฟลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าโดยรวม
6.ออกแบบทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสินค้า-แก่งคอย เพื่อเพิ่มความจุของทางรถไฟของการขนส่งทางรถไฟที่เชื่อมโยงจากภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มายังพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกสู่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
7.โครงการศึกษา พัฒนา ปรับปรุงบูรณะโครงข่ายและอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เพื่อกำหนดให้ได้มาตรฐานครอบคลุมทั้งจังหวัด
8.โครงการศึกษาและพัฒนาการจัดระบบโครงข่ายสายทาง เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าในจังหวัดชลบุรี ศึกษาแนวทางในการพัฒนาโครงข่ายสายทาง ทั้งที่อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงชนบทและอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อรองรับการขยายตัวในการขนส่งสินค้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง
9.โครงการก่อสร้างถนนสนับสนุนยุทธศาสตร์ Logistics สามแยกท่าเรือแหลมฉบัง ทางหลวง 7 เพื่อสนับสนุนท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นท่าเรืออันดับที่ 16 ของโลก